COFACT (ประเทศไทย) สสส. ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัด Girls In Tech: Detecthon ประเทศไทย เสริมพลังเยาวชนหญิงรับมือภัยไซเบอร์ สร้างเครือข่ายนักตรวจสอบข้อมูลลวง
เมื่อวันที่ 27-28 สิงหาคม 2565 ณ Samyan Co-op ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ กรุงเทพมหานคร กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี, สถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุด, ร่วมกับภาคีโคแฟค (ประเทศไทย) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมจัดงาน Girls In Tech: Detecthon ขึ้นภายใต้แนวคิด “เขาวานให้หนูเป็นสายลับ ภารกิจค้นหานักสืบหญิงรุ่นใหม่” โดยมีผู้เข้าร่วมซึ่งเป็นผู้หญิงอายุระหว่าง 15-20 ปี เข้าร่วมจำนวนกว่า 40 คน เพื่อฝึกภาคปฏิบัติเกี่ยวกับการค้นหาข้อมูลข่าวลวงและสร้างภูมิคุ้มกันผ่านการสร้างสรรค์เทคโนโลยีออกมาให้ได้ดีที่สุด
พล.ต.ต. ชูฉัตร ธารีฉัตร รองผู้บัญชากาตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของโครงการนี้ว่าเพื่อเพิ่มทักษะการค้นหา พิสูจน์ และรวบรวมพยานหลักฐานในเบื้องต้นจากแหล่งเปิด หรือ Open-Source Intelligence (OSINT) ซึ่งเป็นเครื่องมือและทักษะสำคัญสำหรับพวกเราเยาวชนรุ่นใหม่ ให้สามารถรู้วิธีการใช้เซิร์จเอนจิ้น โดยเฉพาะการค้นหาขั้นสูง เช่น ทวิตเตอร์และกูเกิลที่เป็นเครื่องมือที่มีเคล็ดลับในการค้นหาขั้นสูง อีกทั้งจะได้เรียนรู้และทำความรู้จักเครื่องมือดิจิทัลต่าง ๆ ที่ช่วยให้เข้าถึงฐานข้อมูลจำนวนมหาศาลบนโลกอินเทอร์เน็ต ช่วยในการหาข้อมูลเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริง เช่น การยืนยันความถูกต้องของรูปภาพและวีดีโอที่พบบนสื่อโซเชียล ดังนั้นการยืนยันข้อมูลด้วยวิธี OSINT จึงเป็นทักษะที่เยาวชนสามารถนำไปใช้เพื่อช่วยให้วิเคราะห์ที่มาของภาพหรือแหล่งข้อมูลต่าง ๆ ได้อย่างชาญฉลาดและมีประสิทธิภาพ
นางญาณี รัชต์บริรักษ์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ในปัจจุบันคนไทยต้องเผชิญกับสภาวะข้อมูลข่าวสารท่วมท้นจนไม่สามารถเชื่อได้ว่าข้อมูลไหนเป็นข้อมูลจริงกันแน่ โดยข้อมูลข่าวสารส่วนใหญ่ที่ถูกบิดเบือนจะเกี่ยวข้องกับประเด็นการเมือง สุขภาพ และภัยพิบัติ ซึ่งล้วนส่งผลต่อการรับรู้ของข้อมูลข่าวสาร โดยแบ่งเจตนาออกได้เป็น ข้อมูลที่เกิดจากความเข้าใจผิด ข้อมูลที่จงใจบิดเบือนด้วยแรงจูงใจทางการเมืองหรือธุรกิจ และข้อเท็จจริงแต่มีเจตนาไม่ดีในการใช้ ซึ่งเป็นปัญหาระดับโลกและระดับประเทศ จากการสำรวจสถานการณ์เด็กกับภัยออนไลน์ ประจำปี 2563 โดยศูนย์ประสานงานขับเคลื่อนการส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ พบว่าจากจำนวนกลุ่มตัวอย่างอายุ 12-18 ปี จำนวน 14,945 คน พบว่าร้อยละ 89 เชื่อว่าโลกออนไลน์มีภัยอันตรายหรือความเสี่ยง และร้อยละ 61 เชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จัดการได้ อีกร้อยละ 83 เชื่อว่าจะสามารถแนะนำช่วยเหลือเพื่อนเมื่อเกิดเหตุการณ์บนโลกออนไลน์ได้ ถึงแม้เด็กและเยาวชนในยุคดิจิทัลหรือที่เรียกว่าDigital Nativeจะมีความมั่นใจในเรื่องการใช้เทคโนโลยี แต่ก็เผชิญความเสี่ยงจากภัยออนไลน์ โดยไม่สามารถป้องกันหรือจัดการปัญหาได้เมื่อเกิดเหตุเนื่องจากยังขาดทักษะเท่าทันสื่อเป็นภูมิคุ้มกัน ซึ่งการรู้เท่าทันสื่อนั้นสำคัญและควรให้เด็กและเยาวชนเรียนรู้เพื่อป้องกันปัญหาต่างๆ เช่น การพูดคุยเรื่องเพศที่ไม่เหมาะสม หรือการล่อลวงเด็กเพื่อล่วงละเมิดทางเพศ เป็นต้น
สสส. ได้สนับสนุนภาคีเครือข่าย ในการพัฒนานักสื่อสารสุขภาวะ พัฒนานวัตกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงออนไลน์ การสื่อสารสาธารณะ การแก้ไขกฎหมายคุ้มครอง การพัฒนาแนวทางของสหวิชาชีพ และการส่งเสริมทุกภาคส่วนในสังคมได้ทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการ ส่งผลทำให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างครบวงจร
นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งโคแฟค (ประเทศไทย) กล่าวถึงปัญหาข่าวลวงในปัจจุบันว่า ปัจจุบันข่าวลวงได้แบ่งออกเป็นสองส่วน คือข่าวลวงที่ส่งผลทำให้เกิดปัญหาทางด้านสุขภาพ ซึ่งที่ผ่านมาโคแฟคจัดทำฐานข้อมูลและพัฒนาฐานข้อมูลให้ทันสมัยตลอดเวลา รวมถึงจัดทำกิจกรรมเพื่อสร้างความเข้าใจโดยรวมเกี่ยวกับข่าวลวงทางด้านสุขภาพ ส่งผลทำให้ผู้คนเข้าใจมากขึ้น เมื่อมีปัญหาข่าวลวงผู้คนก็สามารถมาตรวจสอบข่าวลวงได้ทาง Line: @Cofact ได้ตลอดเวลา
ในขณะเดียวกัน อีกปัญหาหนึ่งทำให้ส่งผลกระทบในระยะยาว และอาจจะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายก็คือ ปัญหาข่าวลวงเชิงอาชญากรรม ซึ่งส่งผลทำให้ผิดกฎหมายหรืออาจจะทำให้ผู้ที่แชร์บทความออกไปถูกดำเนินคดีได้เช่นกัน ซึ่งในส่วนนี้มีข่าวลวงที่เข้าข่ายค่อนข้างเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นข่าวลวงที่เชื้อเชิญให้มายืมเงิน หรือการล่อลวงต่างๆ ในส่วนนี้ต้องได้รับการแก้ไขปัญหาจากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการแจ้งความตำรวจ โดยมีกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีดูแลอยู่ อีกส่วนก็คือผู้ที่ใช้เทคโนโลยีเองก็สามารถเข้าไปตรวจสอบก่อนที่จะเชื่อได้ รวมถึงตระหนักและไม่เชื่อข้อมูลที่ไม่ไว้วางใจเด็ดขาด ก็จะสามารถป้องกันตนเองและสังคมโดยรวมได้
นางสันทนี ดิษยบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการ สถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยร้อยละ 69.5 สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ ซึ่งมากกว่าคนทั่วโลกเสียอีก และร้อยละ 94.2 ของเด็กไทยสามารถเข้าถึงได้โดยไม่จำกัดเวลา และใช้เวลามากกว่า 11 ชั่วโมงในการเข้าถึงระบบอินเตอร์เน็ต ซึ่งค่าอินเตอร์เน็ตในประเทศไทยค่อนข้างถูก จึงทำให้เราสามารถเข้าถึงได้ง่ายมากกว่าที่คิด ซึ่งส่งผลกระทบต่อการถูกล่อลวงหรือโดนโกงได้ง่าย นอกเหนือจากนี้ยังเกิดข่าวลวง ซึ่งถ้าหากเกิดการแชร์ออกไปก็อาจจะผิดกฎหมายได้ เช่น ข่าวลวงที่ทำให้เกิดความเดือดร้อนต่อสังคม หรือการส่งต่อภาพลามกก็ผิดกฎหมายได้เช่นกัน
นอกเหนือจากนี้ เด็กและเยาวชนหลายๆ คนพอเกิดปัญหาขึ้น ไม่ว่าจะโดนการล่วงละเมิดทางเพศ หรือโดนปัญหาอื่นๆ ก็ไม่กล้าแจ้งความ เนื่องจากไม่ได้มีความไว้วางใจในการทำหน้าที่ของตำรวจ รวมถึงการที่มีโอกาสสูงที่จะโดนปฏิเสธการแจ้งความ จนส่งผลไปถึงการรีบจบการดำเนินคดีที่สถานีตำรวจได้ง่ายดาย และส่งผลให้สภาพจิตใจของผู้เสียหายย่ำแย่ลงได้เช่นกัน
สถาบันนิติวัชร์ มีหน้าที่สร้างองค์ความรู้ในด้านกระบวนการยุติธรรม โดยนำความรู้ทางด้านวิชาการมาทำในเชิงภาคปฏิบัติ และส่งเสริมให้คนไทยเข้าใจกระบวนการยุติธรรม และส่งเสริมให้เกิดการแสดงความคิดเห็น โดยต้องอาศัยความร่วมมือในระดับชาติและนานาชาติ เพื่อทำให้กระบวนการยุติธรรมเกิดความเท่าเทียมให้ได้มากที่สุดนั่นเอง
พ.ต.อ. รุ่งเลิศ คันธจันทร์ ผู้กำกับกลุ่มงานต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศ กองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาญากรรมทางเทคโนโลยี กล่าวว่า ปัญหาการถูกล่วงละเมิดทางเพศในปัจจุบันยังคงรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะบนโลกออนไลน์ที่พบการล่อลวงเป็นจำนวนมาก ในขณะเดียวกันผู้เสียหายก็ไม่กล้าแจ้งความดำเนินคดี แม้กระทั่งบางทีคนที่แชร์ก็ไม่ทราบว่าการส่งต่อรูปลามกก็ผิดกฎหมายได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งทางกองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาญากรรมทางเทคโนโลยี พยายามสร้างความเข้าใจและส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักและเข้าใจในการใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันการถูกล่อลวง ส่งผลต่อการถูกล่วงละเมิดทางเพศในอนาคต
นอกเหนือจากนี้ กองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาญากรรมทางเทคโนโลยียังเน้นการสร้างความรู้ และส่งเสริม คุ้มครองผู้เสียหาย และดำเนินการเชิงรุกเพื่อทำให้เด็ก เยาวชน และประชาชนได้เรียนรู้และเมื่อเกิดปัญหาก็สามารถดำเนินการร้องเรียนหรือแจ้งความได้ทันที ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาที่ดีนอกเหนือจากทางตำรวจแล้ว ประชาชนหากมีอะไรที่สงสัยหรือรู้สึกว่าเป็นการล่อลวงเยาวชน ก็สามารถแจ้งมาที่ตำรวจได้ทันที และงดการส่งต่อข้อมูล ซึ่งอาจจะทำให้เกิดการเข้าใจผิด หรืออาจจะผิดกฎหมายด้วยเช่นกัน
ซึ่งในกิจกรรมก็มีการเวิร์คช็อป โดยเริ่มต้นจากการสร้างความเข้าใจในการใช้ Design Thinking โดยนางสาวสิตตา มารัตนชัย กรรมการผู้จัดการ บจก.โกลบอล อิมแพ็คท์ คอนซัลติ้ง ซึ่งได้ให้ข้อมูลถึงการพัฒนาแนวความคิดแบบ Design Thinking ว่าการแก้ไขปัญหาต้องคิดแบบหลากหลายมิติ หลากหลายมุม เพราะทุกปัญหามีความซับซ้อนมากกว่าแค่มุมเดียว ซึ่งต้องใช้วิธีการดำเนินการคิดแบบทีละมิติ ทีละมุม และอย่าคิดสองหมวดพร้อมกัน แต่จงคิดทีละหมวด โดยควรทำให้เข้าใจปัญหา และสามารถระบุปัญหาได้ หลังจากนั้นจึงมาสร้างไอเดีย ออกแบบ และทดสอบการแก้ไขปัญหา เพื่อทำให้เกิดการแก้ไขปัญหาที่สมบูรณ์แบบมากที่สุด โดยการแก้ไขปัญหาควรคำนึงถึงการใช้งานจริงได้ด้วยเช่นกัน
นอกเหนือจากนี้ ยังมีกรณีศึกษาจริงจากผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการล่วงละเมิดทางเพศ และเกิดปัญหาจากการฟ้องร้อง เนื่องจากการเก็บหลักฐานที่ไม่สมบูรณ์ ทำให้เกิดการฟ้องร้องกันไปมาขึ้น และทำให้ผู้เสียหายเกิดปัญหาขึ้นในการดำเนินคดี ซึ่งจากกรณีศึกษาเหล่านี้ทำให้ผู้ที่เข้าร่วมอบรมในครั้งนี้สามารถนำไปปรับใช้ในการทำ Detecthon = (Detective + Marathon) ครั้งนี้และยังเป็นความรู้ที่นำไปปรับใช้ได้อีกด้วย
ยังมีการแนะนำเครื่องมือสำหรับใช้ในการสืบสวนและรวบรวมข้อมูลจากแหล่งข้อมูลเปิด โดย พ.ต.ท. ธนธัส กังรวมบุตร สว.กลุ่มงานสนับสนุนทางไซเบอร์ กองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ซึ่งได้ให้ข้อมูลว่าในปัจจุบันนับตั้งแต่ 1 มีนาคม – 31 กรกฎาคม 2565 พบการแจ้งความทางออนไลน์มากกว่า 66,000 เรื่อง และเป็นคดีออนไลน์กว่า 59,000 เรื่อง โดยเป็นเรื่องหลอกให้ทำงานออนไลน์มากที่สุด ร้อยละ 13.16 รองลงมาคือหลอกให้กู้แล้วไม่ได้เงิน ร้อยละ 10.83 และหลอกให้ลงทุนในรูปแบบต่างๆ ร้อยละ 8.35 นอกจากนี้ยังพบว่ามีการอายัดบัญชีมากกว่า 2,200 ล้านบาท แต่สามารถนำเงินมาคืนได้เพียง 121 ล้านบาทเท่านั้น
ในช่วงบ่ายยังมีการเรียนรู้ด้านการนำเสนออย่างมีประสิทธิภาพ โดย ร.ต.อ.หญิง วรัญญา มรรคนันท์ ผู้วิเคราะห์ ศูนย์อำนวยการกลาง ฝ่ายรักษาความปลอดภัย ธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งได้กล่าวถึงประโยชน์ของการทำ Data Visualization ให้ข้อมูลถูกย่อยง่าย จะทำให้ผู้อ่านสามารถเข้าใจข้อมูลได้ง่ายขึ้น มองเห็นข้อมูลเชิงลึกได้รวดเร็ว เห็นข้อเปรียบเทียบของข้อมูล ช่วยประหยัดเวลาในการตีความข้อมูล และเห็นจุดที่น่าสนใจของข้อมูลได้ดีอีกด้วย
นอกจากนี้ยังมีการอบรมเกี่ยวกับการเก็บพยานหลักฐานจาก พ.ต.ต. ณัฐพงศ์ เผือกเนียม สว.กลุ่มงานต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเตอร์เน็ต กองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยได้กล่าวว่าการก่อเหตุของคนร้ายในปัจจุบันจะใช้วิธีการล่อลวง ชักจูงให้เหยื่อทำตามในลักษณะต่างๆ เช่น ถ่ายคลิปลับ ให้เปลื้องผ้า ให้สำเร็จความใคร่ด้วยตนเองในวิธีต่างๆ และ 4 ข้อที่คนร้ายจะใช้ล่อลวงคือ หลอกจะให้เงิน เชิญเป็นดารา ชวนให้แก้ผ้า และท้าให้เปิดกล้อง ถ้าในกรณีที่ตกเป็นเหยื่อแล้ว ให้ตั้งสติ และห้ามลบประวัติการคุย ห้ามลบสื่อสังคมออนไลน์ที่โดนหลอกลวง ห้ามแจ้งคนร้ายว่าแจ้งตำรวจแล้ว และอย่าปกปิดผู้ปกครอง
หลังจากนั้นจึงเข้าสู่ช่วงการแจกโจทย์ ดำเนินการ Detecthon และนำเสนอในวันถัดมา โดยแต่ละกลุ่มก็สามารถสรรสร้างเนื้อหาและการตรวจสอบจากข้อมูลข้อเท็จจริง เช่น การตรวจสอบข้อมูลจากพยานหลักฐานผ่านแหล่งข้อมูลเปิด โดยโจทย์ที่ได้รับคือการหลอกให้ขายสินค้าทางออนไลน์ ทำให้สูญเงินและไม่ได้รับของ
ในช่วงบ่ายของวันที่สอง (28 สิงหาคม 2565) คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญจำนวนห้าคนมาทำหน้าที่ตัดสิน โดยร่วมให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการทำงาน ได้แก่ พ.ต.อ. รุ่งเลิศ คันธจันทร์ ผู้กำกับกลุ่มงานต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศ กองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาญากรรมทางเทคโนโลยี ได้ให้ข้อมูลว่า ทุกคนสามารถทำผลงานได้ดีมากๆ ในระยะเวลาเพียงแค่ 2 วันเท่านั้น และยังอยากให้ทุกคนรู้เท่าทันเกี่ยวกับการล่อลวงเยาวชน ซึ่งปัจจุบันมีอัตราที่สูงมากขึ้นและถ้าเกิดกับคนรอบตัวก็ช่วยกันเตือน เพื่อจะไม่ให้เกิดเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขั้น นอกจากนั้นคุณธาม ภัคพงษ์พันธุ์ชัย อัยการประจำสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานอัยการสูงสุด ได้ให้ข้อเสนอแนะว่าในช่วงที่ผ่านมีมีการตรวจสอบที่ดีมากๆ แต่ยังอาจจะไม่ลึกพอให้สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ ซึ่งควรที่จะใช้ความลึกและหลากหลายมิติของข้อมูลในการพัฒนาและหาต้นตอที่เกิดขึ้น เพื่อทำให้น่าเชื่อถือและสร้างความไว้วางใจในข้อมูลได้จริงๆ หรือแม้กระทั่งชื่อย่อของหน่วยงานที่อาจจะมีความซับซ้อนด้วยเช่นกัน ที่สำคัญต้องตรวจสอบเพื่อให้แน่ใจว่าเป็นข้อมูลจริง
ในขณะที่ คุณธนภณ เรามานะชัย Teaching Fellow, Google News Lab กล่าวว่า ในการตรวจสอบหาข้อมูลนั้นยังใช้เพียงแค่ Facebook ซึ่งอาจจะทำให้เกิดการผิดเพี้ยนของข้อมูลได้ และทำให้เกิดความไม่น่าเชื่อถือเพียงเพราะการหาข้อมูลเพียงแค่มิติเดียว อยากให้หาข้อมูลให้ครอบคลุมและหลากหลายมากขึ้นได้ รวมถึงการตรวจสอบข้อมูลผ่านการตรวจสอบสื่อก่อนว่ามีการนำเสนอแบบไหนบ้าง เป็นต้น ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของคุณมณธิรา รุ่งจิตรานนท์ นักข่าวตรวจสอบข้อเท็จจริงในประเทศไทย สำนักข่าว AFP ที่กล่าวว่า ควรใช้รูปภาพในการค้นหาข้อมูลผ่าน Google Image ได้อีกทางหนึ่ง เพื่อแก้ไขปัญหาการนำเสนอและค้นหาข้อมูลเพียงแค่ด้านเดียว หรือการค้นหาต้นตอในการนำเสนอข่าวให้ชัดเจนและหาต้นตอแรกสุดให้เจอ รวมถึงควรเชื่อในสำนักข่าว (คนผลิตข่าว) มากกว่าบริษัทข่าว (คนซื้อข่าว) เพราะมีแนวโน้มของความเที่ยงตรงมากกว่า
นอกเหนือจากนี้ คุณพีรพล อนุตรโสตถิ์ ผู้จัดการศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย อสมท กล่าวว่า จากการนำเสนอของน้อง ๆ ที่ผ่านมานั้น ข้อมูลบางอย่างอาจจะเชื่อง่ายมากจนเกินไป จะต้องคิดว่าข้อมูลไหนที่ใช้ได้และสามารถเปิดเผยได้ น้องบางคนอาจจะไม่ทราบว่ามีข้อมูลบางอย่างที่เปิดเผยไม่ได้ เนื่องจากเป็นข้อมูลส่วนบุคคล และอาจจะต้องอธิบายในการหาข้อมูลและใช้เครื่องมือให้เหมาะสมเช่นกัน ที่สำคัญคือต้องตรวจสอบข้อมูลให้ชัดเจน และเข้าใจง่าย อาจจะต้องให้น้อง ๆ ตรวจสอบและลองนำเสนอกันเองให้แน่ใจไว้ก่อนที่จะนำเสนอจริงอีกครั้ง นอกจากนี้การมีแหล่งเยอะก็ยิ่งทำให้ความซับซ้อนของเนื้อหามีมากขึ้น และส่งผลต่อการตรวจสอบข่าวลวง จึงอาจจะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือด้วยเช่นเดียวกัน อาจจะต้องแยกข้อมูลออกมาให้ชัดเจน เพื่อตามสืบเรื่องราวและสรุปได้ชัดเจน
และทีมที่ได้รางวัลชนะเลิศในโครงการ Girls In Tech: Detecthon คือทีมที่ 1 ซึ่งนางสาวอิงฟ้า ชัยยุทธศุภกุล นักเรียนจากโรงเรียนสาธิตสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ตัวแทนทีมที่ชนะเลิศ กล่าวว่า ตนเองรู้สึกตื่นเต้นและรู้สึกดีใจที่ตนเองได้รับรางวัลชนะเลิศ และพอสอบถามถึงการให้คะแนนก็ได้ทราบว่าเขาหาวิธีการนำเสนอว่าถูกต้องมากน้อยแค่ไหน และมีความหลากหลายแค่ไหน ซึ่งเหตุผลที่ทีมเราชนะเพราะเราหาได้ลึกกว่าและหลากหลายกว่า นอกจากนี้ยังรู้สึกสนุกกับการเข้าร่วมค่ายนี้ เราได้รับการสนับสนุนจากค่ายค่อนข้างมาก ทำให้เราสามารถมีเวลาในการคิดและสร้างสรรค์ได้เต็มที่ และทางเพื่อนๆ เอง ด้วยความที่เป็นผู้หญิงล้วนและอายุที่ไล่เลี่ยกัน ทำให้เราสามารถค้นหาข้อมูลและถกเถียงกันได้ดีขึ้น จนนำไปสู่การหาแนวทางในการพัฒนาได้ต่อไปอีกด้วย
ในขณะที่นางสาวอารียา นาแพง นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฎสุราษฎร์ธานี ตัวแทนผู้ที่เข้ามาร่วมอบรมในครั้งนี้ กล่าวถึงความรู้สึกที่ได้มาร่วมกิจกรรมว่า ตนเองรู้สึกตื่นเต้นและรู้สึกถึงความแปลกใหม่ที่ไม่เคยเจอมาก่อน ทุกๆ อย่างในค่ายนั้นเจ๋งและตัวงานมีการวางแผนให้ครอบคลุมกับตัวน้องทุกๆ คนมาก และพอถึงกระบวนการหาข้อมูลนั้นทางค่ายได้มีการให้เตรียมตัวโดยวิทยากร จึงทำให้สามารถเข้าใจได้ง่ายและนำไปใช้ได้จริง นอกจากนี้เพื่อนๆ ในทีมยังให้การต้อนรับที่ดีและช่วยเหลือในทีมกันได้ดีมากเลยทีเดียว มีการแบ่งงานได้ดีเลยทีเดียว จึงทำให้ตัวงานเป็นไปด้วยความราบรื่น
ทุกท่านสามารถติดตามและตรวจสอบข่าวลวง หากไม่แน่ใจในข่าวไหนนำไปตรวจสอบได้ทาง www.cofact.org หรือ Line @cofact และติดตามข่าวสารได้ที่เพจ Facebook: Cofact โคแฟค