จากกรณีที่ประเทศไทยได้ถูกลดอันดับการรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์จากทางการสหรัฐฯ ลงเป็นอันดับประเทศที่ต้องจับตามอง (Tier 2 Watch List) โดยมีข้อสังเกตในเรื่องการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการค้ามนุษย์อย่างจริงจังในทุกภาคส่วน ปัญหาการใช้แรงงานเด็ก การบังคับใช้แรงงานและแรงงานข้ามชาติ ซึ่งเกิดขึ้นในภาคอุตสาหกรรมรวมถึงปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ทางรัฐบาลไทยได้กำชับให้ทุกหน่วยงานของภาครัฐและเอกชนบูรณาการกำลังในทุกภาคส่วน ตามที่ทราบแล้ว นั้น
กรณีดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย เพื่อแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย และการบังคับใช้แรงงานในภาคการประมง โดยมี พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วย ผบ.ตร. เป็นประธานคณะทำงานเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบ ควบคุม เฝ้าระวังการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพื่อขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งได้แต่งตั้งชุดปฏิบัติการตรวจสอบและเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาการประมง เพื่อการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวและประสานการปฏิบัติร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ในการนี้ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. จึงได้สั่งการให้ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร./ผอ.ศพดส.ตร. และ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วย ผบ.ตร./รอง ผอ.ศพดส.ตร./ประธานคณะทำงานเพิ่มประสิทธิภาพฯ ให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) โดยเฉพาะการบังคับใช้แรงงานและแรงงานข้ามชาติในภาคประมง โดยได้สั่งการให้ชุดปฏิบัติการ นำโดย พล.ต.ต.พนัญชัย ชื่นใจธรรม รอง ผบช.ภ.1/หน.ชุดปฏิบัติการ, พ.ต.อ.ปรเมษฐ โพยนอก ผกก.7 บก.รน./คณะทำงานเพิ่มประสิทธิภาพฯ ทำการติดตามและตรวจสอบข้อมูลกรณีเรือประมงที่มีลูกเรือเสียชีวิต สูญหาย และประสบอุบัติเหตุพลัดตกน้ำ ผ่านระบบสารสนเทศการทำประมง (Fishing Info; FI) จากการตรวจสอบพบว่า ในระหว่างปีพ.ศ.2563 – 2564 ที่ผ่านมา มีการแจ้งลูกเรือเสียชีวิต สูญหาย และประสบอุบัติเหตุตกน้ำจำนวนทั้งสิ้น 230 ราย จากเรือประมง 229 ลำ โดยสามารถแบ่งกลุ่มข้อมูลได้เป็น 3 กลุ่มคือ
(1) กลุ่มลูกเรือที่ประสบอุบัติเหตุพลัดตกน้ำ ตรวจพบ และยืนยันว่าเสียชีวิต จำนวน 53 ราย
(2) กลุ่มลูกเรือที่ประสบอุบัติเหตุพลัดตกน้ำ ตรวจพบ และยืนยันว่ายังมีชีวิตอยู่ จำนวน 53 ราย
(3) กลุ่มลูกเรือที่ประสบอุบัติเหตุพลัดตกน้ำ และยังหาไม่พบ จำนวน 124 ราย
เมื่อมีการตรวจสอบข้อมูลการสูญหายของคนบนเรือ 124 ราย โดยละเอียดจากการตรวจสอบข้อมูลทะเบียนราษฎร์ และสอบถามข้อมูลจากญาติผู้สูญหาย เบื้องต้นตรวจพบลูกเรือ 2 ราย ที่มีการแจ้งสูญหายแต่ยังมีชีวิตอยู่คือ นายอุเทน เกิดโมลี อายุ 45 ปี ชาวขอนแก่น ทำงานบนเรือศรีนพรัตน์ และนายมานะ รังปัญญา อายุ 30 ปี ชาวบุรีรัมย์ ทำงานบนเรือพงษ์ชัยเจริญสมุทร
โดยนายมานะฯ ให้การว่าได้ไปทำงานบนเรือประมงชื่อ พงษ์ชัยเจริญสมุทร มีนายเสถียร เงินอเนก หรือเสี่ยทัวร์ เป็นเจ้าของเรือ โดยได้ออกเรือจากจังหวัดสมุทรสาคร ไปจังหวัดตรัง และมุ่งหน้าไปทำประมงบริเวณทะเลใกล้กับประเทศอินโดนีเซีย โดยนายมานะ ฯ ทำหน้าที่เป็นคนอวน มีไต๋เรือจำนวน 2 คน คือนายศุภกร ฯ และนายกฤษณะ ฯ ซึ่งการทำงานบนเรือใน 1 วัน จะได้พักไม่เกิน 6 ชั่วโมงและไม่ต่อเนื่อง บางครั้งต้องทำงานติดต่อกัน 2 วัน 2 คืนถึงจะได้พัก โดยจะมีการกลับเข้าฝั่งที่ อ.กันตัง จ.ตรัง เพื่อนำปลามาส่งเดือนละ 1 ครั้ง ตนทนทำงานจนกระทั่งในช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2564 รอบออกเรือครั้งที่ 13 ตนทนทำงานหนักไม่ไหว จึงตัดสินใจกระโดดน้ำหนีขณะที่เรืออยู่ในน่านน้ำประเทศอินโดนีเซีย และต้องทนลอยคออยู่กลางทะเล 3 วัน 3 คืน จนกระทั่งมีเรือประมงของประเทศอินโดนีเซียมาช่วยเหลือ นำกลับเข้าฝั่งที่จังหวัดอาเจะห์ อินโดนีเซีย และได้รับความช่วยเหลือจากสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศอินโดนีเซียประสานส่งตัวกลับมายังประเทศไทยในเวลาต่อมา
จากข้อมูลดังกล่าว คณะทำงานเพิ่มประสิทธิภาพฯ จึงรวบรวมพยานหลักฐาน ร้องทุกข์กล่าวโทษผู้ร่วมกระทำผิดต่อพนักงานสอบสวน สภ.กันตัง ภ.จว.ตรัง ดำเนินคดีกับผู้ต้องหาจำนวน ๓ ราย ประกอบด้วย
1. นายศุภกร สายแจ้ง อายุ 59 ปี บ้านเลขที่ 58/8 ถนนธรรมคุณากร ต.มหาชัย อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ทำหน้าที่ผู้ควบคุมการทำงานบนเรือ (ไต๋เรือ) ระหว่างวันที่ 17 สิงหาคม 2563 ถึงต้นเดือนมิถุนายน 2564
2. นายกฤษณะ คงโอ อายุ 43 ปี บ้านเลขที่ 27/2 หมู่ 1 ต.วังคีรี อ.ห้วยยอด จ.ตรัง ทำหน้าที่ผู้ควบคุมการทำงานบนเรือ (ไต๋เรือ) ช่วงตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายน 2564
3. นายเสถียร เงินอเนก อายุ 61 ปี บ้านเลขที่ 257/54 ถนนเดิมบาง ต.มหาชัย อ.เมือง จ.สมุทรสาคร เจ้าของเรือ ในช่วงเวลาที่ไต๋เรือทั้ง 2 คน ทำหน้าที่บนเรือ นายเสถียรฯ เป็นผู้สั่งการไต๋เรือ และเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์จากการทำงานหนัก
ทั้งสามคนจะถูกดำเนินคดีในข้อหา “ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 22 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ประกอบกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล พ.ศ.2557 ข้อ 5 กำหนดให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างมีเวลาพักไม่น้อยกว่า 10 ชั่วโมง ในระยะเวลาการทำงาน 24 ชั่วโมง และ ไม่น้อยกว่า 70 ชั่วโมง ในระยะเวลาการทำงาน 7 วัน และจัดหลักฐานเวลาพักไว้เพื่อให้พนักงานตรวจแรงงานตรวจสอบ ในกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น นายจ้างอาจให้ลูกจ้างทำงานในเวลาพักได้โดยต้องจัดให้มีเวลาพักชดเชยโดยเร็ว และให้จัดทำหลักฐานเวลาพักไว้” ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน ๖ เดือน หรือปรับไม่เกิน ๑ แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า แรงงานที่สูญหายไประหว่างการทำงานที่ PIPO แจ้งมามี 230 คน จะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าการหายไปเกิดจากสาเหตุใด ถูกฆาตกรรมหรือบังคับใช้แรงงานหรือไม่ และมีการพบร่างของคนเหล่านี้ลอยน้ำมาหรือไม่ เพราะทุกชีวิตมีค่าเท่ากันหมด ไม่ว่าจะเป็นชนชาติใด หากมาทำงานถูกต้องตามกฎหมาย ต้องได้รับการคุ้มครอง และได้รับการเยียวยาตามสิทธิที่เขาพึงมี จะได้ตอบคำถามสังคมและนานาชาติได้ว่า ปัญหาเกิดจากสาเหตุใด ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นเรื่องคลุมเครือ เพราะสุดท้ายจะกลายเป็นปัญหาการค้ามนุษย์ หรือการใช้แรงงานทาส ซึ่งจะเกิดผลเสียต่อภาพลักษณ์ของประเทศ และมีผลกระทบทางเศรษฐกิจได้ในอนาคต
ในการนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอความร่วมมือพี่น้องสื่อมวลชน ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชน ได้ทราบถึงการดำเนินการและการกระทำผิดที่เกี่ยวข้องกับการทำประมงผิดกฎหมาย หากประชาชนพบเห็นการกระทำผิดในลักษณะดังกล่าว สามารถแจ้งข้อมูลมายัง ศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศพดส.ตร.) โดยตรง ช่องทางสายด่วน 1599 หรือ www.humantrafficking.police.go.th หรือ ผ่านช่องทางเฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/TICAC2016 หรือ LineOA: @HUMANTRAFFICKTH หรือ TWITTER: @safe_dek หรือช่องทางใหม่ล่าสุดคือ การสแกน QRCODE เพื่อกรอกแบบฟอร์มในการแจ้งเหตุและเบาะแสการกระทำผิดดังกล่าวเพื่อแจ้งเบาะแสในการปราบปรามการกระทำผิดต่อไป