เมื่อวันที่ 13 ม.ค. ที่ จ.นครนายก กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. ได้สั่งการให้ พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ. พ.ต.อ.อภิชาติ เรนชนะ ผู้กำกับการ 2 บก.ปคบ. พ.ต.ท.ธีรภพ พันธุชาติ รอง ผกก.2 บก.ปคบ. พ.ต.ต.จรูญ คำมา สว.กก. 2 บก.ปคบ. พร้อมชุดปฏิบัติการที่ 2 กก.2 บก.ปคบ.ร่วมกับพนักงานเจ้าหน้าที่สารวัตรเกษตร สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร นำโดยนายฐิติพงษ์ เพ็งแพง นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ ร่วมตรวจสอบโกดังไม่มีเลขที่หลังร้านรักเกษตร เลขที่ 9/9 หมู่ที่ 2 ต.องครักษ์ อ.องครักษ์ จ.นครนายก ใกล้กับธนาคารออมสิน สาขาองครักษ์ ได้ร่วมกันจับกุมนายไกรสม (สงวนนามสกุล) อายุ 58 ปี เจ้าของโกดังเป็นผู้ดูแลและนำตรวจสอบโกดังแห่งนี้ จากการตรวจสอบพบผลิตภัณฑ์วัตถุอันตราย สารกำจัดวัชพืช พาราควอต จำนวน 10 แกลลอน สารกำจัดแมลง ชื่อ เมอเซีย ตราเงาะป่า 86 ขวด , ชื่อคีฟอล์ย 144 ขวด สารกำจัดปูนา พาริดอน 384 กระป๋อง , รีดอลแค๊ป 271 กล่อง สารกำจัดแมลงศัตรูพืช เอ็นโดซัลแฟนฯ 122 ขวด สารกำจัดวัชพืช ไกลโฟเซต 115 แกลลอน คัทรูท 572 แกลลอน ปุ๋ยสูตรต่างๆ รวม 71 ตัน โดยกล่าวหาว่า
1.มีวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ไว้ในครอบครอง โดยผิดกฎหมาย ตามมาตรา 43 , 74 แห่งพ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535
ต้องระหว่างโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปีหรือปรับไม่เกิน 1,000,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
2.มีไว้ครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 โดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม มาตรา 23 , 73 แห่ง พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535
ต้องระหว่างโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกิน 200,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
3.มีไว้ครอบครองวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ซึ่งมีวัตถุอันตรายที่ต้องขึ้นทะเบียนไว้ ตามมาตรา 45(4) , 38 แห่ง พ.ร.บ. วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535
ต้องระหว่างโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกิน 300,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
4.ขายปุ๋ยโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ตาม ม. 12 , 53 แห่ง พ.ร.บ. ปุ๋ย 2518
ต้องระหว่างโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกิน 200,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
5.ขายเมล็ดพันธุ์ โดยไม่ได้รับอนุญาต จากพนักงานเจ้าหน้าที่ ตาม ม.14 , 56 แห่ง พ.ร.บ. พันธุ์พืช พ.ศ. 2518
ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ผบก.ปคบ.เตือนภัยว่า ปัจจุบันมีการนำวัตถุอันตรายมาใช้ในทางการเกษตรเป็นจำนวนมาก ซึ่งหากใช้ไม่ถูกวิธี อาจทำให้เกิดอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม พืช สัตว์ หรือแม้กระทั่งต่อผู้ใช้เอง การใช้วัตถุอันตรายที่ไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้อง ก่อให้เกิดผลเสียหาย วัตถุอันตรายที่ไม่ได้รับการขึ้นทะเบียน ผลิตโดยโรงงานที่ไม่ได้รับอนุญาต ไม่มีมาตรฐานในการจัดการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดอันตรายกับผู้ปฏิบัติงาน ชุมชน และสิ่งแวดล้อมใกล้เคียงและจะไม่มีเอกสารคำแนะนำในการใช้ที่ถูกต้อง ผู้ใช้ไม่สามารถใช้วัตถุอันตรายได้ในอัตราที่เหมาะสม อาจทำให้อาจเกิดการตกค้างในสิ่งแวดล้อมได้ ก่อนเลือกซื้อสินค้าที่เป็นวัตถุอันตรายทางการเกษตร ให้เกษตรกรตรวจเลือกซื้อสินค้าที่ผ่านการขึ้นทะเบียน จากกรมวิชาการเกษตร โดยให้ดูทะเบียนวัตถุอันตราย ที่ฉลากแสดงไว้ที่ผลิตภัณฑ์ และวัตถุอันตราย ชนิดที่ 4 ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้ประกาศ ห้ามผลิต นำเข้าและมีไว้ในครอบครอง หากพบเห็นผู้กระทำความผิด โปรดแจ้งได้ที่กรมวิชาการเกษตรและเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อจะได้ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป