จิตอาสาตำรวจสอบสวนกลาง โดย บก.ปอท. “เตือนภัย Romance Scam – หลอกรักออนไลน์”

วันที่ 5 ก.พ. ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. และ พล.ต.ต.ศารุติ แขวงโสภา ผบก.ปอท. ได้จัดทำจิตอาสาออนไลน์ตำรวจสอบสวนกลาง โดยประชาสัมพันธ์เตือนภัยเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในรูปแบบวิธี Romance Scam หรือ หลอกรักออนไลน์ ซึ่งมีรูปแบบดังนี้

1.หลอก ( หลอกลวงว่าเป็นนักธุรกิจ ,มีฐานะ ,แอบอ้างเป็นบุคคลอื่น ให้มีความน่าเชื่อถือ) คนร้ายมักจะใช้รูปภาพของบุคคลอื่นที่ดูดี หล่อ สวย น่าเชื่อถือ มักใช้ภาพที่มีการแต่งกายดูดี ภูมิฐาน หรือภาพคนในเครื่องแบบ เช่น ทหาร แพทย์ นักธุรกิจ วิศวกร มีสถานะในโลกออนไลน์เป็นคนโสด หรืออาจเคยแต่งงานมาแล้วแต่ภรรยาเสียชีวิตหรือหย่าร้าง โดยจะแอบอ้างว่าเป็นบุคคลในรูปและใช้ข้อมูลจริงของบุคคลในรูป หรืออาจจะสร้างตัวตนใหม่ เพื่อให้ดูน่าเชื่อถือทำให้เหยื่อเชื่อใจจากภาพลักษณ์ที่เห็น ซึ่งส่วนใหญ่คนร้ายจะแฝงตัวอยู่ในสังคมออนไลน์ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชั่นหาคู่ต่างๆ และอาจติดต่อพูดคุยกับเหยื่อได้ทุกช่องทาง เช่นทางอีเมล เฟซบุ๊ก ไลน์ เมสเซนเจอร์ ฯลฯ

2.รัก ( หว่านล้อมด้วยคำหวาน ,ตีสนิท ,ให้เชื่อใจ ,ให้ความหวัง ) คนร้ายจะหลอกให้หลงรัก หลอกให้เชื่อว่ารัก หลอกให้เชื่อใจ ให้ความหวังว่าจะแต่งงานใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันตลอดไป และใช้ความรักความเชื่อใจของเหยื่อในการแสวงหาประโยชน์ โดยคนที่อาจตกเป็นเหยื่อของ Romance Scam มักจะเป็นคนที่มีสถานะโสด หย่าร้าง เป็นหม้าย เนื่องจากเป็นกลุ่มที่น่าจะเหงาและต้องการหาเพื่อน หรืออาจเป็นกลุ่มผู้สูงอายุที่อยู่ลำพัง มีเวลาว่าง ขาดการดูแลใกล้ชิดจากบุตรหลาน หรืออาจจะเป็นสาวใหญ่ที่แสวงหารักแท้ หรืออาจจะเป็นใครก็ได้ ซึ่งผู้ที่ตกเป็นเหยื่อส่วนใหญ่จะมีลักษณะเป็นคนที่ มองโลกในแง่ดีเกินไป เชื่อคนง่าย และเปิดโอกาสให้คนที่ไม่รู้จักเข้ามาพูดคุยสร้างสัมพันธ์ได้ง่าย รวมถึงมีพฤติกรรมเสี่ยงอย่างอื่นด้วย เช่น ใส่ข้อมูล ประวัติส่วนตัว ภาพถ่ายของตนเอง อัปเดตเรื่องราวในชีวิตประจำวันต่างๆ ไว้บนเฟซบุ๊ก หรือในเว็บไซต์หาคู่ต่างๆ โดยมักตั้ง status ที่เป็นสาธารณะในสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งเมื่อคนร้ายเห็นและเลือกเหยื่อได้แล้ว ก็จะเข้ามาพูดคุยตีสนิท โดยการเล่าเรื่องราวที่แต่งขึ้นของตนเอง เช่น เป็นข้าราชการเกษียณ นักธุรกิจ หรือ มหาเศรษฐี โสดหรือสมรสแล้วแต่สามีหรือภรรยาเสียชีวิตและหลอกถามข้อมูลส่วนตัว เช่น อายุ อาชีพ
เพื่อประเมินและสังเกตจุดอ่อนของเหยื่อ หลังจากนั้นก็จะทำให้เหยื่อเชื่อใจ ทำให้รัก หลังจากนั้นก็หลอกลวงเอาผลประโยชน์จากเหยื่อนั่นเอง

3.ลวง (ลวงเอาทรัพย์สิน ,เงิน ,ผลประโยชน์) เมื่อเหยื่อเริ่มตายใจหรือมีความสนิทสนมแล้ว จะออกกลอุบายในการหลอกลวงเอาทรัพย์สิน เช่น หลอกว่าเป็นนักธุรกิจหรือมหาเศรษฐีที่จะมาลงทุนในประเทศไทยและต้องการหาคนมาร่วมลงทุนด้วย จึงหลอกให้เหยื่อโอนเงินไปช่วยหมุนในธุรกิจก่อน เหยื่อมักจะหลงเชื่อเพราะคนร้ายหลอกว่าจะให้เงินก้อนใหญ่ ผลตอบแทนสูงหลายสิบเท่า หากรีบลงทุนเสียแต่ตอนนี้ หรือหลอกว่าส่งสิ่งของมีราคาสูงมากมาให้ แต่ของติดอยู่ที่ด่านตรวจ จึงขอให้เหยื่อช่วยโอนเงินไปจ่ายก่อนเพื่อจะได้นำของออกมาให้เหยื่อได้ เหยื่อมักจะหลงเชื่อเพราะหวังว่าจะได้ในสิ่งของราคาสูงนั้นหรืออาจจะหลอกว่ามีพ่อแม่พี่น้องหรือแม้แต่ตัวเองกำลังป่วย ขอให้เหยื่อส่งเงินไปช่วยรักษา เมื่อหายแล้วจะได้เดินทางมาหา หรือหลอกว่ากำลังเดือดร้อนต้องการใช้เงินจำนวนมากๆ เช่น ชำระหนี้ หรือไถ่ถอนที่ดินหรือบ้าน เหยื่อหลงเชื่อเพราะรัก สงสาร และหวังที่จะได้ใช้ชีวิตร่วมกันจึงยอมช่วยเหลือ

โดยการหลอกทุกรูปแบบที่กล่าวมาข้างต้นนี้ จะมาพร้อมคำสัญญาว่า จะคืนเงินให้ตามจำนวนหรือมากกว่าหลายเท่า รวมทั้งสัญญาว่าจะแต่งงานมีอนาคตร่วมกัน เมื่อเหยื่อเริ่มรู้ตัวหรือสงสัยว่าอาจจะถูกหลอก คนร้ายก็หลบหนีไปไม่สามารถติดต่อได้แล้ว โดยคนร้ายจะปิดบัญชีออนไลน์ต่างๆ ที่สร้างขึ้นมาเพื่อหลอกลวงโดยการใช้ประวัติและรูปภาพปลอม ทำให้ดำเนินการติดตามตัวได้ยาก หรือถ้าติดต่อได้ก็อาจเป็นคนที่ถูกนำรูปภาพมาใช้ ไม่ใช่คนร้ายตัวจริง

4.หลบหนี (เมื่อได้ทรัพย์สินแล้ว ก็จะหลบหนีไป)

วิธีการป้องกันจากภัยรักออนไลน์
สติ ( มีสติ เหนืออารมณ์ )
สืบ (สืบค้นทางอินเตอร์เน็ต หาข้อมูลทางโซเชียลให้มากที่สุด)
สตางค์ (รักษาทรัพย์สินไว้ อย่าหลงเชื่อ ,อย่าโลภ วิเคราะห์ให้มาก) แสวงหา (เสาะหาความรู้ ข้อมูลข่าวสารอาชญากรรม เพื่อให้รู้เท่าทันอาชญากร)หากตกเป็นเหยื่อ แล้วต้องทำอย่างไร

หากตกเป็นเหยื่อของ Romance Scam แล้ว ให้เก็บหลักฐานการโอนเงิน และเก็บภาพข้อความ
การพูดคุยกับคนร้ายผ่านช่องทางต่าง ๆ เก็บชื่อบัญชี ภาพโปรไฟล์ และข้อมูลของคนร้ายไว้ให้มากที่สุด นำไปแจ้งความกับสถานีตำรวจเพื่อดำเนินคดี

โดยกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) มีคำแนะนำเพิ่มเติม ดังนี้

  1. ให้ผู้เสียหายเตรียมเอกสารส่วนตัว และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน ไปด้วย
  2. เตรียมหลักฐานที่พบว่ามีการกระทำความผิด เช่น หน้าจอ หน้าเว็บไซต์ หน้าโปรแกรมไลน์ โปรแกรมเฟซบุ๊ก หรือหน้าเพจที่พบการกระทำความผิด การหลอกลวง หลักฐานการโอนเงินต่าง ๆ พรินต์ออกจากระบบคอมพิวเตอร์แล้วนำไปประกอบการแจ้งความด้วย
  3. ให้ไปแจ้งความ ณ สถานีตำรวจท้องที่เกิดเหตุ สถานีตำรวจนครบาล หรือสถานีตำรวจภูธร