บิ๊กโจ๊ก พร้อมคณะ หารือผู้แทนสหภาพยุโรป ร่วมต่อต้าน ปัญหา IUU ณ กรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยี่ยม

ตามนโยบายของรัฐบาลโดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย โดยมี พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วย ผบ.ตร. เป็นประธานคณะทำงานเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบ ควบคุม เฝ้าระวังการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพื่อทำหน้าที่ในการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมประมง กรมเจ้าท่า ศรชล. และอีกหลายหน่วยงาน เพื่อแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง โดยได้มีการดำเนินการด้านการตรวจสอบการใช้เครื่องมือทำประมงให้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด การป้องกันและปราบปรามการบังคับใช้แรงงานข้ามชาติในการทำประมง เพื่อเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับการทำประมงของประเทศไทยในสายตาของนานาประเทศ และลดการส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจ เช่น การส่งออกสินค้าภาคประมงของไทย


นอกจากนี้ ในเดือนตุลาคม 2565 ที่จะถึงนี้ คณะกรรมาธิการยุโรปได้เตรียมการที่จะมาตรวจสอบการทำประมงของไทย เพื่อสังเกตการณ์การดำเนินการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU Fishing) ของประเทศไทยในภาพรวม เพื่อพิจารณาการทำธุรกิจส่งออกสินค้าภาคประมงของไทยในระยะต่อไป ในการนี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วย ผบ.ตร. ในฐานะประธานคณะทำงานเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบ ควบคุม เฝ้าระวังการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย พร้อมคณะเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เดินทางไปพบหารือกับคณะกรรมาธิการยุโรป เพื่อรายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับการดำเนินการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU Fishing) ของประเทศไทย และแสวงหาความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว


โดยเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2565 ณ กรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยี่ยม นายเสข วรรณเมธี เอกอัครราชทูตไทยประจำ กรุงบรัสเซลส์ ได้นำคณะผู้แทนจากรัฐบาลไทย ประกอบด้วยผู้แทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ และเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ เข้าพบ น.ส. Charlina Vitcheva ปลัดกระทรวงกิจการทางทะเลและประมง คณะกรรมาธิการยุโรป (Director-General of the Directorate General for Maritime Affairs and Fisheries: DG MARE) และคณะเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านการต่อต้านการทำประมง IUU เพื่อหารือเกี่ยวกับความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ในประเทศไทย (IUU Fishing)
ทั้งนี้ คณะผู้แทนฝ่ายไทย ได้สรุปผลงานภาพรวมของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย อาทิเช่น การดำเนินคดีกับเรือประมงปลอมสัญชาติที่ลักลอบเข้ามาทำประมงผิดกฎหมายในราชอาณาจักร การพิสูจน์ทราบกรณีแรงงานบนเรือประมงตกน้ำ การติดตามเรือประมงที่ปิดสัญญาณ VMS การดำเนินคดีกับเรือประมงที่ลักลอบทำประมงในเขตพื้นที่ตามมาตรการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำ การดำเนินคดีกรณีการปลอมแปลงหนังสือคนประจำเรือ การลักลอบขนถ่ายน้ำมันเขียวของเรือประมงที่ไม่ได้รับอนุญาตจากศุลกากร และการดำเนินคดีกับเรือประมงที่มีการดัดแปลงเครื่องมือประมงโดยผิดกฎหมาย เป็นต้น รวมทั้งได้รายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับการดำเนินคดีอื่นๆ ที่ทางสหภาพยุโรปให้ความสนใจ ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้แทนจากสหภาพยุโรปได้ทราบถึงการยกระดับการทำงานในการขจัดปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจังของประเทศไทย


​จากการนำเสนอผลงานดังกล่าว ผู้แทนจากสหภาพยุโรปได้ให้ความสนใจและซักถามรายละเอียดเกี่ยวกับ การดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐที่มีส่วนในการเอื้อประโยชน์ในการกระทำความผิดในการทำประมง การตั้งคณะทำงานในการตรวจสอบการเข้าออกของเรือประมง การบังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำประมงผิดกฎหมาย การดำเนินการสืบสวนคดีต่างๆ ของไทยที่ได้ดำเนินการครบทุกมิติ เช่น การดำเนินการทางคดี การขยายผลไปสู่ผู้ร่วมขบวนการและเจ้าหน้าที่รัฐ การดำเนินคดีฐานฟอกเงิน เป็นต้น ซึ่งข้อมูลดังกล่าวทำให้ทางสหภาพยุโรปมีความสนใจเป็นอย่างยิ่ง ที่ประเทศไทยยกระดับการบังคับใช้กฎหมายจากการต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย เพื่อตัดวงจรมิให้นำไปสู่อาชญากรรมด้านการประมง (Fisheries Crime) ซึ่งถือเป็นการทำงานในมาตรฐานระดับโลก ทั้งนี้ สหภาพยุโรปมีความตั้งใจอยากจะเปลี่ยนสถานะปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายของไทยเป็น ธงเขียว และพร้อมที่จะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นผู้นำกลุ่มประเทศอาเซียน ในการปราบปรามการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU Fishing)


นอกจากนี้ ผู้แทนของสหภาพยุโรป ได้ให้ข้อแนะนำเพิ่มเติมจากการหารือครั้งนี้ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายของประเทศไทย มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยแนะนำให้มีการประสานงานความร่วมมือกันทุกหน่วยงานที่รับผิดชอบให้มากยิ่งขึ้น สร้างความเข้าใจในการบังคับใช้กฎหมายให้กับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายของประเทศไทยในระยะยาวได้อย่างมีประสิทธิภาพ


พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วย ผบ.ตร. กล่าวว่า การเดินทางมากรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยี่ยมของคณะผู้แทนไทยในครั้งนี้ ได้มีแลกเปลี่ยนข้อมูล ข้อคิดเห็น ประสบการณ์ในการทำงานแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย แสดงออกถึงความตั้งใจและพยายามแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายของประเทศไทย ทำให้ผู้แทนของสหภาพยุโรปได้มีความเข้าใจในความมุ่งมั่นในการดำเนินการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายอย่างจริงจังและต่อเนื่องของไทย รวมทั้งได้เห็นผลงานและความเปลี่ยนแปลงที่หน่วยงานไทย โดยจะสามารถสร้างภาพลักษณ์ที่ดีเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายให้กับประเทศไทย รวมทั้งทำให้สถานะของไทย ได้รับธงเขียวจากสหภาพยุโรป และเป็นผู้นำชาติอาเซียนในการแก้ไขการทำประมงผิดกฎหมายในระดับภูมิภาคต่อไป