ผู้ช่วย ผบ.ตร. เป็นประธานเปิดฝึกอบรมให้ความรู้การสืบสวนทางเทคโนโลยีในการแก้ปัญหาค้ามนุษย์ให้กับเจ้าหน้าที่ TICAC

วันนี้ (24 ส.ค.65) เวลา 08.30 น. พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วย ผบ.ตร. ได้เดินทางไปเป็นประธานเปิดการฝึกอบรมในโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการสืบสวนเชิงนิติวิทยาศาสตร์ทางคอมพิวเตอร์ของชุดปฏิบัติการปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต สำนักงานตำรวแห่งชาติ (TICAC) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 24 – 26 ส.ค.65 ณ โรงแรมรามา การ์เด้นส์ กรุงเทพฯ โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในชุดปฏิบัติการ พนักงานสอบสวน รวมทั้งเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานอื่นๆ ที่ทำหน้าที่ในทีมสหวิชาชีพ ร่วมเข้ารับการฝึกอบรมในโครงการดังกล่าว

โดยจุดประสงค์ของการจัดการฝึกอบรมในครั้งนี้ เพื่อพัฒนาความรู้ความเข้าใจในการสืบสวนทางเทคโนโลยีที่มีความจำเป็นในการปราบปรามอาชญากรรมเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กและเยาวชนทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งในปัจจุบันอาชญากรรมในรูปแบบดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในหลายพื้นที่และทวีความรุนแรงเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตและสื่อสังคมออนไลน์ ปัญหาดังกล่าวส่วนหนึ่งเกิดจากความซับซ้อนภายใต้การพัฒนาที่ก้าวกระโดดของเทคโนโลยีสารสนเทศ เนื่องจากสังคมยุคใหม่ได้ก้าวไปสู่ยุคข้อมูลดิจิทัลเต็มตัว จึงส่งผลให้คนร้ายพัฒนารูปแบบและวิธีการก่อเหตุโดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสมัยใหม่เป็นเครื่องมือก่ออาชญากรรมที่เป็นการล่อลวงและประทุษร้ายทางเพศต่อเด็กและเยาวชน

สื่อสังคมออนไลน์หรือโซเชียลมีเดียเข้ามามีบทบาทสำคัญกับการใช้ชีวิตประจำวันของคนในสังคมมากขึ้นและการเข้าถึงอย่างง่ายดายบนแพลตฟอร์มที่หลากหลาย ทั้งทางโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ปัจจุบันคนร้ายมักเลือกใช้สื่อสังคมออนไลน์ ทั้งแอพพลิเคชั่น Line Facebook และ Twitter ในการกระทำความผิดต่อเด็กและเยาวชนในหลากหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการคุกคามทางเพศ การเผยแพร่สื่อลามกอนาจาร การข่มขู่หลอกลวงต่างๆ ซึ่งการกระทำผิดผ่านช่องทางอินเตอร์เน็ตนั้น การนำตัวผู้กระทำความผิดมารับโทษเป็นเรื่องที่ยากลำบากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากการสืบค้นหาตัวผู้กระทำผิดมีความสลับซับซ้อน ดังนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับการเพิ่มพูนความรู้และทักษะด้านการสืบสวนเชิงนิติวิทยาศาสตร์ทางคอมพิวเตอร์ (Computer Forensic Investigation) เพื่อนำมาประยุกต์ร่วมกับเทคนิคการสืบสวนพื้นฐาน ซึ่งจะก่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อการควบคุมปัญหาอาชญากรรมที่เกิดขึ้นบนเครือข่ายออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งสามารถรักษาความน่าเชื่อถือของพยานหลักฐานที่นำไปพิสูจน์การกระทำความผิดในชั้นศาลได้

อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการจัดการฝึกอบรมในครั้งนี้ ก็เพื่อเป็นการยกระดับความน่าเชื่อถือและองค์ความรู้ของเจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่ในการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ของประเทศไทยในระดับสากล เป็นหนึ่งในวิธีการแก้ไขปรับปรุงตามข้อเสนอแนะจากการทำ TIPS Report ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 2 เรื่องการดำเนินคดี (Protection) มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพในการอำนวยความยุติธรรมทางอาญา
พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า การจัดการฝึกอบรมในครั้งนี้ เป็นการยกระดับความรู้ความสามารถของเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการ พนักงานสอบสวน หรือสหวิชาชีพ ที่จำเป็นจะต้องมีความรู้พื้นฐานที่ดีในการสืบสวนข้อมูลทางคอมพิวเตอร์ ซึ่งหลังจากที่เจ้าหน้าที่เหล่านี้ผ่านการฝึกอบรมนี้ไปแล้ว ก็จะสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นไปตามหลักสากลมากขึ้น เป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ และช่วยทำให้ภาพลักษณ์ในด้านการดำเนินการตามกฎหมายของไทยดูดีมากขึ้น ตามคำแนะนำของสหรัฐอเมริกาในการทำ TIPS Report ในปีที่ผ่านมา