บ่ายวันที่ 3 ตุลาคม 2565 ที่สำนักงานอัยการจังหวัดสกลนคร พล.ต.ต.ออมสิน ตรารุ่งเรือง ผบก.สอท.3 พ.ต.อ.สถาพร รอดโพธิ์ทอง รอง ผบก.สอท.3 พร้อม จนท. นำสำนวนการสอบสวน คดีฟาร์มเห็ดทิพย์ Turtle Farm ของ หจก.สถานีหลักสี่ ที่มีการหลอกลวงประชาชนให้ร่วมลงทุนฟาร์มเห็ด จำนวน 13 กล่อง ส่งให้อัยการจังหวัดสกลนคร เพื่อให้พนักงานอัยการสั่งฟ้องต่อไป
พล.ต.ต.ออมสิน ตรารุ่งเรือง ผบก.สอท.3 กล่าวว่า ตาม นโยบายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต. อ.ดำรงค์ศักดิ์ กิตติประกัสร์ ผบ.ตร. พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง ผู้ช่วย ผบ.ตร. และ พล.ต.ต.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผู้บัญชาการกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ได้รับเรื่องที่มีผู้เสียหายจำนวนมากมาพบพนักงานสอบสวนทั่วประเทศ และแจ้งความออนไลน์ thaipoliceonline.com ให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีกับ ห้างหุ้นส่วนจำกัด สถานีหลักสี่ กับพวก ที่ได้โฆษณาของ Turtle farm (โทเทิ่ลฟาร์ม) เชิญชวนให้มาร่วมลงทุน โดยการซักชวนให้เข้าร่วมโครงการด้วย โดยมีการร้องทุกข์ กว่า 2,000 ราย ความเสียหายมากกว่า 1,970 ล้านบาท
ซึ่งคณะพนักงานสอบสวน ได้รับคำร้องทุกข์ไว้ทำการสอบสวนแล้ว ได้ขออนุมัติหมายจับผู้ต้องหา จากศาลจังหวัดสกลนคร จำนวน 9 คน ประกอบด้วย1.นางสาว ฐานวัฒน์ ชูเกียรติสกุลไกร 2.นางสาว พลอยฐิตา นิรมิตบุญวัฒน์ 3. นางสาวนันทวดี นันทศิริ 4.นางสาว ฐิตารีย์ ชัชวาลธนวินทร์ 5.นางสาว จัณฑิกา ทองพรหม 6.นางสาว เตชิน ชนาสิริสกุล 7.นางสาว ประภากร สังกฤษ 8.นางสาว อนันญา เคนประคอง 9.นางสาว ศิลป์สุภาหนูทอง และสืบสวนติดตามจับกุมผู้ต้องหา ได้ 7 คน สอบสวนปากคำผู้ต้องหา จำนวน 7 คน ได้ทำการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานแล้วมีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 9 โดยได้ทำการส่งสำนวนการสอบสวนบางส่วนที่สอบสวนแล้วเสร็จจำนวน 13 กล่อง 119 คดี มายังอัยการจังหวัดสกลนครในวันนี้
จากการรวบรวมพยานวัตถุและพยานเอกสาร เช่น รายงานการตรวจพิสูจน์ คอมพิวเตอร์ของกลาง จากกองพิสูจน์หลักฐาน 3,รายงานการตรวจสถานีที่เกิดเหตุ ของพิสูจน์หลักฐานจังหวัดสกลนคร รายการตรวจสอบข้อมูลสินค้า และสินค้าควบคุม ของพาณิชย์จังหวัดสกลนคร,ผลการตรวจพิสูจน์เห็ดที่ตรวจยึดจากที่เกิดเหตุ ของศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสกลนคร,รายงานการตรวจวัดปริมาณของกลางคดีฟาร์มเห็ด ชั่ง ตวง วัด จังหวัดสกลนคร, ประกาศอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย และแบบคำขออนุญาตก่อสร้างของ Turtle farm (โทเทิ่ลฟาร์ม) เทศบาลนครสกลนคร
จากการรวบรวมพยานหลักฐาน มีคำให้การผู้กล่าวหาและพยานดังกล่าวข้างต้นยืนยันการกระทำผิดของผู้ต้องหาทั้ง 9 ได้ร่วมกันออกอุบายชักชวนผ่านสื่อ อิเล็กทรอนิกส์หลายช่องทาง โดยให้ประชาชนมาร่วมลงทุนเพาะเห็ด ปลูกต้นกระท่อมและลงทุนโครงการอื่นๆ ซึ่งมีอยู่หลายโครงการ โดยแจ้งระบุผลตอบแทนที่สูงเกินกว่าอัตราดอกเบี้ยที่ประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย กำหนดให้สถาบันการเงินว่าด้วยดอกเบี้ยเงินกู้พึงจะให้สูงสุดได้ เป็นตัวชวนเชื่อโดยไม่ได้มีเจตนาที่จะดำเนินการตามที่ระบุชักชวนประชาชนแต่อย่างใด เป็นเหตุให้ประชาชนหลงเชื่อจึงได้นำเงินมาลงทุนตามคำชักชวนของกลุ่มผู้ต้องหา จากนั้นกลุ่มผู้ต้องหาได้เอาทรัพย์สินของประชาชนดังกล่าวไป จึงเชื่อได้ว่าการกระทำของผู้ต้องหาทั้ง 9 รายดังกล่าว ได้กระทำความผิดฐาน ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน กู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชน นำเข้าสู่ระบบซึ่งข้อความอันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 343 พระราชกำหนด การกู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 3 , 4 , 5 ,12พระรชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 มาตรา 4 . 14(1) ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 จึงเห็นควร ” สั่งฟ้อง ” ผู้ต้องหาทั้ง 9 คน ตามข้อกล่าวหาและกฎหมายดังกล่าวข้างต้น
อนึ่งผู้ต้องหาที่ 1 และที่ 2 ที่อยู่ระหว่างหลบหนีไปต่างประเทศ พนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องขอหมายจับต่อศาลจังหวัดสกลนคร และออกหมายแดง Red Notice ไว้แล้ว และได้ทำการสืบสวนติดตามทรัพย์สินของผู้ต้องหา และเครือข่าย โดยการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่สืบทรัพย์ ตรวจยึดทรัพย์สิน เช่น บ้าน อาคาร จำนวนหลายหลัง ทรัพย์สินอื่น ๆ และเงินสดจำนวน 99 ล้านบาท และได้มีการรับคดี ร่วมกันฟอกเงินกับผู้ต้องหา และบุคคลที่เกี่ยวข้องไว้อีกส่วนหนึ่งแล้ว และจะเร่งรัดสอบสวนปากคำผู้เสียหายที่เหลือ และรวบรวบส่งให้พนักงานอัยการดำเนินคดีกับ ผู้ต้องหา ยืนยัน จนท.ทำงานอย่างเต็มที่เพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดและนำทรัพย์สินที่ตรวจยึดได้นำมาคืนให้ผู้เสียหายได้ให้มากที่สุด