เปิดปฏิบัติการตรวจยึดทรัพย์ผู้ต้องหาเพิ่มอีกกว่า 309 ล้านบาท พร้อมสรุปสำนวนคดีทุจริตสหกรณ์พัทลุงส่งอัยการ

จากกรณีเมื่อวันที่ 24 ม.ค.65 ที่ผ่านมา กลุ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เป็นสมาชิกสหกรณ์จังหวัดพัทลุง ได้รวมตัวกันยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมจาก พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วย ผบ.ตร. ให้ช่วยติดตามคดีการทุจริตภายในสหกรณ์ออมทรัพย์จังหวัดพัทลุง ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ตำรวจและครอบครัวที่เป็นสมาชิกได้รับความเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก และคดีนี้ยังมีความสลับซับซ้อน แม้มีเจ้าหน้าที่หลายคนถูกพบว่ากระทำผิด แต่ยังสามารถทำงานในสหกรณ์ได้ ซึ่งอาจทำให้พยานหลักฐานต่างๆ สูญหายหรือถูกแก้ไขไปอีก ความเสียหายโดยรวมมีมูลค่ากว่า 1,500 ล้านบาท นั้น


จากกรณีดังกล่าว พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ได้สั่งการให้ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วย ผบ.ตร.เร่งสืบสวนและสอบสวนคดีที่เกิดขึ้น และได้ออกคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 293/2565 ลงวันที่ 22 มิ.ย.65 แต่งตั้งคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนตามคำสั่งดังกล่าว มีอำนาจในการสืบสวนคดีร่วมกันทุจริตเงินสหกรณ์ออมทรัพย์พัทลุง จำกัด โดยประสานความร่วมมือกับ พล.ต.ต.ปิยะพันธ์ ปิงเมือง เลขา ป.ป.ง., พ.ต.ท.ธีรพงษ์ ดุลยวิจารณ์ ผอ.คด.4 ปปง., นางชลธิชา ดาวเรือง ผอ.คด.3 ปปง. เจ้าหน้าที่ ปปง. เพื่อเร่งคลี่คลายคดีและติดตามทรัพย์สินที่ถูกประทุษร้ายกลับคืนให้กลุ่มผู้เสียหายและดำเนินคดีกลุ่มผู้ต้องหาในความผิดฐานฟอกเงิน


พฤติการณ์ในคดี กล่าวคือ เมื่อปี พ.ศ.2563 ทางสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจพัทลุง จำกัด ได้มีการเปลี่ยนตัวผู้จัดการสหกรณ์ , คณะกรรมการดำเนินการชุดใหม่ และได้จัดให้มีการตรวจสอบหลักฐานทางบัญชีของสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจพัทลุง พบความผิดปกติทางบัญชี การเงิน ซึ่งเกี่ยวข้องกับการทุจริตของคณะกรรมการดำเนินการ ฝ่ายจัดการเจ้าหน้าที่และบุคคลภายนอก จึงได้มีการร้องทุกข์ดำเนินคดีต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินการตามกฎหมาย และจากการสอบสวนพยานบุคคล และรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ปรากฏพบผู้ต้องหากับพวก ซึ่งเป็นคณะกรรมการดำเนินการ ผู้จัดการ เจ้าหน้าที่ ของสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจพัทลุง จำกัด และบุคคลภายนอก มีพฤติการณ์ร่วมกัน ตกลง วางแผน แบ่งหน้าที่กันทำ กระทำความผิดหลายกรรมหลายวาระต่างกัน เป็นเวลาต่อเนื่องกันมาเป็นเวลายาวนาน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2544 จนถึงปี พ.ศ.2563 โดยมีรูปแบบการกระทำความผิดและวิธีการ มากกว่า 10 วิธีการ เช่น การตกแต่งบัญชีของสมาชิกและไม่ได้เป็นสมาชิก การตกแต่งบัญชีลูกหนี้และลูกหนี้ที่ไม่มีตัวตน หรือตกแต่งบัญชีเกินความเป็นจริง การปลอมใบเสร็จรับเงิน เป็นต้น รวมมูลค่าความเสียหายประมาณ 1,489,572,427.14 บาท


ในคดีนี้ได้มีการดำเนินคดีกับผู้ต้องหาไปแล้วทั้งสิ้นจำนวน 27 ราย แบ่งเป็น

  • เป็นผู้จัดการและเจ้าหน้าที่สหกรณ์ฯ จำนวน 12 ราย (คดีอาญา)
  • เป็นข้าราชการตำรวจ อยู่ในราชการ จำนวน 6 ราย ขณะกระทำความผิดมีตำแหน่งเป็นประธานกรรมการ รองประธาน และเหรัญญิก ซึ่งมีอำนาจลงนามสั่งจ่ายเช็ค (คดีอาญา)
    ร.ต.ต.พันธ์ชัยฯ รอง สว.(ป) สภ.เมืองพัทลุง
    พ.ต.ท.วิเชียรฯ สว.กก.2 บก.ส.๑
    ด.ต.ชุณฐกฤตม์ฯ รอง สว.กก.สส.ภ.จว.พัทลุง
    ร.ต.อ.ธนเวทย์ฯ รอง สว.กก.สส.ภ.จว.พัทลุง
    ร.ต.ท.หญิง อรุชาฯ รอง สว.ธุรการ สภ.โคกชะงาย และ
    ด.ต.สุทัศน์ฯ ผบ.หมู่ ป.สภ.ควนขนุน
  • เป็นอดีตข้าราชการตำรวจ เกษียณแล้ว จำนวน 3 คน

ขณะกระทำความผิดมีตำแหน่งเป็นประธานกรรมการ รองประธาน และสมาชิกสมทบ (คดีอาญา) พ.ต.อ.ชำนาญฯ อดีต ผกก.กลุ่มงานสอบสวน ภ.จว.พัทลุง ร.ต.ต.ใจฯ อดีต ผบ.หมู่ ป.สภ.ควนขนุน และ ด.ต.วิชาฯ อดีต รอง สว.(ป) สภ.ศรีบรรพต เป็นสมาชิกสมทบ/ผู้นำเช็คไปขึ้นเงิน

  • บุคคลภายนอก จำนวน 5 คน (คดีอาญา)
    เป็นสมาชิกสมทบ/ผู้นำเช็คไปขึ้นเงิน/รับโอนเงิน จำนวน 3 ราย (นางสารภีฯ, นายศิรัฐโรจฯ และนางมณฑาฯ)
    เป็นโปรแกรมเมอร์ จำนวน 1 ราย (นายวิเชียรฯ)
    เป็นผู้ตรวจสอบบัญชีภาคเอกชน จำนวน 1 ราย (นางพรศรีฯ)
    โดยกล่าวหาว่า ลักทรัพย์ โดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป, ร่วมกันลักทรัพย์ที่เป็นของนายจ้างหรืออยู่ในความครอบครองของนายจ้าง, ร่วมกันปลอมเอกสารสิทธิ และใช้เอกสารสิทธิปลอม, ร่วมกันปลอมเอกสาร และใช้เอกสารปลอม
    และดำเนินคดีในความผิดเป็นเจ้าพนักงานทุจริตต่อหน้าที่
  • เป็นอดีตข้าราชการกรมส่งเสริมสหกรณ์ฯ เกษียณแล้ว จำนวน 1 ราย (ส่ง ปปช.)
    นางพัชราฯ ตำแหน่ง ผอ.ฯ ผู้ตรวจสอบบัญชีภาครัฐ
    ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 22 ส.ค.65 ได้มีปฏิบัติการเข้าตรวจค้น 74 เป้าหมายในพื้นที่ 9 จังหวัด เพื่อตรวจยึดและอายัดทรัพย์สินของกลุ่มผู้ต้องหาทั้งหมด ซึ่งสามารถยึดอายัดทรัพย์สินได้มูลค่ากว่า 694 ล้านบาท มีรายละเอียด ดังนี้
    1.อายัดบัญชี ผู้ต้องหาจำนวน 37 บัญชี เงินคงเหลือในบัญชี 4,369,867.76 บาท
    2.ตรวจยึดบ้านพร้อมที่ดิน 28 หลัง
    3.ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง 28 หลัง
    4.ห้องชุด 6 ห้อง
    5.ที่ดินเปล่า(โฉนด) 13 แปลง
    6.ที่ดินเปล่า (นส.3 ก.) 11 แปลง
    7.รีสอร์ต 1 แห่ง (หัวหิน)
    8.ตลาดสดนาโยง จ.ตรัง (6 ไร่)
    9.อายัดทุนเรือนหุ้นสหกรณ์ (ผตห.6ราย)
    10.รถยนต์ 19 คัน รถจักรยานยนต์ 12 คัน
    ต่อมาเช้าวันที่ 13 ก.ย.65 ได้เข้าตรวจค้นเพิ่มเติมอีก 25 จุด ในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี, นครศรีธรรมราช, ตรัง และพัทลุง สามารถยึดอายัดทรัพย์สินได้เพิ่มเติมอีกกว่า 309 ล้านบาท
    โดยทรัพย์สินที่สามารถติดตามยึดอายัดมาได้ในคราวนี้ ประกอบด้วย
  1. บ้าน จำนวน 7 หลัง โฉนดที่ดิน 5 แปลง (เพิ่ม)
  2. ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง จำนวน 5 จุด
  3. ที่ดินตามโฉนดที่ดิน จำนวน 18 จุด
  4. อายัดหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ มูลค่า 52,311,640 บาท
    รวมมูลค่าทรัพย์สินที่ถูกยึดอายัดในคราวนี้ 309,311,640 บาท

รวมมูลค่าทรัพย์สินตรวจยึดได้ทั้งหมด 1,003,753,140 บาท สำนวนการสอบสวนในคดีนี้ คณะพนักงานสืบสวนสอบสวนได้รวบรวมพยานหลักฐาน สอบปากคำพยานกว่า 959 ราย เอกสารในสำนวนมีมากกว่า 50,000 แผ่น พนักงานสอบสวนได้มีความเห็นสั่งฟ้อง ผู้ต้องหาทั้ง 26 รายตามฐานความผิดทุกข้อกล่าวหา สรุปสำนวนเตรียมเสนออัยการต่อไป ส่วนผู้ต้องหาอีก 1 ราย ซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่รัฐ ได้แยกทำสำนวนเสนอส่ง ปปช. เพื่อดำเนินการอีกส่วนหนึ่งแล้ว ในส่วนของทรัพย์สินที่มีการตรวจยึดอายัดทั้งหมดรวมกว่า 900 ล้านบาท ได้แยกสำนวนเป็นคดีฟอกเงินอีกส่วนหนึ่ง และจะเร่งสรุปสำนวนเสนออัยการในชั้นต่อไป