พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ เร่งแก้ประวัติอาชญากร “ลบประวัติ ล้างความผิด คืนชีวิตให้ประชาชน” พร้อมแถลงผลการจับกุมผู้ต้องหาปลอมเอกสารตรวจสอบประวัติอาชญากร จำนวน 2 ราย

ด้วยปรากฎว่าปัจจุบัน สังคมให้ความสำคัญต่อการตรวจสอบประวัติของบุคคลมากขึ้น หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชน มีความต้องการบุคคลที่ปราศจากประวัติอาชญากรรมเข้าทำงานในองค์กร/บริษัทของตน จึงมีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบคุณสมบัติต่าง ๆ ซึ่งประชาชนต้องแสดงผลการตรวจสอบประวัติอาชญากรรมประกอบในการสมัครงานด้วย ประชาชนซึ่งเคยมีประวัติถูกฟ้องคดีอาญา แต่ศาลยกฟ้อง จะยังมีประวัติอาชญากรรมอยู่ในฐานข้อมูลของกองทะเบียนประวัติอาชญากร ทำให้อาจถูกตัดสิทธิ์ ไม่ได้รับการพิจารณาเข้าทำงาน ขาดโอกาสในการกลับไปใช้ชีวิตใหม่เฉกเช่นประชาชนคนอื่น


ในการนี้ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ได้เล็งเห็นความสำคัญของเรื่องดังกล่าว จึงได้สั่งการให้ พล.ต.อ.สุชาติ ธีระสวัสดิ์ รอง ผบ.ตร.และ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วย ผบ.ตร. เร่งศึกษาและแก้ไขเรื่องดังกล่าว เพื่อคืนความเป็นธรรมให้แก่ประชาชนผู้บริสุทธิ์ให้สามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติสุขได้ในสังคม โดยการคัดแยกหรือเปลี่ยนแปลงรายการข้อมูลทะเบียนประวัติอาชญากรของบุคคลที่ถูกบันทึกไว้ในประวัติ และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานด้านการทะเบียนประวัติอาชญากรของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้อยู่ในระดับมาตรฐานสากล สอดคล้องและเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันดำเนินการอย่างเร่งด่วน


โดยความคืบหน้าล่าสุด พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ ได้สั่งการให้ พล.ต.ท.วีระ จิรวีระ ผบช.สพฐ. และพล.ต.ต.ฐากูร นิ่มสมบูรณ์ ผบก.ทว. ดำเนินการตรวจสอบข้อมูลตามข้อสั่งการ ซึ่งจากข้อมูลสถิติ ณ วันที่ 28 เมษายน 2565 มีจำนวนประวัติที่ยังไม่ได้คัดแยกผลคดีกว่า 12.4 ล้านราย ในจำนวนนี้ พนักงานสอบสวนได้ส่งรายงานผลคดีถึงที่สุดให้กองทะเบียนประวัติอาชญากรทราบแล้ว จำนวน 7.8 ล้านราย คงเหลือที่พนักงานสอบสวนจะต้องรายงานผลคดีถึงที่สุดเพิ่มเติมอีกจำนวน 4.6 ล้านราย โดยได้มอบหมายให้ทุกสถานีตำรวจเร่งสำรวจข้อมูลคดีอาญาถึงที่สุดในความรับผิดชอบ โดยมุ่งเน้นการคัดแยกประวัติอาชญากรรมที่เข้าเกณฑ์ ในกรณีดังต่อไปนี้
(1) คดีที่พนักงานอัยการสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง หรือสั่งยุติการดำเนินคดีอาญา ตามระเบียบว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ
(2) ศาลสั่งยกฟ้อง หรือไม่ประทับรับฟ้อง
(3) ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้อง


พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า โดยตามระเบียบการปฏิบัติของตำรวจนั้นได้กำหนดให้นำข้อมูลและลายพิมพ์นิ้วมือผู้ต้องหามาจัดเก็บลงในฐานข้อมูลทะเบียนประวัติอาชญากรไว้ก่อน แม้ต่อมาพนักงานอัยการจะมีคำสั่งไม่ฟ้องหรือศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง ก็ไม่ได้นำรายชื่อของผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นออกจากทะเบียนประวัติอาชญากรโดยอัตโนมัติ แต่ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะต้องมายื่นคำร้องต่อกองทะเบียนประวัติอาชญากรเพื่อคัดชื่อออกเอง ซึ่งเป็นการสร้างภาระให้กับประชาชน จึงได้มีการจัดทำโครงการ “ลบประวัติ ล้างความผิด คืนชีวิตให้ประชาชน” ที่ พล.ต.อ.สุวัฒน์ ได้สั่งการไว้ เพื่อคืนความเป็นธรรมให้แก่ประชาชนผู้บริสุทธิ์ให้สามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติสุขได้ในสังคม โดยการคัดแยกหรือทำลายรายการข้อมูลทะเบียนประวัติอาชญากรของบุคคลที่ถูกบันทึกไว้ในประวัติอาชญากรที่เข้าหลักเกณฑ์ตามระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้แก่ประชาชน โดยไม่ต้องเดินทางมาร้องขอด้วยตนเอง ซึ่งเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จแล้ว จะมอบหมายสายตรวจในพื้นที่แจ้งให้ประชาชนผู้เป็นเจ้าของประวัติทราบต่อไป


ในขณะที่มีการดำเนินการโครงการดังกล่าว เจ้าหน้าที่ตำรวจยังตรวจสอบพบว่า มีผู้ไม่ประสงค์ดีฉวยโอกาสที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากเรื่องดังกล่าว แสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบด้วยการหลอกลวงว่าสามารถดำเนินการลบประวัติให้ได้ ในการนี้ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ จึงได้สั่งการให้ชุดปฏิบัติการเร่งสืบสวนติดตาม จนสามารถจับกุมผู้ต้องหา จำนวน 2 รายดังนี้


กรณีที่ 1
ชุดปฏิบัติการได้รับแจ้งจากกองทะเบียนประวัติอาชญากรว่า ได้มี นายวรพล ทรงสละบุญ อายุ 28 ปี อยู่บ้านเลขที่ 31/1383 หมู่ 2 ต คลองสาม อ คลองหลวง จ ปทุมธานี ทำการโพสข้อความผ่านเฟซบุ๊ค กลุ่มไรเดอร์ต่างๆ ว่าสามารถตรวจสอบและลบข้อมูลประวัติอาชญากรรมของสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ โดยที่ไม่ต้องเดินทางมาด้วยตัวเอง ซึ่งขัดกับหลักการปฏิบัติที่ถูกต้อง เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ทำการสืบสวน โดยจากการสืบสวนพบว่านายวรพล หรือ หลุยส์ฯ อ้างว่าสามารถจัดทำเอกสารตรวจสอบข้อมูลประวัติอาชญากรรม และสามารถลบข้อมูลทะเบียนประวัติอาชญากรรมของสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ โดยจะคิดค่าบริการรายละ 200 – 2,000 บาท แต่จากการตรวจสอบพบว่าเอกสารที่นายวรพล หรือ หลุยส์ฯ จัดทำมานั้นเป็นเอกสารราชการที่ถูกปลอมแปลงขึ้นมาทั้งฉบับ และไม่ได้มีการลบข้อมูลประวัติอาชญากรรมตามที่กล่าวอ้างได้จริง ซึ่งจากการหลอกลวงดังกล่าวมีผู้เสียหายหลงเชื่อและเสียเงินค่าบริการให้กับนายวรพล หรือ หลุยส์ฯ จำนวนหลายราย ประกอบกับกรณีดังกล่าวก่อให้เกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้รวบรวมพยานหลักฐานขออนุมัติหมายจับต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ นายวรพล หรือหลุยส์ฯ ในข้อหา “พยายามฉ้อโกงประชาชน , ปลอมและใช้เอกสารราชการปลอม , นำเข้าข้อมูลอันเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์ฯ” และได้เข้าทำการจับกุมนายวรพล หรือหลุยส์ นำส่งพนักงานสอบสวน สน.ยานนาวา เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป


กรณีที่ 2
ได้มีพลเมืองดี เข้ามาสอบถามทางเพจของกองทะเบียนประวัติอาชญากร พร้อมส่งเอกสารการตรวจสอบประวัติมาให้ดู จากการตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นเอกสารราชการปลอม กองทะเบียนประวัติอาชญากรจึงได้ไปแจ้งความไว้ที่ สน.ปทุมวัน และจากการสืบสวนทำให้ทราบว่า ผู้ที่ทำเอกสารปลอมขึ้นมานั้นคือ นายจำลอง ยิ่งตระกูล อายุ 58 ปี อยู่บ้านเลขที่ 55 หมู่ 2 ต.ขนอนหลวง อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นพนักงานชั่วคราวของบริษัทรักษาความปลอดภัยแห่งหนึ่ง ในจังหวัดนนทบุรี โดยนายจำลองฯ รับว่าตนเองได้ทราบว่าทางบริษัทจะต้องไปเอาเอกสารการตรวจสอบประวัติพนักงานจากกองทะเบียนประวัติอาชญากร เพื่อใช้ในการเบิกเงิน ตนเองคิดว่าสามารถทำขึ้นมาเองได้ เนื่องจากตนเองเจอเอกสารการตรวจสอบประวัติเก่าตั้งแต่ปี 2562 จึงนำข้อความมาตัดแปะ และถ่ายเอกสารหลายครั้งเพื่อปกปิดร่องรอยการปลอมแปลง เมื่อได้รับทราบว่าทางกองทะเบียนประวัติอาชญากรมีการแจ้งความ จึงได้เข้ามามอบตัวที่ สน.ปทุมวัน โดยพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาว่า ปลอมและใช้เอกสารราชการปลอม ในชั้นสอบสวนผู้ต้องหาให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา
ในการนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอความร่วมมือพี่น้องสื่อมวลชน ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชน ได้ทราบถึงพฤติการณ์ในการกระทำผิดลักษณะดังกล่าว เพื่อให้ประชาชนโดยทั่วไปได้ช่วยกันสอดส่องในการแอบอ้างเกี่ยวกับการแก้ไขประวัติมิให้ตกเป็นเหยื่อของการหลอกลวง หากประชาชนพบเห็นการกระทำผิดในลักษณะดังกล่าว สามารถแจ้งข้อมูลมายัง กองทะเบียนประวัติอาชญากรโดยตรง สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ 02-2051315 ในเวลาราชการ 08.30-16.30 น.หรือ www.crd-check.com