จากกรณีปรากฏข่าวทางสื่อโซเชียลมีเดียและสื่อโทรทัศน์ต่างๆ ว่ามีคนไทยถูกหลอกลวงและบังคับให้ทำงานผิดกฎหมายในประเทศกัมพูชา และได้ร้องขอความช่วยเหลือจากหน่วยราชการไทยให้ช่วยเหลือเดินทางกลับประเทศไทย ผ่านทางสื่อโซเชียลมีเดีย โดยเจ้าหน้าที่ทางการไทยได้ให้การช่วยเหลือมาอย่างต่อเนื่อง ตามที่ทราบแล้ว นั้น
กรณีดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด เพื่อให้การช่วยเหลือเหยื่อคนไทยเป็นการเร่งด่วน พร้อมทั้งขยายผลถึงเครือข่ายผู้กระทำผิดที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกลุ่มองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติเหล่านี้ถือโอกาสที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจในช่วงโควิด-๑๙ หลอกลวงไปบังคับใช้แรงงาน ทำงานผิดกฎหมายในต่างประเทศ ซึ่งการกระทำในลักษณะดังกล่าวอาจเข้าข่ายการค้ามนุษย์ กระทบต่อความปลอดภัยของประชาชนทั่วไปในสังคม
พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ได้สั่งการให้ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร./ผู้อำนวยการ ศพดส.ตร. และ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วย ผบ.ตร./ รองผู้อำนวยการ ศพดส.ตร. ประสานงานกับสถานทูตไทย ประจำกรุงพนมเปญ และผู้ช่วยทูตตำรวจไทย ประจำประเทศกัมพูชา รวมถึงหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายในประเทศกัมพูชา จนกระทั่งสามารถช่วยเหลือคนไทยซึ่งถูกหลอกลวงกลับมาได้อย่างปลอดภัยเมื่อวันที่ ๒ มี.ค.๖๕ จำนวน ๕๖ คน ซึ่งได้นำคนไทยทั้งหมดเข้าสู่กระบวนการตามมาตรการทางสาธารณสุขของไทย และการคัดแยกเหยื่อต่อไป
เมื่อวันที่ 9 มี.ค.64 เวลา 14.00 น. ณ โรงแรมวังน้ำเย็นการ์เด้น อ.วังน้ำเย็น จ.สระแก้ว พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วย ผบ.ตร. /รอง ผอ.ศพดส.ตร. รับผิดชอบในการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ภ.จว.สระแก้ว ดำเนินการคัดแยกเหยื่อคดีค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นกลุ่มคนไทยที่เจ้าหน้าที่ได้ช่วยเหลือกลับจากกัมพูชาเกือบ 600 คน โดยมีสหวิชาชีพร่วมทำหน้าที่ เช่น กระทรวงแรงงาน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรมการปกครอง เจ้าหน้าที่ตำรวจ และ NGOs
กระบวนการคัดแยกเหยื่อนับเป็นด่านแรกที่สำคัญมาก เป็นกระบวนการอันนำไปสู่การดำเนินคดีค้ามนุษย์ หากมีการดำเนินการอย่างถูกต้อง จะส่งผลดีต่อรูปคดี ทั้งการรวบรวมพยานหลักฐานในคดีค้ามนุษย์ การสืบสวนขยายผล การช่วยเหลือดูแลเหยื่อจากการค้ามนุษย์ จนถึงขบวนการพิจารณาชั้นศาล ซึ่งที่ผ่านมามีบางคดีศาลยกฟ้องเนื่องจากกระบวนการคัดแยกเหยื่อไม่ได้มาตรฐาน พนักงานสอบสวนไม่ได้ทำการคัดแยกเหยื่อ เพราะไม่มีรูปแบบที่ถูกต้องในการดำเนินการ
พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ฯ จึงมีแนวความคิดให้ดำเนินการคัดแยกเหยื่อคนไทยที่ได้รับการช่วยเหลือครั้งนี้ ให้ได้มาตรฐานสากล โดยให้สหวิชาชีพ มาร่วมคัดเลือกตามกฎหมาย พร้อมให้จัดเตรียมสถานที่ อุปกรณ์ แนวทางการกำหนดประเด็นสอบถาม รวมถึงการประชุมก่อนและหลังการคัดแยก รวบรวมทำเป็นสื่อการเรียนรู้ เพื่อใช้เป็นต้นแบบในการคัดแยกเหยื่อทั่วประเทศอย่างมีมาตรฐานสากล เป็นรูปแบบเดียวกัน ทำให้การดำเนินคดีค้ามนุษย์ของไทยมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วย ผบ.ตร. กล่าวว่า “นอกจากการให้ความช่วยเหลือคนไทยที่ถูกบังคับใช้แรงงานผิดกฎหมายให้ได้กลับมายังประเทศไทยอย่างปลอดภัยแล้วนั้น การคัดแยกเหยื่อนับเป็นกระบวนการสำคัญอีกเช่นกันที่จะทำให้เหยื่อจากการค้ามนุษย์ได้รับประโยชน์อย่างสูง นอกจากจะสามารถให้ข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์ต่อ
การดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์แล้ว เหยื่อยังจะสามารถได้รับการดูแลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้อย่างเต็มที่ ตลอดจนได้รับการช่วยเหลือทางกฎหมาย การสร้างอาชีพ จนถึงการกลับไปอยู่ร่วมกับสังคม ซึ่งการสร้างสื่อการเรียนรู้นี้ จะทำให้การคัดแยกเหยื่อทั่วประเทศทำได้ตามมาตรฐานสากล และจะช่วยยกระดับการดำเนินการเกี่ยวกับคดีค้ามนุษย์ของไทยให้ทัดเทียมกับนานาชาติ”
ในการนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอความร่วมมือพี่น้องสื่อมวลชน ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชน ได้ทราบถึงการดำเนินการและการกระทำผิดที่เกี่ยวข้องกับการค้าประเวณีเด็ก และความรุนแรงในครอบครัวดังกล่าว เพื่อให้ประชาชนโดยทั่วไปได้ทราบ นอกจากนี้หากประชาชนพบเห็นการกระทำผิดในลักษณะดังกล่าว สามารถแจ้งข้อมูลมายัง ศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศพดส.ตร.) โดยตรง ช่องทางสายด่วน 1599 หรือ www.humantrafficking.police.go.th หรือ ผ่านช่องทางเฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/TICAC2016 หรือ LineOA: @HUMANTRAFFICKTH หรือ TWITTER: @safe_dek หรือช่องทางใหม่ล่าสุดคือ การสแกน QRCODE เพื่อกรอกแบบฟอร์มในการแจ้งเหตุและเบาะแสการกระทำผิดดังกล่าวเพื่อแจ้งเบาะแสในการปราบปรามการกระทำผิดต่อไป