สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยสถิติคดีออนไลน์ หลังเปิดศูนย์รับแจ้งความออนไลน์ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.- 20 เม.ย.65 รวมกว่า 14,794 เรื่อง

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยถึงสถิติคดีออนไลน์หลังเปิดศูนย์รับแจ้งความออนไลน์ ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.- 20เม.ย.65 เป็นต้นมา รวมกว่า 14,794 เรื่อง รวมถึงประชาสัมพันธ์การเตรียมตัวก่อนแจ้งความออนไลน์


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีความห่วงใยต่อภัยทางสื่อสังคมออนไลน์ที่หลอกลวงสร้างความเสียหายให้กับประชาชน จึงมีนโยบายให้จัดตั้งศูนย์รับแจ้งความออนไลน์คดีทางเทคโนโลยี เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินคดีและแก้ไขปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้มอบหมายให้ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามอาชญากกรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้ขับเคลื่อนศูนย์รับแจ้งความออนไลน์ฯ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการแจ้งความและเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ง่ายขึ้นพร้อมกำชับให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเร่งทำการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้แนวทางการป้องกันอาชญากรรมทางเทคโนโลยีและข่าวสารข้อมูลที่เป็นปัจจุบันให้ประชาชนรับทราบ


หลังจากที่ได้มีการเปิดศูนย์รับแจ้งความออนไลน์เฉพาะคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้ประชาชน ก็ได้มีประชาชนเข้ามาใช้บริการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากการรวบรวมสถิติพบว่ามีการแจ้งความออนไลน์ ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.- 20 เม.ย.65 มีการแจ้งความคดีออนไลน์รวมแล้วกว่า 14,794 เรื่อง แบ่งเป็นการแจ้งความเกี่ยวกับ การหลอกลวงด้านการเงิน 8,126 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 55 การจำหน่ายสินค้าออนไลน์ 5,859 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 39 Fake news 147 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ1 ล่วงละเมิดทางเพศ 38 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 0.25 การพนันออนไลน์ 137 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 0.9 คดีออนไลน์อื่นๆ 487 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 3.2 โดยได้ดำเนินการขออายัดบัญชีกว่า 3,972 บัญชี ยอดเงินรวมกว่า 806,134,920 บาท ยอดที่สามารถอายัดได้กว่า 56,660,122 บาท


พร้อมกันนี้ขอประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบถึงสิ่งที่ต้องเตรียมเพิ่มเติมไว้ล่วงหน้าเพื่อความสะดวกรวดเร็วในการแจ้งความ ผ่านศูนย์รับแจ้งความออนไลน์ ดังนี้
1.บัตรประจำตัวประชาชน ควรอยู่กับตัว เนื่องจากในการลงทะเบียนจะต้องกรอกข้อมูล ทั้งหมายเลขบัตรและหมายเลขหลังบัตรประชาชน เพื่อเป็นการยืนยันตัวตน
2.อีเมล ผู้แจ้งควรจะต้องมีอีเมลส่วนตัว เพราะหลังจากกรอกรายละเอียดเบื้องต้นแล้ว ระบบจะส่งรหัส OTP ผ่านทางอีเมล เพื่อจะนำมากรอกในระบบ เพื่อยืนยันตัวตนผู้แจ้ง และจะเข้าสู่กระบวนการถัดไป
3.ข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับคดี ทั้งข้อมูลส่วนตัวของผู้แจ้งและข้อมูลเกี่ยวกับผู้ต้องหาเท่าที่ทราบได้แก่ ชื่อ นามแฝง เลขบัตรประชาชน หมายเลขโทรศัพท์ หมายเลขบัญชีธนาคารที่ใช้ในการทำธุรกรรม ช่องทางติดต่ออื่น ๆ เช่น Line Facebook Instagram Twitter เป็นต้น รวมถึงรูปแบบคำโฆษณาของเหล่ามิจฉาชีพ เพื่อใช้ในการเชื่อมโยงข้อมูลคดีอื่น ๆ ที่เคยแจ้งมาก่อน และจะเป็นประโยชน์ต่อการสืบหาคนร้าย ที่ทำในรูปแบบขบวนการ


รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากได้รับข้อมูลจากระบบรับแจ้งความออนไลน์ ผู้บริหารการรับแจ้ง (Admin) และผู้บริหารคดี (Case Manager) วิเคราะห์ข้อมูลและส่งเรื่องต่อไปยังสถานีตำรวจที่ผู้แจ้งสะดวกในการเดินทางไปแจ้งความแล้ว ก็จะเริ่มดำเนินกระบวนการสืบสวนในทันที โดยพนักงานสอบสวนจะทำการโทรนัดหมายผู้แจ้งหรือผู้เสียหายมาสอบปากคำ อายัดบัญชี ทำการออกหมายเรียก และดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องทางคดีตามขั้นตอนกฎหมาย พร้อมทั้งจะรายงานความคืบหน้าคดีในระบบออนไลน์ ซึ่งผู้เสียหายสามารถติดตามความคืบหน้า ส่งข้อมูลเพิ่มเติม หรือสอบถามปัญหาผ่านระบบได้ตลอดเวลา
แต่ทั้งนี้ประชาชนก็ยังสามารถไปแจ้งความโดยตรงได้ทุกสถานีตำรวจที่สะดวก แม้สถานีนั้นจะไม่มีอำนาจการสอบสวน ก็จะส่งเรื่องต่อไปยังสถานีตำรวจที่มีอำนาจการสอบสวนต่อไป


และอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องเน้นย้ำเพิ่มเติมก่อนจะแจ้งความในคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีผ่านทางศูนย์คือ ต้องตรวจสอบดูชื่อเว็บไซต์ของทางศูนย์รับแจ้งความให้ถูกต้องครบทุกตัวอักษร โดยเว็บไซต์ของศูนย์ชื่อว่า www.thaipoliceonline.com เพื่อเป็นการป้องกันเหล่ามิจฉาชีพที่อาจฉวยโอกาสแอบปลอมแปลงเว็บไซต์ โดยการใช้ชื่อที่คล้ายกับเว็บไซต์จริง และทางศูนย์รับแจ้งความขอให้ประชาชนเข้าไปแจ้งผ่านทางเว็บไซต์เป็นอันดับแรก เพื่อความสะดวกของประชาชนและ เพื่อความรวดเร็วในการเชื่อมโยงข้อมูลคดีของเจ้าหน้าที่
ซึ่งหากพบข้อขัดข้องใดๆ ก็สามารถติดต่อสอบถามได้ที่สายด่วนหมายเลข 1441 หรือหมายเลขโทรศัพท์ 081-866-3000 ตลอด 24 ชั่วโมง