สืบเนื่องจากคอลเซ็นเตอร์มีการแพร่ระบาดอย่างหนักในประเทศไทย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. ได้ให้ ความสำคัญกับการปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์เป็นอันดับหนึ่งโดยได้ใช้มาตรการทุกมิติ จนเรียกได้ว่าเป็นการทำ สงครามกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยที่ผ่านมามีการหารือและทำ MOU ในการแก้ไขปัญหาแก็งคอลเซ็นเตอร์ และอาชญากรรมาทางไซเบอร์ แบบทวิภาคีระหว่างรัฐบาลไทย ทั้งนี้มีแก็งคอลเซ็นเตอร์ที่ใช้แผนประทุษกรรมหลอกลวงเป็นพนักงานขนส่งบริษัทเอกชน “fedex” เรื่องพัสดุผิดกฎหมาย และหลอกเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ “สภ.เมืองเชียงราย” มีที่ตั้งอยู่ที่ ตึกประตูดำ 8 ชั้น ซ.วัดตาด เมืองปอยเปต ประเทศกัมพูชา หรือที่เรียกกันว่า “ตึกประตูดำ” ซึ่งต่อมา ศปอส.ตร. (PCT) ชุดที่ 5 ได้สืบสวนขบวนการนี้เก็บข้อมูลบุคคลภายในตึกเป็นเวลากว่า 6 เดือน พบว่าเมื่อวันที่ 22 ก.ค. 65 ได้มีผู้เสียหายได้ถูกแก็งคอลเซ็นเตอร์นี้หลอกลวง มูลค่าความเสียหาย 41,517,869 บาท และเมื่อวันที่ 30 ก.ค. 65 ได้มีผู้เสียหายซึ่งเป็นแพทย์ได้ถูกแก็งคอลเซ็นเตอร์นี้หลอกลวงอีก มูลค่าความเสียหาย 101,871,381 บาท ซึ่งนักวิเคราะห์แผนประทุษกรรมของ ศปอส.ตร. (PCT) ชุดที่ 5 ได้วิเคราะห์แผนประทุษกรรมประกอบกับพยานหลักฐานที่สืบสวนได้จากการสืบสวน ยืนยันได้ว่าเป็นแก็งคอลเซ็นเตอร์ “ตึกประตูดำ” จึงได้เร่งรัดให้ดำเนินการสืบสวนและจับกุมผู้กระทำความผิดทั้งหมดทั้งต่างประเทศ และในประเทศอย่างต่อเนื่อง
วันที่ 29 ตุลาคม 2565 พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผบก.สส.บช.น. หัวหน้าชุดปฏิบัติการที่ 5 PCT และตำรวจ PCT 5 ร่วมกันจับกุมตัวนายชลวิชา ปานสมุทร หรือเบียร์ อายุ 32 ปี ชาวจ.สมุทรสาคร ซึ่งทำหน้าที่เป็นพนักงานสาย 3 ที่ปลอมเป็นตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ตามหมายจับศาลอาญาที่ 2298/2565 ลงวันที่ 28 ต.ค. 65 ในข้อหาร่วมกันฉ้อโกงประชาชนโดยการแสดงตนเป็นคนอื่น, ร่วมกันอั้งยี่, ร่วมกันเป็นซ่องโจร, ร่วมกันมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ, ร่วมกันโดยทุจริตฯ นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จฯ และร่วมกันฟอกเงินฯ พร้อมตรวจยึดทรัพย์สินประกอบด้วยสมุดบัญชีธนาคาร 2 เล่ม, แหวน กำไรและสร้อยโลหะคล้ายทองคำ น้ำหนัก รวม 8 บาท 3 สลึง, นาฬิกาข้อมือ 2 เรือน,เงินสด จำนวน 2,619 บาท, ธนบัตรสกุลเงินดอลลาร์ 1 ดอลลาร์, ธนบัตรสกุลเงินเรียล 16,500 เรียลกัมพูชา, โทรศัพท์มือถือ 2 เครื่อง รวมของกลางที่ตรวจยึดได้ 16 รายการ โดยจับกุมได้บริเวณลานจอดรถ ร้านเค้กบ้านสวน(ขาเข้าสระบุรี) ต.สนับทึบ อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2565 เวลา 18.00 น.
คดีนี้ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ ศปอส.ตร. (PCT) ชุดที่ 5 ได้รวบรวมพยานหลักฐานยื่นต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการ จำนวน 58 หมายจับ ซึ่งต่อมา เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 65 พล.ต.อ.วรรณวีระ สม ผู้ช่วย ผบ.ตร./ผบช.กองบัญชาการรักษาความมั่นคงภายใน ตำรวจกัมพูชา และคณะ ได้เดินทางมาพบ ผบ.ตร. ณ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประเทศไทย โดยได้วางแนวทางหารือเพื่อปฏิบัติการทลายแก็งคอลเซ็นเตอร์ดังกล่าว และมีพยานหลักฐานยืนยันได้ว่า ผู้ที่หลอกลวงให้โอนเงินในขั้นตอนสุดท้าย หรือเรียกว่าสายสามทั้ง 2 คดีนี้ ได้เงินไปกว่า 150 ล้านบาท คือ นายชลวิชา ปานสมุทร หรือเบียร์ ผู้ต้องหาซึ่งทำหน้าที่เป็นพนักงานสาย 3 ที่ปลอมเป็นตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ผกก.สภ.เมืองเชียงราย ในขบวนการนี้ ได้รวบรวมพยานหลักฐานจนนำมาสู่การออกหมายจับ ผู้ต้องหาตามหมายจับดังกล่าว
พล.ต.ต.ธีรเดช จึงได้ประสานงานเร่งรัดให้ทางการประเทศกัมพูชาดำเนินการ จนกระทั่งเมื่อวันที่ 17 ต.ค. 65 เจ้าหน้าที่ตำรวจ PCT ได้เดินทางไปยังเมืองปอยเปต ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจประเทศกัมพูชา เข้าปฏิบัติการทลายแก็งคอลเซ็นเตอร์ประตูดำดังกล่าว แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ไปถึงได้พบว่าหัวหน้าชาวไต้หวันได้สร้าง “ทางลับ” นำพาพนักงานคอลเซ็นเตอร์คนไทยหลบหนีออกไปจากตึกระหว่างที่เจ้าหน้าที่เข้าทำการตรวจค้นตึก โดย นายชลวิชา สามารถหลบหนีออกจากตึกไปได้ เจ้าหน้าที่ตำรวจ PCT 5 ได้ไล่ติดตามจนสืบถามว่า เดินทางกลับประเทศไทย และถูกติดตามจับกุมตัวในที่สุด
นายชลวิชา ให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา และให้การว่า ตนได้ร่วมกันกับพวก หลอกลวงผู้เสียหายจริง โดยเริ่มต้นข้ามไปประเทศกัมพูชาทางช่องทางธรรมชาติ เพื่อทำงานเป็นแอดมินเว็บพนันที่เมืองปอยเปต ประเทศกัมพูชา โดยทำเรื่อยมาตั้งแต่เดือน พ.ย.2564 ซึ่งช่วงเดือน ก.พ.2565 ถูกย้ายตึกทำงานประตูดำ และได้เริ่มหลอกลวงเป็นพนักงานคอลเซ็นเตอร์สาย 2 อ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองเชียงราย ยศร้อยตำรวจโท แต่เมื่อทำมาได้ระยะหนึ่ง หัวหน้าชาวไต้หวัน ได้เห็นถึงความสามารถในการหลอกลวงจึงได้เลื่อนขั้นเป็นเจ้าหน้าที่สาย 3 อ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูง ยศพันตำรวจเอก โดยหลอกลวงผู้เสียหายว่า ผู้เสียหายมีส่วนเกี่ยวข้องกับการจับกุมคดีของนายจักรพงศ์ รือเสาะ ทั้งนี้พนักงานสาย 1 จะทำหน้าที่อ้างเป็นพนักงานหรือบริษัทขนส่งเกี่ยวกับการส่งสิ่งของผิดกฎหมาย ส่วนสาย 2 อ้างเป็นร้อยเวรเจ้าของคดีและเก็บรวบรวมข้อมูลของผู้เสียหายส่งต่อให้สาย 3 ที่อ้างตัวเป็นผู้กำกับหรือรองผู้กำกับ เพื่อปิดยอด ส่วนวิธีการหลอกปลอมเป็นตำรวจจะมีทีมงานนำสคลิปสนทนาการเจราจาพูดคุยที่แปลเป็นภาษาไทย จึงหัดอ่าน พร้อมพูดคุยกับเพื่อนทีมงาน หากทำยอดได้มากถึง 1 ล้านบาท ทางตัวการใหญ่จะมีการจัดงานเลี้ยงโดยเฉพาะหมูกะทะ เนื่องจากเป็นอาหารที่พิเศษสุด เพราะทีมงานไม่สามารถออกไปด้านนอกได้
นายชลวิชา กล่าวอีกว่า ตั้งแต่ทำงานเป็นแก็งคอลเซ็นเตอร์ ตนสามารถหลอกลวงผู้เสียหายได้ประมาณ 7-8 ล้านบาทต่อเดือน และเคสใหญ่ๆ ที่ตนหลอกได้มี 3 ครั้ง คือ 1.ช่วงประมาณ เดือน เม.ย.2565 หลอกลวง นางอำภา ข้าราชการครูเกษียณ ได้ประมาณ 11 ล้านบาท 2.ช่วงประมาณ เดือน ก.ค.2565 หลอกลวง นายชาญชัย นักลงทุนหุ้น ได้ประมาณ 41 ล้านบาท และ 3.ช่วงประมาณ ต้นเดือน ต.ค.2565 หลอกลวง นางรัชนี เป็นหมอ อยู่เมืองชุมพร ซึ่งเป็นเคสล่าสุดที่ได้หลอกลวง โดยตนรับว่าเป็นผู้หลอกลวงหลักในเคสนี้ และมีเพื่อนชื่อ เต๋า (ไม่ทราบชื่อนามสกุลจริง) ช่วยพูดคุยหลอกลวงด้วย ได้ประมาณ 101 ล้านบาท
นายชลวิชา รับสารภาพอีกว่า แก็งคอลเซ็นเตอร์แก็งนี้มีพนักงานเป็นคนไทยประมาณ 50-60 คน ในส่วนของเงินเดือนที่ได้การทำงานตั้งแต่เริ่มงาน ช่วง 1-3 เดือนแรก จะได้เงินเดือนประมาณ 20,000 บาท แต่ภายหลังเป็นพนักงานเก่า จึงได้ปรับเงินเดือนเพิ่มเป็น 30,000 บาท และได้ค่าคอมมิชชั่นจากการหลอกลวง 3% และคอมมิชชั่นล่าสุดที่สามารถหลอกลวงได้ 101 ล้าน ได้เงินสดมากว่า 2.5 ล้านบาท และเคสเก่าที่เคยหลอกลวงได้ 40 ล้านบาท ตนได้เงินประมาณ 1,400,000-1,500,000 บาท และเคสเก่าที่เคยหลอกลวงได้ 10 ล้านบาท ได้เงินสด 300,000 บาท โดยรวมทั้งหมดที่ทำงานมาได้เงินมาทั้งหมดประมาณ 4,000,000 บาท โดยตอนหลบหนีกลับมาที่ประเทศไทยได้พกเงินสดติดตัวไว้ 600,000 บาท เมื่อกลับมาถึงประเทศไทยตนได้นำเงินมาใช้สร้างบ้านรวมประมาณ 1 ล้านบาท แบ่งให้ญาติใช้จ่าย รวม 1 ล้านบาท นำไปซื้อทองรูปพรรณมาเก็บไว้ประมาณ 5 แสนบาท ที่เหลือได้นำมาใช้จ่ายส่วนตัวและส่วนหนึ่งได้นำไปใช้เล่นพนันออนไลน์ เพื่อความสุขส่วนตน ฝากเตือนประชาชนหากมีสายแปลกก็ควรจะตรวจสอบเบอร์โทรศัพท์จากอินเตอร์เน็ตก่อน หรือตัดสายทิ้งและบล็อกเบอร์โทรศัพท์ไปเลย ส่วนคนที่อยากจะมาทำงานแบบนี้ถึงแม้ได้เงินเยอะแต่ไม่ได้ใช้ และถูกจับกุมด้วย
หลังจากการจับกุม เจ้าหน้าที่ตำรวจ PCT 5 ได้นำตัวผู้ต้องหารายนี้มาขยายผล ตรวจสอบเส้นทางการเงิน เพื่ออายัดเงินที่ผู้ต้องหาได้จากการหลอกลวงมาทั้งหมด และได้มีการติดตามให้ผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงเงินจำนวน 41 ล้านบาท และผู้เสียหาย (แพทย์) ที่ถูกหลอกลวงกว่า 100 ล้านบาท มาเข้ายืนยันเสียง ซึ่งทั้งสองได้ยืนยันว่าเสียงของนายชลวิชา เป็นเสียงที่ทั้งสองถูกหลอกลวงจริงๆ
ผู้เสียหาย ยืนยันว่าเสียงที่พูดคุย ใช่เสียงเดียวกันกับที่อ้างเป็นผู้กำกับ ทั้งนี้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีบริษัทขนส่งได้โทรติดต่ออ้างว่าผมได้ส่งสินค้าไปไต้หวันแล้วถูกอายัด ให้ไปแสดงตัว แต่ผมอยู่กรุงเทพฯ จึงมีการโอนสายไปให้พูดคุยกับผกก.สภ.เชียงราย บอกให้ไปรายงานตัวเนื่องจากส่งกัญชาซุกซ่อนอยู่ในกระเป๋าเนื่องจากจับกุมผู้ต้องหาได้แล้ว พร้อมอ้างว่าต้องไปแสดงตัวและแสดงบัญชีทั้งหมดเพื่อตรวจสอบเส้นทางการเงิน โดยส่งลูกน้องให้โทรติดต่อทุก 3 ชั่วโมง ทุกวันเป็นเวลา 3 สัปดาห์ จากนั้นให้โอนเงินไปยังบัญชีต่างๆ รวมกว่า 10 บัญชี โดยโอนเงินไปรวม 45 ล้านบาท ทั้งนี้ต้องขอบคุณตำรวจที่สืบหาอย่างขมักเขม่น ทั้งนี้คิดว่าจะไม่เจอตัวแล้ว เพราะทราบว่าอยู่กัมพูชา
พล.ต.ต.ธีรเดช กล่าวว่า เงินที่ไปต่างประเทศอาจติดตามยาก แต่เคสนี้ทราบว่าได้เงินเปอร์เซ็นจากการหลอกลวงรวม 4 ล้านบาท และเงินรางวัลที่ได้จากการหลอกคนไทยเขาจะไม่ได้ใช้เลย จะติดตามคืนผู้เสียหายต่อไป ส่วนญาติตำรวจอยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะเข้าข่ายความผิดร่วมกันฟอกเงินหรือไม่ และข้อหาอื่นๆ ที่เข้าข่ายความผิดด้วย ทั้งยังมีผู้ร่วมกระทำผิดที่ทำหน้าที่ในแก๊งคอลเซ็นเตอร์ร่วมกันหลอกลวงอีก 57 คน จะขยายผลจับกุมมาดำเนินคดีต่อไป
พล.ต.ต.ธีรเดช กล่าวว่ามือเชือด 150 ล้านบาทรายนี้ มีเทคนิควิธีการที่จะสร้างความกลัวให้เหยื่อ มีวิธีการหลอกลวงได้อย่างแนบเนียนกว่าพนักงานคอลเซ็นเตอร์คนอื่น จนได้รับความไว้วางใจจากบอสชาวไต้หวัน ถือเป็นบุคคลที่เป็นภัยสังคม สร้างความเดือดร้อนให้คนไทยด้วยกัน ตามนโยบายของรัฐบาลและ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. จะเร่งรัดเดินหน้าปราบปรามขบวนการแก็งคอลเซ็นเตอร์อย่างจริงจังต่อไป ขอเตือนประชาชนที่คิดจะไปทำงานในประเทศเพื่อนบ้านเป็นแก็งคอลเซ็นเตอร์ให้ทราบว่า ไม่ว่าอย่างไร ซักวันหนึ่งพวกคุณจะต้องถูกจับ พวกคุณจะต้องกลับมาแบบอาชญากร มิใช่เหยื่อ และจะต้องถูกยึดทรัพย์สินที่ได้มาทั้งหมด และขอประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนคนไทยอย่าได้หลงเชื่อกลวิธีเหล่านี้ จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ หรือหากท่านมีเบาะแสสามารถติดต่อไปยัง สายด่วน 1441 ตำรวจไซเบอร์ หรือ ศูนย์ ศปอส.ตร. 081-8663000 ผู้เสียหายสามารถแจ้งความผ่านระบบออนไลน์ได้ที่ www.thaipoliceonline.com นอกจากนี้ยังได้จัดทำรูปแบบแผนประทุษกรรมของคนร้าย เพื่อให้ประชาชนรับรู้ โดยสามารถเข้าไปติดตามได้ที่ www.pctpr.police.go.th
ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวผู้ต้องหาพร้อมของกลางนำส่งพนักงานสอบสวน สอท.1 เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย และติดตามยึดทรัพย์สินต่อไป