เวลา 11.00 น. วันที่ 17 ก.ย. 65 ที่ ห้องประชุมชั้นสอง อาคารประชาอารักษ์ กองบังคับการปราบปราม พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. เป็นประธานในการแถลงข่าวการจับกุมผู้ต้องหา เป็นอดีตตำรวจฉ้อโกงการแลกเงิน จนเหยื่อหลงกลเห็นยอดเงินเข้า แต่เอาเข้าจริงกลับเบิกเงินไม่ได้ ทั้งนี้พบก่อเหตุมาเเล้วหลายครั้ง มีผู้เสียหายหลายราย นอกจากนี้ตรวจสอบประวัติยังพบอีกว่าอดีตตำรวจคนดังกล่าวเคยตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอุ้มฆ่าเสี่ยติงนัง เมื่อปี 2542 อีกด้วย
สอบสวนกลาง โดย บก.ป. และ บก.ปทส. รวบอดีตตำรวจ ฉ้อโกงร้านขายของ และร้านรับแลกเงิน ตรวจสอบพบประวัติการกระทำความผิดหลายคดี กองบังคับการปราบปราม และ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก., พล.ต.ต.วิวัฒน์ ชัยสังฆะ รอง ผบช.ก, พล.ต.ต.มนตรี เทศขัน ผบก.ป., พ.ต.อ.พรศักดิ์ เลารุจิราลัย รอง ผบก.ป, พ.ต.อ.มงคล พรานสูงเนิน รอง ผบก.ปทส., พ.ต.อ.เผด็จ งามละม่อม ผกก.1 บก.ป., พ.ต.อ.วิศิษฐ์ พลบม่วง ผกก.1 บก.ปทส., พ.ต.ท.อัครพล มณีวรรณ, พ.ต.ท.อลงกต คชแก้ว, พ.ต.ท.ก่อเกียรติ วุฒิจำนงค์, พ.ต.ท.พลวุฒิ ผาตินุวัติ, พ.ต.ท.ธนศักดิ์ สว่างศรี รอง ผกก.1 บก.ป., พ.ต.ท.เอก มหาสวัสดิ์, พ.ต.ท.กษิดิ์เดช เจริญลาภ รอง ผกก.1 บก.ปทส.
เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุม นำโดย พ.ต.ท.พชรเดช บุญฤทธิ์, ว่าที่ พ.ต.ท.นพพล ปุยะติ, ว่าที่ พ.ต.ต.เดชวุฒิ อุตรศาสตร์ สว.กก.1 บก.ป. และ พ.ต.ท.วีระวุฒิ บำรุงสวัสดิ์ รอง ผกก.3 บก.ปทส. พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัด กก.1 บก.ป. และ กก.1 บก.ปทส. ได้ร่วมกันทำการจับกุมตัว นายธารา เจริญนาคา หรือ นายครรชิต แตงจุ้ย อายุ 62 ปี ผู้ต้องหา ตามหมายจับศาลจังหวัดมุกดาหาร ที่ 111/2565 ฉบับลงวันที่ 7 กันยายน 2565 ความผิดฐาน “ร่วมกันฉ้อโกง” สถานที่จับกุม บริเวณหน้าที่พักภายในซอยวิภาวดี 40/2 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2565 เวลาประมาณ 19.00 น.
พฤติการณ์ กล่าวคือ นายธารา เจริญนาคา หรือ นายครรชิต แตงจุ้ย กับพวก ได้ไปติดต่อขอซื้อทองรูปพรรณจากร้านทอง และจะชำระเงินด้วยการสั่งจ่ายเป็นเช็คธนาคาร โดยผู้ต้องหาจะขอหมายเลขบัญชีธนาคารของผู้เสียหายไป แล้วจะออกอุบายแจ้งกับร้านทองให้ทราบว่าเงินเข้าบัญชีแล้ว เมื่อร้านทองตรวจสอบไปที่ธนาคาร ในเวลาดังกล่าว ปรากฏข้อมูลแจ้งว่ามีเงินเข้าบัญชีของทางร้าน ร้านทองจึงได้มอบทองรูปพรรณให้กับผู้ต้องหาไป แต่หลังจากผู้ต้องหาได้ออกจากร้านไป จึงได้พบว่าไม่มียอดเงินจำนวนดังกล่าวเข้ามาในบัญชีธนาคารของทางร้านแต่อย่างใด ซึ่งผู้ต้องหาได้อาศัยช่องว่างของการเคลียริ่งเช็คธนาคาร จะปรากฎยอดแจ้งว่ามีเงินเข้าบัญชีดังกล่าว แต่เป็นยอดเงินจากการจ่ายเช็คเคลียริ่ง ไม่ใช่เงินสดแต่อย่างใด เป็นเหตุให้ร้านทองได้รับความเสียหาย เข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวน สภ.เมืองมุกดาหาร จนพนักงานสอบสวนสามารถรวบรวมพยานหลักฐาน ยื่นต่อศาลเพื่อออกหมายจับผู้ต้องหาได้
ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปราม และ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ทำการสืบสวนติดตามจับกุมตัว นายธารา หรือ นายครรชิต จากการสืบสวนพบว่า ได้หลบหนีมาพักอาศัยอยู่ที่พักภายในซอยวิภาวดี 40/2 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร จึงได้เฝ้าติดตาม จนพบตัวนายธาราฯ เดินอยู่บริเวณสถานที่จับกุม จึงได้แสดงตัวเป็นเจ้าหน้าที่เข้าจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับ อีกทั้งยังได้ทำการตรวจสอบ พบว่านายธาราฯ ยังมีหมายจับที่ยังมีผลบังคับใช้อยู่อีก จำนวน 1 หมายจับ ได้แก่ศาลจังหวัดหนองคายที่ 145/2565 คดีหมายเลขดำที่ อ 627/2565 ลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2565 ความผิดฐาน “ร่วมกันฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นคนอื่น และออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย โดยในขณะที่ออกเช็คนั้นไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้” จากนั้นจึงนำตัวส่ง พนักงานสอบสวน สภ.เมืองมุกดาหาร เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
จากการตรวจสอบประวัติ พบว่าผู้ต้องหามีประวัติการกระทำความผิดหลายคดี โดยเมื่อปี พ.ศ. 2542 ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีการหายตัวไปของนายชัยรัตน์ หรือ “เสี่ยติงนัง” พนักงานต้อนรับชาย (สจ๊วต) สายการบินลุฟท์ฮันซ่า ซึ่งในขณะนั้นผู้ต้องหากับพวกได้ร่วมกันก่อเหตุลักทรัพย์ เป็นรถยนต์ยี่ห้อเบนซ์ และยังได้ร่วมกันปลอมตั๋วเงิน โดยการเขียนปลอมลายมือชื่อนายชัยรัตน์ นำไปเรียกเก็บเงินต่อเจ้าหน้าที่ธนาคาร นอกจากนี้ยังร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จกับพนักงานสอบสวน สน.บางรัก รวมทั้งร่วมกันปลอมลายมือชื่อในสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้านของนายชัยรัตน์ อีกด้วย สุดท้ายได้ถูกศาลอาญาพิพากษาจำคุก 15 ปี 6 เดือน หลังจากพ้นโทษออกมาเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2555 ในช่วงปี พ.ศ. 2557-2558 ผู้ต้องหาได้ร่วมกับพวก ฉ้อโกงร้านทอง จำนวนหลายร้าน โดยใช้อุบายทำทีซื้อทองในลักษณะเดียวกัน คืออาศัยช่องว่างของการเคลียริ่งของธนาคาร จนได้ทองคำน้ำหนักหลายร้อยบาท มูลค่าหลายสิบล้านบาท ก่อนจะถูกจับกุมตัวได้เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2558 และหลังจากพ้นโทษออกมาในปี พ.ศ. 2565 ได้ตระเวนออกทำความผิดอีกในลักษณะเดิม ในพื้นที่จังหวัดหนองคาย และจังหวัดมุกดาหาร ซึ่งระหว่างที่ผู้ต้องหาได้หลบหนีการประกันตัวในคดีของศาลจังหวัดหนองคาย และก่อนจะถูกเจ้าหน้าที่ติดตามจับกุมในครั้งนี้ เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2565 ยังได้ไปก่อเหตุฉ้อโกงร้านรับแลกเงิน ย่านถนนสุรวงศ์ เขตพื้นที่ สน.บางรัก โดยใช้อุบายหลอกลวงอาศัยช่องว่างของการเคลียริ่งของธนาคารในลักษณะเดิม ได้เงินสดไปอีก 22,000 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา (ประมาณ 800,000 บาท)
สอบถามคำให้การผู้ต้องหาเบื้องต้น รับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา