ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ยืนยันคดีแตงโมไม่มีการสร้างพยานหลักฐานเท็จ แต่ข้อมูลหลักฐานในคดีไม่สามารถนำมาถกเถียงได้ในสื่อสังคมออนไลน์ พร้อมแสดงความมั่นใจ เมื่อคดีนี้เข้าสู่การพิจารณาของศาลจะสามารถตอบข้อสงสัยของสังคมได้ เช่นเดียวกับคดีเกาะเต่า
พลตํารวจเอกสุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ยืนยัน การสอบสวนคดีการเสียชีวิตของนางสาวภัทรธิดา พัชรวีระพงษ์ หรือ แตงโม ไม่มีการสร้างพยานหลักฐานเท็จ แม้ว่า นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงษ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม จะมีการกล่าวอ้างว่า มีความพยายามในการสร้างพยานหลักฐานเท็จในคดีนี้ก็ตาม
ซึ่งในประเด็นที่นายอัจฉริยะ มีการหยิบยกขึ้นมาตั้งข้อสังเกต ได้มอบหมายให้จเรตำรวจ เข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริง และให้พนักงานสอบสวนที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ตรวจสอบข้อมูลหลักฐานเพิ่มเติมในทุกประเด็น แล้วเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับร่องรอยบาดแผลที่พบบนร่างของผู้เสียชีวิต ที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า ไม่ได้เกิดจากใบพัดเรือ แต่อาจเกิดจากของมีคม เช่น มีด เป็นต้น ซึ่งประเด็นนี้พนักงานสอบสวน ยืนยันว่า พยานหลักฐานในจุดเกิดเหตุไม่พบ มีด หรือของคม ที่พิสูจน์ได้ว่าเป็นต้นเหตุ ที่ทำให้เกิดบาดแผลดังกล่าวส่วนประเด็นที่นายอัจฉริยะ กล่าวอ้างนายพลตำรวจอักษรย่อ ว.ที่รับผิดชอบคดีแตงโม มีความใกล้ชิดสนิทสนมกับตัวเอง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ยืนยันว่า ในฐานะที่ดำรงตำแหน่ง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติย่อมมีผู้ใต้บังคับบัญชา ทั่วประเทศรวมกว่า 200,000 นาย
ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ยังย้ำว่า คดีแตงโม ตำรวจมีการสอบสวนในรูปแบบคณะกรรมการสอบสวนชุดใหญ่ และเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมทุกอย่าง แต่กระบวนการสอบสวน คงไม่สามารถนำพยานหลักฐานต่างๆมาถกเถียงกันในสื่อสังคมออนไลน์ได้
ซึ่งในคดีนี้ หากมีพยานหลักฐานที่ชัดเจนช่วงที่แตงโม ตกเรือ การสอบสวนคงง่ายขึ้น แต่เมื่อไม่มีพยานหลักฐานในประเด็นนี้ ตำรวจจำเป็นต้องหาข้อมูลพยานหลักฐานอื่นมาประกอบ เพื่อตอบข้อสงสัยในส่วนนี้ให้ได้
ส่วนสำนวนการสอบสวนคดีนี้ ตำรวจส่งกลับไปให้อัยการแล้ว หลังสอบสวนเพิ่ม 20 ประเด็นตามที่อัยการให้ความเห็นมา แต่ยอมรับว่า หากมีประเด็นใดที่จำเป็นต้องรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติมให้รัดกุมมากขึ้น สามารถสอบสวนเพิ่มได้ในอนาคต
ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ยังยืนยันว่าการสอบสวน ไม่มีการตั้งธงการสอบสวนของคดี แต่ต้องทำไปตามพยานหลักฐานที่มีอยู่ และคลี่คลายในแต่ละประเด็น เพื่อให้ตอบคำถามที่ตั้งไว้ได้เท่านั้น หากคดีแตงโม เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาล จะมีการนำพยานหลักฐานไปต่อสู้คดีกันในชั้นนั้น เชื่อว่า เมื่อศาล มีคำพิพากษาแล้ว คดีจะคลี่คลาย ตอบข้อสงสัยของสังคมได้ เช่น เดียวกับคดีเกาะเต่าที่เป็นประเด็นใหญ่กว่าประเด็นนี้เนื่องจากมีความเกี่ยวพันระหว่างประเทศรวมถึงมีหน่วยงานตำรวจจากประเทศอังกฤษเข้ามาตรวจสอบการทำงานของตำรวจไทย รวมถึงสถานทูตที่เข้ามาควบคุมตรวจสอบการทำงานของตำรวจ ซึ่งขณะนั้นสังคมก็ตั้งคำถามเกี่ยวกับการทำงานของตำรวจไทยว่ามีการทำงานไม่ถูกต้องช่วยเหลือผู้กระทำความผิดแต่เมื่อขั้นตอนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมมีการพิจารณาคดีในชั้นศาลและศาลมีคำสั่งประหารชีวิตผู้กระทำความผิดตามพยานหลักฐานทุกหน่วยงานระหว่างประเทศก็ยอมรับในการทำงานของตำรวจไทยแต่สังคมก็ไม่ได้กลับมาพูดถึงในประเด็นนี้หลังมีการพิจารณาเชื่อว่าคดีแตงโมก็จะเป็นในลักษณะเดียวกัน
ส่วนกรณีที่ใน ช่วงที่ผ่านมามีหลักฐานทางคดีของทางตำรวจหลุดออกไปสู่สาธารณะ รวมถึงคลิปหลักฐานของทางนิติเวชตำรวจที่นายอัจฉริยะนำมาแถลงข่าว โจมตีตำรวจขณะนี้สั่งการให้มีการตรวจสอบว่าหลุดออกไปทางช่องทางใดและใครเป็นผู้นำออกไปเผยแพร่
ส่วนกรณีที่มีการนำเสนอข้อมูลข้อเท็จจริงพาดพิงให้การทำงานของตำรวจเสื่อมเสีย ตำรวจมีความจำเป็นต้องพิจารณาใช้กฎหมายที่มีอยู่ในการดำเนินคดีเพื่อปกป้องการทำงาน โดยให้แต่ละหน่วยงาน พิจารณาตามความเหมาะสม เพราะถ้าหากตำรวจนิ่งเฉย ไม่บังคับใช้กฎหมาย อาจเท่ากับ ยอมรับว่าข้อกล่าวหานั้นเป็นความจริง