เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม ที่ห้องประชุมสุธี-ฉวีวรรณ มีนชัยนันท์อาคาร 6 ชั้น 5 วิทยาลัยเทคนิคมีนบุรี ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) นายมณฑล ภาคสุวรรณ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผบ.ตร. พล.ต.ท.สำราญ นวลมา ผู้ช่วยผบ.ตร. นพ.สราวุฒิ บุญสุข และเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันประชุมเครือข่ายสถานศึกษาเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาพฤติกรรมไม่เหมาะสมของนักเรียนนักศึกษาอาชีวะศึกษา พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ครั้งที่ 1/2566
ทั้งนี้พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ได้บรรยายในหัวข้อ “แนวทางการป้องกัน ปราบปรามและแก้ไขปัญหาการใช้ความรุนแรงนักเรียนนักศึกษา” เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาการใช้ความรุนแรงของนักเรียนนักศึกษาและเฝ้าระวังไม่ให้เกิดเหตุทะเลาะวิวาทอันจะส่งผลกระทบต่อเด็กเยาวชนและประชากรในระดับพื้นที่ โดยบางช่วงบางตอนระบุว่าสืบเนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้กำหนดประชุมเครือข่ายสถานศึกษาเพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาพฤติกรรมไม่เหมาะสมของนักเรียน นักศึกษาอาชีวศึกษา พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่อเป็นการบูรณาการการทำงานป้องกันแก้ไขปัญหาการใช้ความรุนแรงของนักเรียน นักศึกษา และร่วมกันเฝ้าระวังไม่ให้เกิดเหตุการณ์ทะเลาะวิวาทอันจะส่งผลกระทบต่อเด็ก เยาวชนและประชาชนในระดับพื้นที่ ซึ่งทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติเล็งเห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าว
ทั้งนี้จากสถิติเหตุนักเรียนนักศึกษาทะเลาะวิวาทหรือใช้ความรุนแรง ในพื้นที่กรุงเทพมหานครที่ทางเจ้าที่ตำรวจได้ทำการเก็บข้อมูลห้วงระหว่างเดือนตุลาคม 2564 – เดือนกันยายน 2565 พบว่ามีจำนวนทั้งสิ้น เหตุ ในจำนวนนี้พบว่าเดือนมิถุนายน 2565 เกิดเหตุมากสุด 65 ครั้ง รองลงมาเดือนสิงหาคม 2565 เกิดเหตุ 62 ครั้ง เดือนกรกฎาคม 2565 เกิดเหตุ 48 ครั้ง และกันยายน 2565 เกิดเหตุ 29 ครั้ง โดยพื้นที่ที่ประสบเหตุและได้รับแจ้งมากที่สุด ประกอบไปด้วยสน.พระโขนง , สน.บางกอกใหญ่ , สน.หลักสอง , สน.ท่าข้าม , สน.แสมดำ , สน.บางนา และสน.ประเวศ อย่างไรก็ตามปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้นักเรียนนักศึกษาก่อเหตุทะเลาะวิวาทประกอบไปด้วย การถูกทำร้ายร่างกายมาก่อน , การเป็นศัตรูคู่อริ , การอวดให้รุ่นน้องเห็น , ความรู้สึกการเสียศักดิ์ศรี , เรื่องชู้สาว ตลอดจนประเพณีความเชื่อที่ผิด
รองผบ.ตร. กล่าวอีกว่า ปัจจุบันมีภาคีเครือข่ายเพื่อป้องกันเหตุที่ได้บูรณาการจากทุกภาคส่วน ประกอบไปด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในสถานีตำรวจเจ้าของพื้นที่และเจ้าหน้าที่ในหน่วยสนับสนุน เช่น บก.สปพ. เป็นต้น, สถาบันการศึกษาเครือข่ายครู อาจารย์ที่จะร่วมมือกันดำเนินการตามมาตรการต่าง ๆ ที่กำหนด นอกจากนี่ยังมีหน่วยงานภาครัฐอื่นๆเช่น ขสมก., เจ้าหน้าที่เทศกิจ, สถานพยาบาลที่จะช่วยเป็นหูเป็นแจ้งข่าวและป้องกันเหตุ ตลอดจนภาคเอกชนห้างสรรพสินค้า สถานจัดกิจกรรมรวมตัวของกลุ่มนักเรียน นักศึกษาและอาสาสมัครภาคประชาชนอาสาสมัครตำรวจบ้าน อาสาสมัครกู้ภัยมูลนิธิต่าง ๆ เจ้าหน้าที่ รปภ. วิน จยย. สมาชิกแจ้งข่าวอาชญากรรม ภาคีตาสับปะรด รวมทั้งสื่อมวลชนที่จะร่วมเสนอข่าวด้านบวก ไม่ส่งเสริมให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบหรือแก้แค้น ซึ่ง ทั้งหมดนี้เป็นภาคีเครือข่ายที่จะช่วยในการแก้ไขปัญหานักเรียนและนักศึกษาทะเลาะวิวาท
นอกจากนี้ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีการมอบหมายให้หน่วยงานในสังกัด นำสภาพปัญหามาวิเคราะห์เพื่อหาแนวทางป้องกันและบังคับใช้กฎหมาย , มาตรการเชิงรุก ปิดล้อมตรวจค้นสถานศึกษาและบริเวณที่เป็นพื้นที่เสี่ยงตลอดจนจัดทำบัญชีกลุ่มเสี่ยง บัญชีรุ่นพี่ (ที่จบการศึกษาแล้ว) ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยง/นักศึกษาปัจจุบันกลุ่มเสี่ยงพร้อมทั้งสืบสวนติดตามความเคลื่อนไหว จัดทำประวัติ และเก็บ DNA บุคคลกลุ่มเสี่ยง จัดชุดสืบสวนออกสืบสวนหาข่าวในพื้นที่ พร้อมบันทึกภาพนิ่ง และภาพเคลื่อนไหวและพร้อมระงับเหตุ จัดชุดสืบสวนติดตามความเคลื่อนไหวและตรวจการณ์ ผ่าน CCTV แบบ Real Time จัดชุดไล่ล่าเตรียมติดตามจับกุมคนร้ายหลังก่อเหตุ เพื่อให้สามารถจับคนร้ายได้อย่างรวดเร็ว ควบคู่กับการเฝ้าระวังและประชาสัมพันธ์