วันที่ 21 กันยายน 2565 กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดย พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก., พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย รอง ผบช.ก., พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.ธรากร เลิศพรเจริญ รอง ผบก.ปอท. รรท.รอง ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.เนติ วงษ์กุหลาบ ผกก.4 บก.ปคบ., สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาโดย นพ. ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา, ภก. วีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกันแถลงผลการปฏิบัติงานกรณีการจับกุมการทลายขบวนการผลิตน้ำกระท่อมคู่ยาแก้ไอขายออนไลน์ สำหรับใช้ผลิตสารเสพติดชนิด 4×100
สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนจาก อย. ให้ตรวจสอบการขายเครื่องดื่มจากใบกระท่อม ทางเฟซบุ๊ค ชื่อ “ยงยุทธ ทองเทพ (ป๊อก ไม่เคยขัดจัดให้ตลอด) URL:https://www.facebook.com/100022329857539 โดยเฟซบุคดังกล่าวระบุข้อความโฆษณาขาย “ใบท่อม ฝาแดง เงิน กัญชา น้ำต้ม ราคาปลีก ส่ง” จึงทำการสืบสวนจนทราบตัวเจ้าของเฟซบุ๊คดังกล่าว พบว่า มีการขายน้ำกระท่อมบรรจุขวด คู่กับยาแก้แพ้หรือยาแก้ไอชนิดน้ำเชื่อมยี่ห้อดาทิสซิน(DATISSIN SYRUP) หรือ “ยาฝาแดง”, ยาแก้แพ้ยี่ห้อ อเลอร์ยิ่น(ALLERGIN SYRUP) หรือที่เรียกในกลุ่มวันรุ่นว่า “ยาฉลากฟ้า” และยาแก้ไอยี่ห้ออาชาค็อก(ASACOG) ซึ่งเป็นยาที่มีส่วนผสมของตัวยา chlorpheniramine maleate ซึ่งต้องจำหน่ายโดยเภสัชกร
ต่อมาเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2565 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. จึงได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) นำหมายค้นของศาลอาญา ที่ 816/2566 ลงวันที่ 14 กันยายน 2565 ตรวจค้นบ้านเลขที่ 82/54 ซอยประชาสงเคราะห์ 4 แยก 5 แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร พบนายยงยุทธ (สงวนนามสกุล) พบใบกระท่อม อุปกรณ์ที่ใช้ผลิตและแบ่งบรรจุน้ำต้มกระท่อม และผลิตภัณฑ์ยาที่เข้าข่ายเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 จำนวน 3 รายการ ดังนี้
- ยาแก้แพ้ยี่ห้อ อเลอร์ยิ่น(ALLERGIN SYRUP) จำนวน 250 ขวด
- ยาแก้ไอยี่ห้ออาชาค็อก(ASACOG) จำนวน 100 ขวด
- ยาแก้ไอชนิดน้ำเชื่อมยี่ห้อดาทิสซิน(DATISSIN SYRUP) จำนวน 1,535 ขวด
เบื้องต้น การกระทำของนาย ยงยุทธฯ เป็นความผิดฐาน “ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต” จากการสอบปากคำผู้ต้องหารับว่าตนเองไม่ได้มีความรู้ด้านเภสัชกรรมแต่อย่างใด โดยตนต้มน้ำกระท่อมและแบ่งบรรจุขายคู่กับยาแก้แพ้ หรือยาแก้ไอชนิดน้ำเชื่อม เฉลี่ยวันละ 400-500 ขวด ซึ่งเป็นที่รู้กันในกลุ่มวัยรุ่นว่าน้ำกระท่อมและยาแก้แพ้ แก้ไอ สำหรับผสมยาเสพติดชนิด 4×100 เจ้าหน้าที่จึงได้ตรวจยึดของกลางส่งพนักงานสอบสวน กก.4 ดำเนินคดี
จากการสืบสวนขยายผลทราบตัวกลุ่มผู้ขายยาแก้ไอในปริมาณสูงให้แก่ นาย ยงยุทธฯ คือ นาย อรรคสิทธิ์ (สงวนนามสกุล) และนางสาว พิณรัตน์ และพนักงานสอบสวนจึงได้ขอศาลอนุมัติหมายจับบุคคลทั้งสอง ในข้อหา “ร่วมกันขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต”
ภก. วีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า การปลดล็อกพืชกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษในประเภทที่ 5 ประชาชนสามารถปลูกพืชกระท่อม ครอบครอง ซื้อ ขายต้น/ใบ หรือนำมาบริโภคส่วนตนในครัวเรือนได้ แต่การนำใบกระท่อมมาเป็นวัตถุดิบหรือส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์สุขภาพ ได้แก่ผลิตภัณฑ์สมุนไพร อาหาร และเครื่องสำอาง การผลิตเพื่อจำหน่ายต้องปฏิบัติตามกฎหมายเฉพาะของผลิตภัณฑ์นั้น
การขาย “น้ำต้มใบกระท่อมบรรจุขวด” โดยผู้ผลิตนั้นไม่มีใบอนุญาตผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพร เป็นการกระทำผิดกฎหมาย ฝ่าฝืนตามมาตรา 17 และ 58(4) แห่ง พรบ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ.2562 ต้องระวางโทษตามมาตรา 91 จำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และตามมาตรา 106 จำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อย. ขอย้ำ ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยจิตเวช ผู้ที่มีภาวะนอนไม่หลับ ผู้ที่มีความผิดปกติของตับและไต หญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร เด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า18 ปี ผู้ที่มีภาวะไทรอยด์ผิดปกติ รวมทั้งผู้ที่รับประทานยาบางชนิด เช่น กลุ่มยาต้านการแข็งตัวของเลือด ยาที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ให้หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำต้มใบกระท่อม
ทั้งนี้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ได้รับอนุญาตจาก อย. แล้วได้ที่ www.fda.moph.go.th หากพบผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้รับอนุญาต สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือผ่าน Line@FDAThai, Facebook: FDAThai หรือ E-mail: [email protected] ตู้ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ
พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ. กล่าวว่า แม้จะมีการปลดล็อก “พืชกระท่อม” ออกจากยาเสพติดประเภท 5 ทำให้คนบางกลุ่มโดยเฉพาะเยาวชนใช้โอกาสนำเอาน้ำกระท่อมไปใช้เป็นส่วนผสมกับยาแก้ไอ ยาแก้แพ้ชนิดน้ำเชื่อม หรือยาแก้ปวดในลักษณะสารเสพติดที่เรียกว่า “4×100” แล้วนำมาดื่มเพื่อให้เกิดอาการมึนเมา เสียสุขภาพและอาจก่อเกิดเหตุอาชญากรรมสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนตามมา เจ้าหน้าที่ตำรวจขอเน้นย้ำว่ายาแก้ไอ ยาแก้แพ้ หรือยาแก้ปวดที่น้ำมาใช้เป็นสารตั้งต้น 4×100 ยังเป็นยาควบคุมที่จะต้องขายโดยเภสัชกร การนำช่องว่างทางกฎหมายมาผลิตสารเสพติดมอมเมากลุ่มเยาวชนตำรวจจะดำเนินกวดขันจับกุมร้านขายยารวมถึงเครือข่ายที่นำยาดังกล่าวไปขายเพื่อตัดตอนการเข้าถึงยาเสพติดชนิด 4×100 ให้ถึงที่สุด โดยหากพบเห็นการกระทำความผิด สามารถแจ้งได้ที่ สายด่วน ปคบ. 1135 หรือเพจ ปคบ.เตือนภัยผู้บริโภค