ตำรวจไซเบอร์ ร่วมกับ สภาผู้แทนราษฎร ร่วมเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางไซเบอร์ ให้กับประชาชน

ตามนโยบายของ ฯพณฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ให้ความสำคัญกับปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับพี่น้องประชาชน และ นโยบาย Cyber Vaccine ของ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ในการสร้างการรับรู้อาชญกรรมไซเบอร์ให้กับประชาชน ไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ ทันต่อรูปแบบของอาชญากรรมที่เปลี่ยนไป

ด้วยคณะกรรมการธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สภาผู้แทนราษฎร โดยมี นางสาวกัลยา รุ่งวิจิตรชัย ประธานคณะกรรมาธิการฯ ได้เชิญ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เป็นวิทยากรให้ความรู้ในการสัมนา เรื่อง “รู้เท่าทันเทคโนโลยีออนไลน์ในยุค new normal” ณ ศาลาประชาคม หมู่ที่ 4 ต.พุแค อ.เฉลิมพระเกียรติ จว.สระบุรี

โดยเมื่อวันที่ 20 – 21 กุมภาพันธ์ 2565 พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง ผบช.สอท. ได้มอบหมายให้ กองบังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี นำโดย ว่าที่ พ.ต.อ.เกรียงไกร พุทไธสง ผกก. กลุ่มงานสนับสนุนทางไซเบอร์, พ.ต.ท.ธนธัส กังรวมบุตร กลุ่มงานสนับสนุนทางไซเบอร์ และ พ.ต.ต.เทียนชัย เข็มงาม สว.กลุ่มงานสนับสนุนทางไซเบอร์ เป็นวิทยากร ในการให้ความรู้เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีออนไลน์ เสริมสร้างความตระหนักรู้ถึงความปลอดภัยในการเข้าถึงและใช้เทคโนโลยี รวมถึงให้ความรู้เกี่ยวกับแนวทางในการป้องกันการคุกคามทางเทคโนโลยีออนไลน์

ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับวิธีสังเกต ดูแลตนเองและแนะนำคนใกล้ชิด เกี่ยวกับอาชญากรรมทางออนไลน์ เช่น แก๊งหลอกลวง ขบวนการ Call Center ข่มขู่ให้เกิดความกลัว, หลอกให้หลงรักแล้วโอนเงิน (Romance scam) หรือ หลอกให้ลงทุน (Hybrid scam), รับจ้างเปิดบัญชีธนาคาร / ยินยอมให้ผู้อื่นใช้บัญชีธนาคาร (บัญชีม้า) ซึ่งเข้าข่ายเป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน, การกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ Cyber bullying , หลอกลวงเอาภาพโป้เปลือยเพื่อใช้แบล็คเมล์, ส่งลิงค์ปลอมเพื่อหลอกแฮ็กเอาข้อมูลส่วนตัว, แอพพลิเคชั่นเงินกู้ออนไลน์ / ดอกเบี้ยโหด หรือ เงินกู้ออนไลน์ ที่ไม่มีจริง (เงินกู้ทิพย์) ตลอดจน การเตรียมตัวศึกษา โลกการลงทุน ในคริปโตเคอเรนซี่/Metaverse และ การป้องกันอาชญากรรมทางไซเบอร์ “คิดก่อนคลิ๊ก เช็คก่อนโอน” หรือ “ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน”เป็นต้น

โดยกลุ่มเป้าหมาย ที่เข้ารับฟังการสัมนา เป็นนักเรียนนักศึกษา ประชาชนทั่วไป และผู้สนใจ จำนวน 550 คน ซึ่งจะได้รับทราบเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยี ผลดี ผลเสียของเทคโนโลยีออนไลน์, เสริมสร้างความตระหนักรู้ถึงความปลอดภัยในการเข้าถึงและเทคโนโลยีออนไลน์ ตลอดจนแนวทางในการป้องกันภัยคุมคามทางเทคโนโลยีออนไลน์