พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยถึงสถิติการรับแจ้งความหลังเปิดศูนย์รับแจ้งความออนไลน์ ตั้งแต่วันที่ 1-9 มี.ค. 65 เป็นต้นมา รวมกว่า 1,600 คดี รวมถึงประชาสัมพันธ์การเตรียมตัวก่อนแจ้งความออนไลน์
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีความห่วงใยต่อภัยทางสื่อสังคมออนไลน์ที่หลอกลวงสร้างความเสียหายให้กับประชาชน จึงมีนโยบายให้จัดตั้งศูนย์รับแจ้งความออนไลน์คดีทางเทคโนโลยี
ดังนั้น เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินคดีและแก้ไขปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จึงได้กำชับให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเร่งทำการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบ และสามารถเข้าถึงการแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ง่ายขึ้น
หลังจากที่ได้มีการเปิดศูนย์รับแจ้งความออนไลน์เฉพาะคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้ประชาชน ก็ได้มีประชาชนเข้ามาใช้บริการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากการรวบรวมสถิติพบว่ามีการแจ้งความออนไลน์ ตั้งแต่วันที่ 1-9 มี.ค.65 มีการแจ้งความรวมแล้วกว่า 1,600 คดี แบ่งเป็นการแจ้งความเกี่ยวกับการหลอกลวงทางการเงินกว่า 1,000 คดี การหลอกลวงจำหน่ายสินค้ากว่า 400 คดี และคดีประเภทอื่น ๆ เช่น คดีตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และการพนันออนไลน์ เป็นต้น อีกกว่า 200 คดี พร้อมกันนี้ ขอประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบถึงการเปิดให้บริการของศูนย์ดังกล่าวและขอความร่วมมือให้ผู้ที่ทราบแล้ว ช่วยกระจายข่าวออกไปในวงกว้าง รวมถึงสิ่งที่ต้องเตรียมเพิ่มเติมไว้ล่วงหน้าเพื่อความสะดวกรวดเร็วในการแจ้งความผ่านศูนย์รับแจ้งความออนไลน์ ดังนี้
1.บัตรประจำตัวประชาชน ควรอยู่กับตัว เนื่องจากในการลงทะเบียนจะต้องกรอกข้อมูล ทั้งหมายเลขบัตรและหมายเลขหลังบัตรประชาชน เพื่อเป็นการยืนยันตัวตน
2.อีเมล ผู้แจ้งควรจะต้องมีอีเมลส่วนตัว เพราะหลังจากกรอกรายละเอียดเบื้องต้นแล้ว ระบบจะส่งรหัส OTP ผ่านทางอีเมล เพื่อจะนำมากรอกในระบบ เพื่อยืนยันตัวตนผู้แจ้ง และจะเข้าสู้กระบวนการถัดไป
3.ข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับคดี ทั้งข้อมูลส่วนตัวของผู้แจ้งและข้อมูลเกี่ยวกับผู้ต้องหาเท่าที่ทราบได้แก่ ชื่อ นามแฝง เลขบัตรประชาชน หมายเลขโทรศัพท์ หมายเลขบัญชีธนาคารที่ใช้ในการทำธุรกรรม ช่องทางติดต่ออื่น ๆ เช่น Line Facebook Instagram Twitter เป็นต้น รวมถึงรูปแบบคำโฆษณาของเหล่ามิจฉาชีพ เพื่อใช้ในการเชื่อมโยงข้อมูลคดีอื่น ๆ ที่เคยแจ้งมาก่อน และจะเป็นประโยชน์ต่อการสืบหาคนร้ายที่ทำในรูปแบบขบวนการ
รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากได้รับข้อมูลจากระบบรับแจ้งความออนไลน์ ผู้บริหารการรับแจ้ง (Admin) และผู้บริหารคดี (Case Manager) วิเคราะห์ข้อมูลและส่งเรื่องต่อไปยังสถานีตำรวจที่ผู้แจ้งสะดวกในการเดินทางไปแจ้งความแล้ว ก็จะเริ่มดำเนินกระบวนการสืบสวนในทันที โดยพนักงานสอบสวนจะทำการโทรนัดหมายผู้แจ้งหรือผู้เสียหายมาสอบปากคำ อายัดบัญชี ทำการออกหมายเรียก และดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องทางคดีตามขั้นตอนกฎหมาย พร้อมทั้งจะรายงานความคืบหน้าคดีในระบบออนไลน์ ซึ่งผู้เสียหายสามารถติดตามความคืบหน้า ส่งข้อมูลเพิ่มเติม หรือสอบถามปัญหาผ่านระบบได้ตลอดเวลา
แต่ทั้งนี้ประชาชนก็ยังสามารถไปแจ้งความโดยตรงได้ทุกสถานีตำรวจที่สะดวก แม้สถานีนั้นจะไม่มีอำนาจการสอบสวน ก็จะส่งเรื่องต่อไปยังสถานีตำรวจที่มีอำนาจการสอบสวนต่อไป
และอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องเน้นย้ำเพิ่มเติมก่อนจะแจ้งความในคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีผ่านทางศูนย์คือ ต้องตรวจสอบดูชื่อเว็บไซต์ของทางศูนย์รับแจ้งความให้ถูกต้องครบทุกตัวอักษร โดยเว็บไซต์ของศูนย์ชื่อว่า www.thaipoliceonline.com เพื่อเป็นการป้องกันเหล่ามิจฉาชีพที่อาจฉวยโอกาสแอบปลอมแปลงเว็บไซต์ โดยการใช้ชื่อที่คล้ายกับเว็บไซต์จริง และทางศูนย์รับแจ้งความขอให้ประชาชนเข้าไปแจ้งผ่านทางเว็บไซต์เป็นอันดับแรก เพื่อความสะดวกของประชาชนและ เพื่อความรวดเร็วในการเชื่อมโยงข้อมูลคดีของเจ้าหน้าที่
ซึ่งหากพบข้อขัดข้องใดๆ ก็สามารถติดต่อสอบถามได้ที่สายด่วนหมายเลข 1441 หรือหมายเลขโทรศัพท์ 081-866-3000 ตลอด 24 ชั่วโมง