พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ รอง จตช.(ช่วยเหลืองาน ปป.)/รอง ผอ.ศอ.ปส.ตร. ปิดโครงการชุมชนการเคหะยั่งยืนฯ ในพื้นที่บ้านเอื้ออาทรนนทบุรี (บางใหญ่ซิติ้) อ.บางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี
ตามนโยบาย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหายาเสพติด ในด้านการบำบัดรักษา “ผู้เสพ” คือ “ผู้ป่วย” ที่จะต้องเข้ารับการบำบัดรักษา โดยนำชุมชน เข้ามามีส่วนร่วม โดยให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือและเข้าไปสำรวจในทุกพื้นที่ ตำบล หมู่บ้าน ชุมชน คนที่ติดยาเสพติด ต้องได้รับการขึ้นทะเบียน เพื่อนำไปสู่การบำบัด รักษา รวมถึงการฝึกอาชีพ ให้ผู้ผ่าน การบำบัดรักษาที่มีความสนใจได้มีอาชีพ สามารถดูแลตนเองต่อไปได้ และมีการติดตามผู้ผ่านการบำบัดรักษาอย่างเป็นระบบ จึงได้มีคำสั่ง สำนักนายกรัฐมนตรีที่ 20/2565 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการประสานงาน
เพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานการณ์โควิด – 19 โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการในการดำเนินการ โดยท่านยึดถือหลักการทำงาน 3 ประการ คือ 1.ประชาชนต้องได้รับการช่วยเหลือเป็นอย่างดี 2.บูรณาการการทำงานร่วมกันทุกภาคส่วน 3.นำผู้เสพยาเสพติด ไปเข้ารับการบำบัดรักษา เพื่อเป็นการคืนคนดีสู่สังคม ให้เกียรติในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยจะต้อง
ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ในส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มอบหมายให้ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ/ผอ.ศอ.ปส.ตร. เป็นผู้แทน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในการดำเนินโครงการชุมชนการเคหะยั่งยืนแบบครบวงจรตามยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อแก้ปัญหายาเสพติดในชุมชน ร่วมกับ นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ
ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ
เมื่อวันที่ 4 เม.ย. 65 ที่ผ่านมา โดยมี ผู้ช่วยผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ, ผู้แทนจากอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข, ผู้แทนปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, ผู้แทนปลัดกระทรวงมหาดไทย, ผู้แทนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, ผู้แทนผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กระทรวงสาธารณสุข, ผู้แทนผู้อำนวยการโรงพยาบาลธนบุรีบูรณา,
พล.ต.ท.บุญจันทร์ นวลสาย ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุมศรียานนท์ โซน C ชั้น 2 อาคาร 1
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย มอบหมายให้ พลตำรวจโท ภาณุรัตน์ หลักบุญ รอง จตช. (ช่วยเหลืองาน ปป.)/รอง ผอ.ศอ.ปส.ตร. ขับเคลื่อนโครงการฯ ดังกล่าว เพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดแบบครบวงจร ตามยุทธศาสตร์ชาติ มุ่งมั่นในการพัฒนาชุมชน ให้มีความเข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตนเองได้ ให้ความสำคัญในเรื่องความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินตลอดจนป้องกันและปราบปรามปัญหายาเสพติดในชุมชนให้หมดไป ทั้งนี้ ได้คัดเลือกชุมชนการเคหะแห่งชาติเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 20 ชุมชน ใน 18 จังหวัด ทั่วประเทศ กำหนดระยะเวลาดำเนินการ 3 เดือน (เม.ย. – มิ.ย. 65) โดยมีขั้นตอนในการปฏิบัติ คือ
ขั้นตอนที่ 1 เตรียมการ ประชุมวางแผน สืบสภาพชุมชน โดยคัดเลือกชุมชนเป้าหมายที่มีปัญหา
ยาเสพติดแพร่ระบาดรุนแรงหรือพื้นที่สีแดง แต่งตั้งชุดปฏิบัติการ จัดประชุมร่วมกับผู้นำชุมชน กำหนดวันเริ่มต้นโครงการ พบผู้นำชุมชน/แกนนำชุมชนและแสวงหาความร่วมมือจากประชาชน
ขั้นตอนที่ 2 ประชุมวางแผนการทำงานและการทำกิจกรรม ตลอดระยะเวลา 3 เดือน สร้างแนวร่วม โดยเน้นให้ชุมชนมีส่วนร่วมในทุกกระบวนการและหลังจากโครงการสิ้นสุดโครงการ ชุมชนต้องสามารถดูแลชุมชนต่อไปได้อย่างยั่งยืน ค้นหาผู้เสพโดยการเอกซเรย์ 100% คือบุคคลทุกคนในชุมชนเป้าหมายนั้นจะต้องได้รับการตรวจสอบอย่างเข้มงวด ติดตาม ช่วยเหลือ เยี่ยมบ้าน สร้างกฎชุมชน ฟื้นฟูสังคม เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจคณะกรรมการหมู่บ้าน/ชุมชน/อาคารชุด ในบทบาทภารกิจในการแก้ไขปัญหายาเสพติด ด้วยการแต่งตั้งชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน เพื่อดูแลตรวจตรา ป้องกัน แจ้งข่าว อย่างต่อเนื่องโดยมีการทำงานต่อจากชุดปฏิบัติการหลังเสร็จสิ้นภารกิจ
ขั้นตอนที่ 3 ขั้นส่งต่อความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน ทำให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้และเป็นสถานที่ศึกษาดูงานให้กับชุมชนอื่นๆ รวมถึงการระวังป้องกันชุมชนกลับสู่สภาพเดิม โดยความร่วมมือของภาคีเครือข่ายจัดตั้งกลุ่ม รวมถึงมีช่องทางในการติดต่อสื่อสาร ประชุม และติดตามผลในการทำงานเป็นประจำ และท้ายสุดคือการติดตามประเมินผล
ทั้งนี้ ในวันที่ 30 มิ.ย. 65 พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ รอง จตช. (ช่วยเหลืองาน ปป.)/ รอง ผอ.ศอ.ปส.ตร. พร้อมด้วย พล.ต.ท.จิรพัฒน์ ภูมิจิตร ผบช.ภ.1, พล.ต.ต.พีระพงศ์ วงษ์สมาน รอง ผบช.ภ.1, พล.ต.ต.ไพศาล วงศ์วัชรมงคล ผบก.ภ.จว.นนทบุรี ได้เดินทางไปเป็นประธานในพิธีปิดโครงการฯ ในพื้นที่บ้านเอื้ออาทรนนทบุรี (บางใหญ่ซิติ้) อ.บางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี โดยมี นายวิทยา ชพานนท์ นายอำเภ บางใหญ่, นายชนินทร์ ธรรมชูเชาวรัตน์ นายกเทศมนตรีตำบลเสาธงหิน, นางพรอุษา วีระเดชลิกุล ตัวแทนการเคหะแห่งชาติ, นายเคลื่อน คงสม ผู้ช่วยสาธารณสุขอำเภอบางใหญ่, คณะ กต.ตร.สภ.บางใหญ่, ผู้ใหญ่บ้านและประชาชนในชุมชนเข้าร่วมพิธี จากการดำเนินการห้วง 3 เดือนที่ผ่านมา นอกเหนือปัญหาสิ่งเสพติดแล้วยังพบปัญหาอื่นๆ เช่น
การแข่งรถในทางสาธารณะ ส่งเสียงดังรบกวนประชาชนในพื้นที่ มั่วสุม ทะเลาะวิวาท และปัญหาพื้นที่จอดรถ ซึ่งปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ได้ประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจสายตรวจเข้าตรวจตรากวดขันให้ถี่ขึ้น เข้าระงับเหตุรวดเร็วทันต่อเหตุการณ์ ประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรเข้าแก้ไขปัญหาการจอดรถ รวมทั้งประสานหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา เช่น ติดตั้งกล้องวงจรปิด CCTV เพิ่มเติม และขอความร่วมมือผู้นำชุมชนเพิ่มวงรอบในการพบปะลูกบ้านให้มากขึ้นกว่าเดิมผลที่ได้รับ คือ มีมวลชนเพิ่มเติม สำหรับ ผลการปฏิบัติทั่วประเทศ 20 ชุมชน ใน 18 จังหวัด หลังดำเนินการ 3 เดือน พบประชากรจำนวนทั้งสิ้น 16,979 คน มีกลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด 986 คน สมัครใจ ตรวจปัสสาวะ 9,560 คน ไม่สมัครใจตรวจ 613 คน พบผู้เสพ 83 คน พบผู้ติด หรือผู้ที่มีอาการทางจิต 6 คน สมัครใจเข้ารับการบำบัด 176 คน และไม่สมัครใจ 3 คน
ทั้งนี้ในหลายพื้นที่ได้มีการส่งเสริมอาชีพแก่ผู้เข้ารับการบำบัดสารเสพติด อาทิ อบรมการทำ หมูกรอบ, หนังหมูกรอบ, ทำสบู่, เจลล้างมือ, ช่างตัดผม, ช่างซ่อมรถจักรยานและรถจักยานยนต์, งานก่อสร้าง, ชมกิจการเพาะเลี้ยงปลากัดเศรษฐกิจ และชมกิจการปลูกไม้เศรษฐกิจ ซึ่งทุกอาชีพ ผู้บำบัดสามารถนำไป ต่อยอดทางธุรกิจให้เกิดประสิทธิภาพได้ ภายหลังจากการดำเนินการตามโครงการฯ พบผู้เสพ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ให้ความไว้วางใจเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ลงไปทำกิจกรรมในพื้นที่ ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และร่วมทำกิจกรรมของชุมชนโดยการอาสาช่วยเหลือมากขึ้น