จากกรณีที่ประเทศไทยได้ถูกจัดอันดับการรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ประจำปี 2565 หรือ TIP Report (Trafficking in Persons Report 2022) โดยยกระดับประเทศไทยจาก “เทียร์ 2 ที่ต้องจับตามอง” (Tier 2 Watch List) เป็น Tier 2 ซึ่งได้แสดงให้เห็นถึงความพยายามในการบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ทำให้ประเทศไทยมีพัฒนาการที่ดี และขยับระดับที่ดีขึ้นจากปีที่ผ่านมา และยังมีความพยายามแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการค้ามนุษย์อย่างจริงจังในทุกภาคส่วน ปัญหาการบังคับใช้แรงงานและแรงงานข้ามชาติในภาคการประมง รวมทั้งปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ตามที่ทราบแล้ว นั้น
ในการนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย เพื่อแก้ไขปัญหาการลักลอยทำประมงผิดกฎหมาย (IUU Fishing) และการบังคับใช้แรงงานในภาคการประมง โดยมี พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วย ผบ.ตร. เป็นประธานคณะทำงานเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบ ควบคุม เฝ้าระวังการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพื่อขับเคลื่อนนโยบาย บังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาการประมง และประสานการปฏิบัติร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ได้สั่งการให้ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร./ผอ.ศพดส.ตร. และ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วย ผบ.ตร./รอง ผอ.ศพดส.ตร./รองประธานอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) อย่างเร่งด่วน
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 27 ก.ค.65 ที่ผ่านมา คณะทำงานติดตามสถานการณ์ ควบคุม เฝ้าระวังการทำประมง และแรงงานในภาคประมงฯ ได้ออกปฏิบัติการ “Air Land Sea” เป็นปฏิบัติการในการตรวจสอบการทำประมงโดยผิดกฎหมายของเรือประมง ซึ่งที่ผ่านมามีการตรวจพบเรือประมงที่มีการดัดแปลงอวนลาก ทำให้ตาอวนมีขนาดเล็กลง เพื่อให้สามารถดักจับปลาขนาดเล็กได้ ซึ่งการใช้อวนขนาดดังกล่าว ผิดเงื่อนไขจากที่ได้รับอนุญาต และเป็นการกระทำความผิดตามกฎหมาย
จากกรณีดังกล่าว พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ ฯ จึงได้สั่งการให้ พล.ต.ต.พนัญชัย ชื่นใจธรรม รอง ผบช.ภ.1 ร่วมกับ กรมเจ้าท่า กรมประมง ศรชล. ตำรวจน้ำ พร้อมชุดปฏิบัติการคณะทำงานเพิ่มประสิทธิภาพ ฯ ออกตรวจสอบเรือประมงอวนลากคู่ที่ ต.แสมสาร อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี พบเรือที่ใช้อวนมีลักษณะผิดไปจากเงื่อนไขในใบอนุญาต
โดยพบที่ จ.สมุทรสาคร จำนวน 4 ลำ ประกอบด้วย เรือ ฮ.ธวัชชัยนาวี 3 , ฮ.ธวัชชัยนาวี 4 , ฮ.สินธุ์ชัยนาวี 8 และ ฮ.สินธุ์ชัยนาวี 9 โดยตรวจพบที่บริเวณท่าเทียบเรือศาลเจ้าปุ้นเถ้ากง ถ.เจษฎาวิถี ต.มหาชัย อ.เมืองสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร
และที่ จ.ชลบุรี อีกจำนวน 4 ลำ ประกอบด้วย เรือ ส.ตะวัน 17, ส.ตะวัน 18, ส.ตะวัน 23 และ ส.ตะวัน 24 ตรวจพบที่บริเวณท่าเรือคณาศรีนุวัติ ต.แสมสาร อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี
โดยเรือประมงทั้งหมดจะถูกดำเนินคดีฐาน ดัดแปลงเครื่องมือประมงให้ผิดไปจากลักษณะของเครื่องมือที่ระบุไว้ในใบอนุญาต ตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 มาตรา 42 และ มาตรา 132 มีโทษปรับตั้งแต่ 1 แสนบาท ขึ้นอยู่กับขนาดเรือ ซึ่งพบว่ามีเพียง 131 ลำ ที่จะถูกตรวจสอบ จาก 10,0000 ลำ เทียบเป็น 1.31 %
พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า ปัจจุบันการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายในประเทศไทย ยังคงมีการตรวจสอบการทำประมงของเรือประมงไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นทำความเข้าใจกับชาวประมงให้สามารถทำการประมงได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย รวมทั้งเป็นการบังคับใช้กฎหมายประมงเพื่อปราบปรามการทำประมงผิดกฎหมายด้วย ซึ่งจากปฏิบัติการของคณะทำงานดังกล่าว ยังตรวจพบเรือประมงที่ยังฝ่าฝืนลักลอบใช้อวนตาถี่ในการทำประมง หวังจะให้ได้ปลามากที่สุด แต่แท้จริงแล้วการใช้อวนตาถี่จะเป็นการทำลายทรัพยากร ไม่ปล่อยให้ปลาขนาดเล็กเติบโตเพื่อให้สามารถทำประมงได้อย่างยั่งยืน ซึ่งมีกำหนดขนาดอวนที่ใช้ตามกฎหมายอยู่แล้ว ดังนั้น เมื่อตรวจพบความผิดดังกล่าว จึงต้องมีการดำเนินคดีโดยเด็ดขาด เพื่อให้การทำประมงของไทยเป็นไปตามกฎหมายและหลักสากล เป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ
สำหรับการกำหนดการใช้เครื่องมือทำประมง ประเภทอวนคู่ ผู้แทนกองวิจัยและพัฒนาประมงทะเล ได้อธิบายลักษณะเครื่องมือประมงตามเงื่อนไขท้ายใบอนุญาต ตาม “…ข้อ 4 เนื้ออวนตลอดทั้งผืนต้องมีชั้นเดียว ยกเว้นบริเวณกันถุงให้ใช้อวนรองก้นถุงที่มีขนาดตาอวน ไม่น้อยกว่า 7 เซนติเมตร ในกรณีที่มีเส้นเชือกประคองกันถุงหย่อน ทั้งด้านบนและด้านล่าง ต้องมีจำนวนเส้นเชือกประคองก้นถุงทั้งหมดไม่เกิน 8 เส้น และห้ามวัสดุอื่นใดรอยตาอ้วนตามแนวขวาง..” ซึ่งอวนรองกันถุงมีไว้เพื่อป้องกันเนื้ออวนกันถุงเสียหายจากกรณีที่อวนอาจจะไปถูกับพื้นทะเล โดยการใช้อวนรองกันถุง ส่วนปลายสุดจะต้องไม่เย็บปิดหรือไม่มีการผูกปลายอวนรองก้นถุง เพราะหากมีการเย็บหรือผูกปลายอวนรองก้นถุงจะทำให้กลายเป็นลักษณะของอวนกันถุงสองชั้น และห้ามใช้เชือกหรือวัสดุอื่นใดรอยตาอวนตามแนวขวาง
ในการนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอความร่วมมือพี่น้องสื่อมวลชน ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชน ได้ทราบถึงการดำเนินการและการกระทำผิดที่เกี่ยวข้องกับการทำประมงผิดกฎหมาย หากประชาชนพบเห็นการกระทำผิดในลักษณะดังกล่าว สามารถแจ้งข้อมูลมายัง ศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศพดส.ตร.) โดยตรง ช่องทางสายด่วน 1599 หรือ www.humantrafficking.police.go.th หรือ ผ่านช่องทางเฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/TICAC2016 หรือ LineOA: @HUMANTRAFFICKTH หรือ TWITTER: @safe_dek หรือช่องทางใหม่ล่าสุดคือ การสแกน QRCODE เพื่อกรอกแบบฟอร์มในการแจ้งเหตุและเบาะแสการกระทำผิดดังกล่าวเพื่อแจ้งเบาะแสในการปราบปรามการกระทำผิดต่อไป