พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ขอเรียนชื้เเจงผลการปฏิบัติงาน ดังต่อไปนี้
ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหาการหลอกลวงการลงทุนออนไลน์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ รวมถึงการระดมทุนที่ผิดกฎหมายนั้น กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ได้ขับเคลื่อนตามโยบายของรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการป้องกันและปรามอาชญากรรมทางไซเบอร์ในทุกรูปแบบอย่างต่อเนื่อง มาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของภัยการหลอกลวงลงทุนออนไลน์ตามข้อสั่งการ
แต่ในปัจจุบันยังคงพบว่ามีประชาชนหลงเชื่อตกเป็นเหยื่อจากภัยออนไลน์ด้านการหลอกลงทุนเป็นวงกว้าง โดยจากสถิติการรับเเจ้งความออนไลน์ ตั้งเเต่วันที่ 1 มี.ค.65 – 30 ก.ย.65 พบว่า การหลอกลงทุนในรูปแบบต่างๆ มีการรับเเจ้งความ จำนวน 9,915 เรื่อง หรือคิดเป็น 10.37 % จากจำนวนเรื่องรับเเจ้งความออนไลน์ทั้งหมด มีความเสียหายกว่า 5,145 ล้านบาท และสูงเป็นอับดับที่ 1 จากมูลค่าความเสียหายทั้งหมด
ผบช.สอท. จึงได้กำชับสั่งการทุกกองบังคับการในสังกัด เร่งดำเนินการสืบสวนปราบปรามจับกุมผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างจริงจัง ให้มีผลการปฏิบัติเป็นรูปธรรม รวมถึงสร้างการรับรู้ สร้างภูมิคุ้มกัน ไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ
โฆษก บช.สอท. เรียนประชาสัมพันธ์ไปยังประชาชน ให้พึงระมัดระวังการลงทุนที่ได้รับผลกำไรเกินจริง ขัดแย้งกับสภาวะเศรษฐกิจ ของฟรีไม่มีในโลก ของถูกต้องถูกอย่างมีเหตุผล การลงทุนก็ต้องสมเหตุสมผลเช่นกัน
ทั้งนี้ขอประชาสัมพันธ์เพิ่มเติมถึง 10 กลโกง ที่มิจฉาชีพมักนำมาใช้ในการหลอกลวงชักชวนให้ลงทุน ดังนี้
1. โฆษณาด้วยคำสวยหรู เช่น งานสบายรายได้ดี ลงทุนง่ายเห็นผลไว
2. แอบอ้างบุคลที่มีชื่อเสียง บุคคลที่น่าเชื่อถือเป็นที่รู้จักในสังคม ผู้เชี่ยวชาญ
3. ชักชวนลงทุน เเต่ไม่มีสินค้า เน้นหาสมาชิกเพิ่ม การันตีผลกำไร
4. มักหลอกลงทุนในตลาดแลกเปลี่ยนสกุลเงินระหว่างประเทศ ทองคำ cryptocurrency เว็บพนัน
5. ใช้ความเห็นอกเห็นใจของคน หลอกผู้มีจิตศรัทธาให้ทำบุญ
6. หลอกระดมทุนให้สิทธิ์การถือหุ้นในบริษัท
7. หลอกลวงผู้ป่วย ด้วยสินค้ารักษาโรค
8. หลอกให้ฝาก และซื้อขาย cryptocurrency ในเว็บไซต์ปลอม
9.หลอกให้ซื้อ cryptocurrency สกุลใหม่ๆ แต่สุดท้ายไม่ได้เข้ากระดานซื้อขาย
10. หลอกให้จ่ายเงินให้คนที่มีเครื่องขุดเหรียญ cryptocurrency เป็นผู้ขุดให้ (ซื้อแรงขุด) แต่ไม่มีการขุดเหรียญจริง
อย่างไรก็ตาม หากท่านอยากที่จะลงทุนควรศึกษา ตรวจสอบที่มาที่ไปให้ดีเสียก่อน และหมั่นติดตามข่าวสารจากทางราชการอยู่เสมอ เพื่อจะได้รู้เท่าทันกลโกงของเหล่ามิจฉาชีพที่ปรับเปลี่ยนรูปแบบหาวิธีการมาหลอกลวงประชาชนอยู่ตลอดเวลา
และหากท่านพบเบาะแสการกระทำความผิด สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วน ตำรวจไซเบอร์ หมายเลข 1441 หรือ 081-866-3000 ตลอด 24 ชั่วโมง แจ้งความออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com