สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ฝากเตือนภัยการกู้เงินนอกระบบ การทวงหนี้ที่ผิดกฎหมาย การปล่อยกู้ที่ไม่ได้รับอนุญาต มีโทษหนักถึงจำคุก

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอเตือนภัยการกู้เงินนอกระบบ โดยปัจจุบันยังคงอยู่ในห้วงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 อาจส่งผลกระทบต่อรายได้ของประชาชนบางส่วน จึงมีความจำเป็นต้องไปกู้เงินจากแหล่งเงินกู้ต่างๆ มากขึ้น ซึ่งก็มีเหล่ามิจฉาชีพที่ฉวยโอกาสนี้แฝงตัวมาในรูปแบบของแหล่งเงินกู้นอกระบบและได้กระทำความผิดรูปแบบต่างๆ โดยการกระทำความผิดที่พบคือการเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตราและการทวงหนี้ที่ผิดกฎหมาย ทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินในรูปแบบต่างๆได้


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้กำหนดให้ปัญหาหนี้นอกระบบ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของประชาชนเป็นวาระแห่งชาติ และได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีมาตรการให้ความช่วยเหลือประชาชน สร้างการรับรู้แนวทางป้องกันและหากพบการกระทำผิดให้ดำเนินการตามขั้นตอนตามกฎหมาย


เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาและดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มอบหมายให้ พล.ต.อ.สุทิน ทรัยพ์พ่วง รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ศปน.ตร.) สั่งการไปยังกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) และ ศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ศปน.ตร.) และหน่วยงานอื่นๆ ในสังกัดที่เกี่ยวข้อง เร่งทำการสืบสวนสอบสวนปราบปรามจับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ รวมถึงนายทุนและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกรายอย่างจริงจังต่อเนื่องเด็ดขาด เพื่อให้ได้ผลการปฏิบัติเป็นรูปธรรม


ดังเช่นกรณีที่ปรากฏบนสื่อสังคมออนไลน์ ได้นำเสนอเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 16 พ.ค.65 เวลาประมาณ19.30 น.
ในพื้นที่ อ.พระนครศรีอยุธยา จว.พระนครศรีอยุธยา โดยลูกหนี้ได้ไปกู้เงินกับเพจเฟซบุ๊กปล่อยเงินกู้จำนวน 1,000 บาท เมื่อวันที่ 12 พ.ค.65 ซึ่งต่อมาเจ้าหนี้ได้มาทวงถามหนี้เงินกู้และดอกเบี้ย บริเวณตลาดกลางเพื่อการเกษตร ตามวันเวลาเกิดเหตุแต่ไม่สามารถตกลงกันได้และได้มีการทำร้ายร่างกายคู่กรณีจนได้รับบาดเจ็บ. ความคืบหน้าในทางคดีขณะนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.พระนครศรีอยุธยา ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบกล้องวงจรปิด แสวงหาข้อเท็จจริง ตรวจสอบผู้เกี่ยวข้องโดยสามารถพิสูจน์ทราบถึงตัวผู้ก่อเหตุรวม 6 ราย และในส่วนของพนักงานสอบสวนได้สอบปากคำพยาน รวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง และได้เรียกตัวผู้ที่กระทำความผิดมาแจ้งข้อกล่าวหาแล้วจำนวน 5 ราย และในวันนี้ 18 พ.ค.65 จะนำตัวผู้ต้องหาจำนวน 5 รายไปขออนุมัติต่อศาลเพื่อขอฝากขังตามขั้นตอนต่อไป ส่วนผู้ต้องหาที่เหลืออีก 1 ราย ได้นัดหมายให้มารับทราบข้อกล่าวหาและจะดำเนินคดีตามขั้นตอนกฎหมายต่อไป


และอีกกรณีที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 15 พ.ค.65 ในพื้นที่ สภ.คูคต จว.ปทุมธานี โดยผู้เสียหายได้ไปยืมเงินจากกลุ่มผู้ก่อเหตุจำนวน 10,000 บาท โดยตกลงชดใช้ยอดหนี้วันละ 500 บาท จำนวน 24 วัน และต่อมาตามวันเวลาเกิดเหตุกลุ่มผู้ต้องหาได้มาทวงถามหนี้ที่ยืมไปแต่ตกลงกันไม่ได้และได้มีการทำร้ายร่างกายกัน ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.คูคต จึงได้รับคำร้องทุกข์ไว้ดำเนินการตามกฎหมาย และทำการสืบสวนพิสูจน์ทราบถึงตัวกลุ่มผู้ต้องหาและได้ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่ออนุมัติออกหมายจับแล้วจำนวน 3 ราย ซึ่งจับกุมส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีได้แล้วจำนวน 2 ราย ส่วนรายที่ยังหลบหนีเจ้าหน้าที่ก็จะติดตามจับกุมต่อไป รวมถึงทำการสืบสวนสอบสวนว่ามีผู้กระทำความผิดรายอื่นเพิ่มเติมอีกหรือไม่ตามขั้นตอนของกฎหมาย


การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายเป็นความผิด ตาม ป.อ.มาตรา 295 ฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมถึงหากมีการทวงหนี้โดยฝ่าฝืน พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ฯ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะการข่มขู่ การใช้ความรุนแรง การใช้วาจาดูหมิ่นหรือการเปิดเผยข้อมูลการเป็นหนี้ของลูกหนี้ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท ส่วนผู้ที่กระกอบธุรกิจสินเชื่อโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุก 1-5 ปี ปรับตั้งแต่ 100,000-500,000 บาทและการเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท และหากมีการตรวจสอบพบทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำความผิด ก็อาจมีความผิดเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฯ หรือกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง


รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากสถิติของ ศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทาความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ สำนักงานตารวจแห่งชาติ (ศปน.ตร.) พบว่าในช่วงระหว่างวันที่ 1 ต.ค. 64 – 30 เม.ย.65 มีการแจ้งการกระทำความผิดซึ่งเกี่ยวข้องกับเงินกู้นอกระบบกว่า 1,361 เรื่อง ซึ่งได้ดำเนินการแล้วเสร็จไปแล้ว 1,093 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 80 คงเหลือ 268 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 20 โดยการกระทำความผิดที่ได้รับแจ้งมากที่สุด 3 อันดับ คือ การปล่อยกู้ออนไลน์ ,การเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตรา, และการทวงหนี้ผิดกฎหมาย ซึ่งทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดําเนินการสืบสวนสอบสวนจับกุมผู้กระทําความผิดต่อไป


รวมถึงขอฝากประชาสัมพันธ์ถึงวิธีหลีกเลี่ยงการถูกทวงหนี้นอกระบบด้วยรูปแบบต่างๆ และแนวทางการป้องกัน ดังนี้
1.หากถูกแก๊งทวงหนี้ แอบอ้าง ข่มขู่ ควรตั้งสติให้ดี อย่าตื่นตระหนก รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ให้มาตรวจสอบหรือให้ความช่วยเหลือ
2.ทำการบันทึกข้อมูลการสนทนา ภาพถ่าย คลิปวีดีโอ เอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องไว้ เพื่อใช้ในการดำเนินคดีภายหลัง
3.หากมีความจำเป็นต้องกู้เงิน ควรกู้จากสถาบันการเงินที่น่าเชื่อถือและตรวจสอบได้
นอกจากนี้ หากพบเห็นเบาะแสการกระทำผิด สามารถแจ้งไปยัง Call Center สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หมายเลขโทรศัพท์ 191 หรือ 1599 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง