“ผบ.ตร.”ชมชุดปฏิบัติการพิเศษ แข่งขัน SWAT Challenge 2022 พร้อมโชว์ทักษะยิงปืนสไนเปอร์ เข้าเป้าทั้ง 3 นัด ย้ำต้องฝึกยุทธวิธี แข่งขันยกระดับขีดความสามารถแก้จุดบกพร่อง พร้อมทำหน้าที่พิทักษ์สันติราษฎร์
เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2565 เวลา 13.00 น. ที่ค่ายนเรศวร กองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน อ.ชะอำ จว.เพชรบุรี พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. และคณะตรวจเยี่ยมและเข้าชมการแข่งขันหน่วยปฏิบัติการพิเศษระดับกองบัญชาการ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ( SWAT Challenge 2022 ) โดยมี พล.ต.ท.ธนายุตม์ วุฒิจรัสธำรงค์ ผบช.ภ.7 และ พล.ต.ต.วันชนะ ธรรมเสมา ผบก.สอ.บช.ตชด. พร้อมเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับ
การแข่งขันครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อพัฒนาและดำรงขีดความสามารถของหน่วยปฏิบัติการพิเศษในการคลี่คลายสถานการณ์อาชญากรรมที่มีความรุนแรง มีหน่วยเข้าร่วมแข่งขัน 12 หน่วยระดับกองบัญชาการ ประกอบด้วย ตำรวจภูธรภาค 1-9, บช.ก., บช.ส.,และ บช.ปส. โดยมีคณะกรรมการ มาจากหน่วยปฏิบัติการพิเศษของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หน่วยอรินทราช 26, นเรศวร 261 และ ตำรวจในโครงการพัฒนาครูฝึกหน่วยปฏิบัติการพิเศษของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งคัดมาจากทุกหน่วยปฏิบัติการพิเศษทั่วประเทศ ตัวแทนทีม SWAT ตำรวจไทย ที่ไปแข่งขันระดับโลก ซึ่งการแข่งขันประกอบด้วย 5 บททดสอบ หรือ 5 stage พัฒนาแนวทางการแข่งขันจากประสบการณ์ ที่ทีม SWAT ตำรวจไทยไปแข่งขัน UAE SWAT Challenge 2022 ณ นครดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และได้อันดับ 9 ของโลก เมื่อเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา ซึ่งการแข่งขันชุดปฏิบัติการพิเศษฯ มีขึ้นระหว่างวันที่ 29 พฤษภาคม ถึง 4 มิถุนายน 2565
ผบ.ตร. กล่าวว่า การแข่งขันครั้งนี้เพื่อพัฒนาศักยภาพชุดปฏิบัติการพิเศษ ที่มีตัวแทนของทุกของบัญชาการร่วมแข่งขัน ซึ่งชุดนี้ทำหน้าที่หลักเป็นผู้นำด้านยุทธิวิธี ขณะที่ตำรวจทั่วประเทศก็จะได้รับการฝึกพัฒนาด้านยุทธวิธีอย่างต่อเนื่อง จากบทเรียนการปฏิบัติในแต่วันมาทบทวน โดยชุดปฏิบัติการพิเศษจะเป็นครูฝึก เป็นชุดสนับสนุนหลักให้ท้องที่อีกบทบาทหนึ่งด้วย
พล.ต.อ.สุวัฒน์ฯ ให้โอวาทกับตำรวจ ขณะเข้าชมการแข่งขั้นใน stage ที่ 4 (การปฏิบัติร่วมส่วนโจมตีและส่วนซุ่มยิง) โดยกล่าวว่า การแข่งขันเป็นมาตรการหนึ่งที่ทำให้ทราบขีดความสามารถของตนเอง
“อยากให้มองประโยชน์ที่ได้จากการแข่งขันครั้งนี้ คะแนน ลำดับที่ เป็นตัวชี้วัดชั่วคราว เราไม่ได้อยู่อย่างนี้ไปตลอดชีวิตในการปฏิบัติหน้าที่ การไม่ได้ที่ 1 วันนี้ ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นที่ 1 ในวันหน้า หรือการได้ที่สุดท้ายวันนี้ ใช่ว่าจะเป็นที่สุดท้ายตลอดไป สิ่งที่เราได้ คือได้รู้ข้อบกพร่อง รู้ว่ามีอะไรต้องนำไปพัฒนาปรับปรุง”
“ประโยชน์ที่ได้ ไม่เฉพาะผู้รับการฝึก ผู้แข่งขัน ยังเป็นประโยชน์กับคณะผู้จัดการแข่งขัน คณะครูฝึก เพราะว่าวิธีการแข่งขัน หรือการวัดผล ต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์ โจทย์ที่ตั้งไว้คือเราจะได้ทราบว่าจะพัฒนาชุดปฏิบัติการพิเศษไปในแนวทางไหน มีอะไรที่โลกเปลี่ยนไป สถานการณ์ปัจจุบันเปลี่ยนไปอย่างไร คุณลักษณะเฉพาะของหน่วย ของตัวบุคคล ต้องเป็นอย่างไร ทั้งผู้จัดการแข่งขัน และผู้เข้าแข่งขัน ต้องปรับปรุงไปเรื่อยๆ ไม่มีอะไรอยู่กับที่ ไม่ว่าความสำเร็จหรือความล้มเหลว มันไม่อยู่กับที่ เพราะฉะนั้น เราต้องเข้าใจประโยชน์ที่จะได้จากการแข่งขันครั้งนี้”
พล.ต.อ.สุวัฒน์ฯ กล่าวด้วยว่า การฝึกก็เป็นการรักษามาตรฐาน การแข่งขันก็เป็นการวัดผลในสิ่งที่ทำ ฝึกมา ขอให้คำนึงให้ได้ว่า ไม่มีอะไรอยู่กับที่ มันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
“เราต้องพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง พร้อมรับความรู้ใหม่ๆ อย่าทำตัวเป็นน้ำเต็มแก้ว ครูฝึกที่เก่งที่สุด คือครูฝึกที่ตายไปแล้ว ชุดปฏิบัติการพิเศษก็เช่นกัน ความผิดพลาด ล้มเหลว คือครูที่ดีที่สุดของเรา ถ้าสำเร็จ ก็เป็นเครื่องเตือนใจว่าเราทำได้ด้วยอะไร แล้ววันหน้ายังใช้ได้อยู่หรือไม่ ขอให้เข้าใจเรื่องนี้ การฝึก การปฏิบัติหน้าที่ก็ดีให้มีความสุขอยู่กับมัน ให้รู้ว่าหน้าที่ของเราคืออะไร”
“ชุดปฏิบัติการพิเศษอาจฝึกมากกว่าคนอื่น แต่เวลาใช้งาน ใช้คุ้ม ถึงวันที่เราจะต้องเป็นคนแรกที่ต้องเสี่ยงกับการรับลูกกระสุนปืน เราต้องพร้อมปฏิบัติ เพราะเขาฝึกเรามาเพื่อเรื่องนี้ อาจจะฝึกมาตลอดชีวิต แต่ว่าในจุดทีเด็ดทีขาด ในวันที่ไม่มีคนอื่นอีกแล้ว คือพวกเรา จะต้องเข้าไปจัดการแก้ไขปัญหา ขอให้เข้าใจบทบาทหน้าที่ ความสำคัญของตัวเอง ขอเป็นกำลังใจให้ หวังว่าเมื่อผ่านการแข่งขันแล้วให้นำความรู้ ข้อผิดพลาด ไปพัฒนา ไปถ่ายทอดในหน่วย ต้องสร้างบุคลากรใหม่ๆมาทดแทน คนที่มีอายุ มีประสบการณ์ระดับหนึ่งก็เลื่อนขึ้นไป องค์กรต้องมีการผลัดใบ ถ้าเราสามารถดำรงขีดความสามารถของหน่วยไว้ได้ ก็จะเป็นผลงานความสำเร็จของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และที่สำคัญที่สุด คือได้ปฏิบัติหน้าที่ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ดูแลความสงบเรียบร้อย ตามความมุ่งหมาย ที่เขาสร้างเรามา ขอเป็นกำลังใจทุกคนในสนุกกับการการแข่งขันครั้งนี้” ผบ.ตร.กล่าว
ทั้งนี้ พล.ต.อ.สุวัฒน์ฯ ได้ทดลองยิงปืนสไนเปอร์ 3 นัด แบบซุ่มยิงโดยได้ยิงเข้าเป้าทั้ง 3 นัด
สำหรับการแข่งขันจะแบ่งออกเป็น 5 stage ซึ่งอ้างอิงจากขั้นตอนในการปฏิบัติทางยุทธวิธี เริ่มจาก
Stage 1. การเคลื่อนที่ ชุดปฏิบัติการพิเศษจากกองปราบปราม หรือ ชุดหนุมาน ทำเวลาได้ดีที่สุด ชนะเลิศในสเตจนี้
Stage 2. การปฏิบัติของส่วนโจมตี ชุดปฏิบัติการพิเศษของตำรวจภูธรภาค 4 หรือ ทศรถ 491 ทำเวลาดีที่สุด ชนะในสเตจนี้
Stage 3. การปฏิบัติของส่วนซุ่มยิง ชุดปฏิบัติการพิเศษของตำรวจภูธรภาค 4 หรือ ทศรถ 491 ทำเวลาดีที่สุด ชนะในสเตจนี้
Stage 4. การปฏิบัติร่วมส่วนโจมตีและส่วนซุ่มยิง อยู่ระหว่างแข่งขัน
Stage 5. การเคลื่อนที่ผ่านสนามเครื่องกีดขวาง ยังไม่แข่งขัน