พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ สั่งการชุดสืบสวนสอบสวน เดินหน้าแจ้งข้อกล่าวหากลุ่มผู้ต้องหาลักลอบเติมน้ำมันเขียว

ตามนโยบายของรัฐบาลโดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ ได้มอบหมายให้ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นประธานคณะทำงานเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบ ควบคุม เฝ้าระวังการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพื่อขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งได้แต่งตั้งชุดปฏิบัติการตรวจสอบและเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาการประมง เพื่อการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวและประสานการปฏิบัติร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตามที่ทราบแล้ว นั้น


ตามที่ทราบกันว่า โครงการน้ำมันเขียว เป็นโครงการที่ภาครัฐจัดน้ำมันดีเซลที่เติมสารสีเขียวเพื่อให้แยกแยะจากน้ำมันบนฝั่งได้ และได้รับยกเว้นภาษีสรรพสามิต ทำให้มีราคาถูกกว่าน้ำมันดีเซลบนบกประมาณลิตรละ ๗ บาท เพื่อลดภาระต้นทุนการทำประมงให้กับชาวประมงพาณิชย์ ตั้งแต่วันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๕๕ เป็นต้นมา รวมระยะเวลา ๑๐ ปี ถึงปัจจุบัน ต่อมารัฐบาลได้มีการปฏิรูปการทำประมงของประเทศไทยทั้งระบบ ทำให้จำนวนเรือประมงพาณิชย์ที่ได้รับสิทธิเติมน้ำมันเขียวลดลงจาก ๑๐,๔๕๙ ลำ ในปี ๒๕๕๙ เหลือ ๘,๔๔๕ ลำ ในปี ๒๕๖๔ แต่ทว่าขณะที่เรือประมงพาณิชย์ที่เติมน้ำมันเขียวมีจำนวนลดลง แต่ปริมาณการจำหน่ายน้ำมันเขียวกลับมิได้ลดลงตามสัดส่วนจำนวนเรือ กลับคงที่อยู่ประมาณปีละ ๖๑๐ ล้านลิตร คิดเป็นภาษีที่รัฐบาลยกเว้นถึงปีละ ๔,๒๗๐ ล้านบาท
เพื่อสนับสนุนต้นทุนการประกอบอาชีพให้เรือประมงพาณิชย์ จนถึงปัจจุบัน

พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ ผู้ช่วย ผบ.ตร. จึงได้สั่งการให้ตำรวจน้ำร่วมกับ กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร เข้าตรวจสอบปริมาณการรับน้ำมันทั้งระบบตั้งแต่ต้นทางจากโรงกลั่น ไปยังเรือขนส่งน้ำมัน  และเรือสถานีบริการ (Tanker) ซึ่งในปี พ.ศ.๒๕๖๔ พบว่ามียอดปริมาณการรับน้ำมันจากต้นทางโรงกลั่น จำนวน ๖๒๐ ล้านลิตรเช่นเดิม  ซึ่งจากการตรวจสอบทั้งสามหน่วยงาน จึงทราบว่าปริมาณน้ำมันจากโรงกลั่น ไปยังเรือขนส่งน้ำมัน และส่งต่อไปที่เรือสถานีบริการ (Tanker) ครบถ้วนสมบูรณ์ แต่ตรวจสอบพบความผิดปกติจากเรือสถานีบริการ (Tanker) ไปยังเรือประมง ซึ่งพบว่ามีการลักลอบเติมน้ำมันเขียวนี้ไปยังเรือทุกประเภทรวมถึงเรือที่ไม่มีสิทธิเติมน้ำมันเขียว ขณะนี้อยู่ในระหว่างการตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้ง

จากการตรวจสอบข้อมูลเรือประมงที่มีสิทธิเติมน้ำมันเขียว พบข้อมูลว่า มีเรือที่ไม่มีคุณสมบัติตามประกาศกรมศุลกากร แต่สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ออกรหัสและรับรองให้เติมน้ำมันเขียว ถึง ๗๙๑ ลำ ประกอบด้วย เรือประมงพาณิชย์ไม่มีทะเบียนเรือ เรือประมงพาณิชย์ไม่มีใบอนุญาตประมงพาณิชย์จากกรมประมง เรือประมงพาณิชย์ที่แจ้งจมหรือทำลายไปแล้ว เรือประมงพาณิชย์ที่เปลี่ยนประเภทไปเป็นเรือบรรทุกสินค้า เรือลากจูง และเรือประมงพื้นบ้านที่มีขนาดถังน้ำมันตั้งแต่ ๑,๕๐๐ – ๑๐,๐๐๐ ลิตร ซึ่งเกินกว่าขนาดตัวเรือที่สามารถบรรทุกได้

เมื่อนำรายชื่อเรือพร้อมรหัสเติมน้ำมันเขียวจากสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ไปสอบยืนยันกับข้อมูลการเติมน้ำมันเขียวที่ตำรวจน้ำได้รับจากเรือสถานีบริการ (Tanker) พบว่า มีเรือประมงที่ใช้รหัสของเรือประมงที่ขาดคุณสมบัติข้างต้น “ไปเติมน้ำมันเขียว” จำนวนหลายลำ และยิ่งไปกว่านั้นยังพบว่ามีเรือประมงอีกจำนวน ๕๙๙ ลำ ซึ่งขาดคุณบัติข้างต้น แต่มีรหัสเติมน้ำมันที่สมาคมการประมงแห่งประเทศไทยออกและรับรองให้ ซึ่งยังไม่ได้ใช้บริการ ทำให้จำนวนเรือที่เกี่ยวข้องในการกระทำผิด “เติมน้ำมันเขียว” โดยขาดคุณสมบัติตามประกาศกรมศุลกากร ซึ่งออกตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๕๖๐ มีจำนวนถึง ๑,๓๙๐ ลำ

พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วย ผบ.ตร. จึงบูรณาการร่วมกัน ระหว่าง กรมสรรพสามิต กรมศุลกากร กรมประมง กรมเจ้าท่า ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) และเจ้าหน้าที่ตำรวจ เข้าดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการลักลอบเติมน้ำมันเขียวโดยผิดกฎหมายทั้งหมด ประกอบด้วย

๑. สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เนื่องจากให้การรับรองเรือประมงพื้นบ้าน หรือเรือประมงประเภทอื่นๆ ที่ขาดคุณสมบัติตามประกาศของกรมศุลกากร ฉบับที่ ๖๘/๒๕๖๑

๒. เจ้าของเรือประมงที่ขาดคุณสมบัติ แต่ได้รับประโยชน์จากการรับรองของสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย

๓. ผู้ควบคุมเรือประมง และคนประจำเรือ ที่นำเรือไปเติมน้ำมันเขียวในเขตต่อเนื่อง

๔. เรือสถานีบริการน้ำมัน (Tanker) และบริษัทผู้ให้บริการ

โดยจะมีการเรียกกลุ่มผู้ต้องหามาแจ้งข้อกล่าวหาให้ทราบ ณ สโมสรตำรวจ ระหว่างวันที่ ๒๙ – ๓๑ ส.ค.๖๕ โดยจะมีการดำเนินคดีในความผิด ดังนี้

โดยผู้ที่จะเข้ามารับทราบข้อกล่าวหา คดีน้ำมันเขียว มีบริษัท จำนวน 5 ราย ห้างหุ้นส่วนจำกัด 2 ราย บุคคลธรรมดา จำนวน 6 ราย กรรมการของบริษัท จำนวน 7 ราย ผู้ควบคุมเรือหรือไต๋เรือ 32 ราย

๑. พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.๒๕๖๐ มาตรา ๑๘๙ ฐานความผิด ขนถ่ายน้ำมันในเขตต่อเนื่องโดยไม่มีเหตุสมควร หรือไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ มีโทษจำคุกไม่เกิน ๑ ปี หรือปรับไม่เกิน ๕ หมื่นบาท หรือปรับเป็นเงินสองเท่าของราคาน้ำมันที่อยู่ในเรือ หรือทั้งจำทั้งปรับ

๒. พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.๒๕๖๐ มาตรา ๒๐๓ ฐานความผิด ครอบครองน้ำมันที่มิได้เสียภาษี หรือเสียภาษีไม่ครบถ้วน มีโทษปรับสองถึงสิบเท่าของค่าภาษี

๓. พ.ร.ก.การประมง พ.ศ.๒๕๕๘ มาตรา ๑๖๖ ผู้สนับสนุนหรือได้รับผลตอบแทนจากการทำประมง IUU ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดนั้น

๔. กฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นรายคดี เช่น การแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน เป็นต้น

พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า หลังจากที่ได้มีการดำเนินการแก้ไขปัญหาการลักลอบเติมน้ำมันเขียวโดยผิดกฎหมายนั้น ก็ได้มีการตรวจสอบข้อมูลโดยละเอียดเพื่อจะรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องในภาพรวมทั้งหมด เนื่องจากเป็นการกระทำผิดที่ส่งผลเสียต่อประเทศเป็นอย่างมาก ทั้งส่งผลกระทบต่อการเก็บภาษีของรัฐ ที่ควรจะได้รับปีละ ๔,๒๗๐ ล้านบาท หรือ ๒๕,๖๒๐ ล้านบาท ตั้งแต่ปี ๒๕๕๕ – ๒๕๖๔ และยังส่งผลต่อภาพลักษณ์ของการทำประมงของประเทศไทยอีกด้วย นานาประเทศอาจมองว่าประเทศไทยไม่มีความจริงใจในการป้องกันและปราบปรามการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU Fishing) ซึ่งการประเมินโดยสหภาพยุโรปนั้นใกล้เข้ามาแล้ว จึงต้องมีการดำเนินการตามกฎหมายโดยเด็ดขาด ซึ่งจะช่วยให้พี่น้องชาวประมงที่ประกอบอาชีพโดยสุจริตได้เติมน้ำมันเขียวตามปกติ และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับการทำประมงของไทย เป็นการแสดงออกถึงความมุ่งมั่นที่จะปราบปราบการทำประมงผิดกฎหมายของไทยอย่างต่อเนื่อง

ในการนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอความร่วมมือพี่น้องสื่อมวลชน ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชน                ได้ทราบถึงการดำเนินการและการกระทำผิดที่เกี่ยวข้องกับการประมงดังกล่าว เพื่อให้ประชาชนโดยทั่วไปได้ทราบถึงลักษณะการทำประมงที่เป็นความผิดตามกฎหมาย นอกจากนี้หากประชาชนพบเห็นการกระทำผิดในลักษณะดังกล่าว    สามารถแจ้งข้อมูลมายัง ศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง     สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศพดส.ตร.) โดยตรง ช่องทางสายด่วน 1599 หรือ www.humantrafficking.police.go.th หรือ ผ่านช่องทางเฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/TICAC2016 หรือ LineOA: @HUMANTRAFFICKTH หรือ TWITTER: @safe_dek หรือช่องทางใหม่ล่าสุดคือ การสแกน QRCODE  เพื่อกรอกแบบฟอร์มในการแจ้งเหตุและเบาะแสการกระทำผิดดังกล่าวเพื่อแจ้งเบาะแสในการปราบปรามการกระทำผิดต่อไป