ผู้ช่วยผบ.ตร. ตรวจเรืออ่าวไทย เข้าค้น 8 จังหวัด 19 จุดทั่วประเทศ ปราบฉ้อโกงน้ำมันสีเขียว

กรณีที่ประเทศไทยได้ถูกลดอันดับการรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์จากทางการสหรัฐฯ ลงเป็นอันดับประเทศที่ต้องจับตามอง (Tier 2 Watch List) โดยมีข้อสังเกตในเรื่องการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการค้ามนุษย์อย่างจริงจังในทุกภาคส่วน ปัญหาการบังคับใช้แรงงานและแรงงานข้ามชาติ ซึ่งเกิดขึ้นในหลายอุตสาหกรรมรวมถึงภาคการประมง รวมทั้งปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ตามที่ทราบแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย เพื่อแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย และการบังคับใช้แรงงานในภาคการประมง โดยมี พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นประธานคณะทำงานเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบ ควบคุม เฝ้าระวังการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพื่อขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งได้แต่งตั้งชุดปฏิบัติการตรวจสอบและเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาการประมง เพื่อการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวและประสานการปฏิบัติร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง


พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร.สั่งให้ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รองผบ.คร.และผอ. ศพดส.ตร. และ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วยผบ.ตร.และรองผอ.ศพดส.ตร.และรองประธานอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) โดยเร่งด่วน จากกรณีที่มีการฉ้อโกงน้ำมันเขียวของเรือซึ่งใช้วิธีการที่ผิดกฎหมายในการลักลอบเติมน้ำมันเขียวซึ่งรัฐบาลได้กำหนดกฎเกณฑ์ไว้เพื่อให้น้ำมันเขียวเป็นทางเลือกในการช่วยเหลือเรือประมงไทยในทะเล

วันที่ 8 มีนาคม 2565 พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วยผบ.ตร. ได้เปิดปฏิบัติตรวจสอบกระบวนการฉ้อโกงน้ำมันเขียวพื้นที่ทะเลอ่าวไทย โดย พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วย ผบ.ตร. ในฐานะประธานคณะทำงานเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบ ควบคุม และเฝ้าระวัง การทำประมงโดยผิดกฎหมาย พร้อมคณะทำงานชุดปฏิบัติการด้านการตรวจสอบและเพิ่มประสิทธิภาพทางทะเล โดยการกระทำผิดดังกล่าวเป็นความผิดฐาน “ขนถ่ายในเขตต่อเนื่องโดยไม่มีเหตุอันควรหรือไม่ได้รับอนุญาต” ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 189 ซึ่งคณะทำงานฯ ได้ดำเนินการสืบสวนขยายผลมาโดยตลอดจนพบว่า ในทะเลฝั่งอ่าวไทยได้มีการกระทำความผิดลักษณะเดียวกันกับฝั่งอันดามัน เป็นจำนวนหลายบริษัทใหญ่ ประกอบด้วย 1.บริษัท มนตรีทวีสิน 2004 จำกัด 2.บริษัท ไทยแหลมทอง ค้าน้ำมันประมง จำกัด 3.หจก.ปัตตานีรวมโชค 4.บริษัท ดับเบิ้ลดี ปิโตเลียม จำกัด 5.บริษัท เอส.ซีไลอ้อน จำกัด ซึ่งบริษัทเหล่านี้มีเรือสถานีบริการน้ำมันดีเซลเป็นของตนเอง เพื่อจำหน่ายให้แก่ชาวประมงตามนโยบายของรัฐบาล แต่ปรากฏว่ามีเรือประมงซึ่งไม่มีสิทธิเติมน้ำมันเขียวตามประกาศกรมศุลกากร ที่ 68/2561 เรื่องการอนุญาตให้ผู้ประกอบการนำน้ำมันดีเซลออกไปจำหน่ายในเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักร เข้ามาเกี่ยวข้องในกระบวนการในครั้งนี้ด้วย

พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ ได้สั่งการให้ พ.ต.อ.ชณพล วันขวัญ รอง ผบก.รน.หน.ชุดปฏิบัติการที่ 3 ดำเนินการตรวจสอบเชิงรุก ค้นหาเป้าหมายในกระบวนการนี้อย่างรวดเร็ว โดยคณะทำงานได้วางกำลังตามจังหวัดต่างๆ ที่มีการกระทำความผิด 8 จังหวัด ได้แก่ สมุทรปราการ สมุทรสาคร เพชรบุรี ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา และปัตตานี และได้แบ่งกำลังการตรวจค้นเป้าหมายทั้งทางบกและทางน้ำ เพื่อตรวจค้นบริษัทน้ำมันอันเป็นเจ้าของเรือสถานีบริการน้ำมันดีเซล และเจ้าของบ้านเรือประมง ซึ่งได้ไปเติมน้ำมันเขียวจากเรือสถานีบริการน้ำมัน รวมทั้งเรือสถานีบริการน้ำมันในเขตต่อเนื่อง 5 ลำ ในภารกิจครั้งนี้ชุดปฏิบัติการเข้าปิดล้อมตรวจค้นเป้าหมายทั้งสิ้น 19 จุด ประกอบด้วย เรือสถานีบริการน้ำมันจำนวน 5 ลำ เรือประมงจำนวน 3 ลำ และบริษัทน้ำมัน 4 บริษัท สำนักงานเรือประมง/บ้านเจ้าของเรือ 6 จุด อู่เรือ 1 จุด ใช้กำลังพลในปฏิบัติการครั้งนี้จำนวน 180 นาย เรือตรวจการณ์จำนวน 7 ลำ และอากาศยานจำนวน 1 ลำ โดยจะทำการตรวจค้นเพื่อรวบรวมพยานหลักฐาน เเละทำเป็นรายงานสืบสวนเพื่อดำเนินคดีให้กับผู้เกี่ยวข้องในการกระทำความผิดต่อไป

พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า ปฏิบัติการในครั้งนี้จะเป็นการเริ่มต้นการดำเนินการตรวจสอบกระบวนการฉ้อโกงน้ำมันเขียว ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับรัฐปีละหลายร้อยล้านบาท โดยเป็นการบูรณาการร่วมกันหลายหน่วยงาน เพื่อปราบปรามกระบวนการดังกล่าวให้หมดไป ต่อจากนี้จะมีการปฏิบัติการอย่างต่อเนื่องเพื่อให้โครงการน้ำมันเขียวของรัฐบาลเกิดประโยชน์แก่ชาวประมงไทยเราให้มากที่สุด

หากประชาชนพบเห็นการกระทำผิดในลักษณะดังกล่าว สามารถแจ้งข้อมูลมายัง ศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศพดส.ตร.) โดยตรง ช่องทางสายด่วน 1599 หรือ www.humantrafficking.police.go.th หรือ ผ่านช่องทางเฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/TICAC2016 หรือ LineOA: @HUMANTRAFFICKTH หรือ TWITTER: @safe_dek หรือช่องทางใหม่ล่าสุดคือ การสแกน QRCODE เพื่อกรอกแบบฟอร์มในการแจ้งเหตุและเบาะแสการกระทำผิดดังกล่าวเพื่อแจ้งเบาะแสในการปราบปรามการกระทำผิดต่อไป