ตำรวจสอบสวนกลางภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. เปิดผลงาน 11 คดีสำคัญในไตรมาสสุดท้ายของ ปี 2564 ของหน่วยงานภายใต้สังกัดกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ซึ่งหลายคดีเป็นคดีอาชญากรรมที่สร้างความเสียหายทั้งชีวิต ทรัพย์สิน และจิตใจของผู้ที่ได้รับผลกระทบและอีกหลายครอบครัว
ถึงแม้ว่าอาชญากรรมมีการเปลี่ยนแปลงไปตามเทคโนโลยีและการใช้ชีวิตของประชาชน “ตำรวจสอบสวนกลาง” เราไม่เคยหยุดนิ่งในการเรียนรู้อาชญากรรมที่เกิดขึ้นใหม่ อีกทั้งยังศึกษาพฤติกรรมของอาชญากร เพื่อเก็บเป็นสถิติ นำไปวิเคราะห์ สร้างองค์ความรู้ ถ่ายทอดให้กับตำรวจทุกนาย ในสังกัด “ตำรวจสอบสวนกลาง”
ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการดำเนินงานตามนโยบาย “มืออาชีพ เป็นกลาง เคียงข้างประชน” ทำการสืบสวน ปราบปรามคดีที่มีความซับซ้อนและส่งผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมากมายหลายคดี โดยตั้งแต่ วันที่ 1 ตุลาคม 2564
ตำรวจสอบสวนกลางมีสถิติการจับกุมรวมแล้วกว่า 2,000 คดี จับกุมผู้ต้องหาไปแล้วกว่า 3,000 ราย ซึ่งมีรายละเอียดผลงานชิ้นสำคัญ จำนวน 11 คดี ดังนี้
- กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.)
หลังจากที่ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. เล็งเห็นว่าปัจจุบันคนร้ายส่วนใหญ่มักใช้อาวุธปืนที่มีการซื้อขายหรือครอบครองโดยผิดกฎหมายในการก่อเหตุอุจฉกรรจ์ สะเทือนขวัญประชาชน ในวันที่ 1 ตุลาคม 2564 จึงได้สั่งการให้ทุกกองบังคับการภายใต้สังกัดกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง นำโดยกองบังคับการปราบปรามสนธิกำลังปราบปรามต้นเหตุความรุนแรงที่เกิดจากการใช้อาวุธปืน ซึ่งกลายเป็นภัยใกล้ตัวของประชาชนในยุทธการ “สอบสวนกลางกวาดล้างปืนเถื่อน” ตรวจค้นเป้าหมายทั้งสิ้น 126 จุด จับกุมผู้ต้องหาได้ทั้งหมด 51 ราย สามารถตรวจยึดอาวุธปืนกว่า 300 กระบอก พร้อมของกลางอื่นๆ รวมกว่า 1,000 รายการ ถือเป็นการตัดวงจรเหตุรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคตได้ - กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.)
ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปคบ. ได้ตรวจสอบพบกลุ่มคนร้ายฉวยโอกาสซ้ำเติมความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน โดยการการลักลอบจำหน่ายยาฟาวิพิราเวียร์ ยี่ห้อฟาเวียร์ผ่านช่องทางสื่อออนไลน์เกินราคา จึงสนธิกำลังเข้าตรวจค้นในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ จนสามารถจับกุมผู้ต้องหาที่อยู่ในขบวนการได้ 9 ราย และตรวจยึดยาฟาเวียร์ของกลาง ซึ่งได้มาจากโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งที่สั่งซื้อในนามโรงพยาบาลจากองค์การเภสัชกรรม แล้วนำออกมาจำหน่ายเพื่อหากำไร ตรวจสอบสอบพบราคาต้นทุนอยู่ที่ กล่องละ 1,600 บาท แต่เมื่อนำมาจำหน่ายทางสื่อออนไลน์ กลับจำหน่ายในราคาถึงกล่องละ 4,000-8,000 บาท ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ดำเนินคดีกับผู้ต้องหาทั้งหมด พร้อมสืบสวนขยายผลถึงผู้ที่เกี่ยวข้องในขบวนการต่อไป
3.กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ (บก.ปคม.)
ในปัจจุบันเยาวชนได้หันมาใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการติดต่อสื่อสารกันเป็นจำนวนมาก โซเชียลมีเดียจึงเป็นช่องทางหนึ่งที่คนร้ายใช้ในการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบจากการค้าประเวณีเด็กและเยาวชน
กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ (บก.ปคม.) จึงได้เปิดยุทธการ “ลูกแกะน้อยออนไลน์เฟส 1 และ เฟส 2” สืบสวนจับกุมเครือข่ายโมเดลลิ่ง นำเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ขายบริการทางเพศออนไลน์ จากการสืบสวนพบว่ามีเหยื่อเป็นเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ซึ่งจากทั้งสองยุทธการสามารถจับกุมผู้ต้องหาค้ามนุษย์ได้มากกว่า 10 ราย และสามารถช่วยเหลือผู้เสียหายซึ่งเป็นเด็กได้อีกหลายราย และยังพบข้อมูลว่ามีกลุ่มผู้ที่อาจถูกแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบกว่า 40 ราย ซึ่งหลังจากนี้ก็จะมีการขยายผลอย่างต่อเนื่อง เพื่อดำเนินจับกุมเครือข่ายผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายแบบถอนรากถอนโคน
- กองบังคับการปฏิบัติการพิเศษ (บก.ปพ.)
กองบังคับการปฏิบัติการพิเศษ (บก.ปพ.) เปิดยุทธการปิดล้อมจับกุมผู้มีอิทธิพล ระดมจับกุมกลุ่มผู้ต้องหาตามหมายจับคดีอุกฉกรรจ์ สะเทือนขวัญ โดยได้นำกำลังกวาดล้างกลุ่มผู้มีอิทธิพล มือปืนรับจ้าง คดีสำคัญ คดีอุกฉกรรจ์ สะเทือนขวัญ ในพื้นที่ จ.พัทลุง และพื้นที่ใกล้เคียง โดยสามารถจับกุมนายธีระพงศ์ (กำนันตุ้ม) อายุ 52 ปี หนึ่งในผู้ต้องหารายสำคัญที่เป็นผู้มีอิทธิพล เเละเป็นอดีตกำนันใน อ.ป่าบอน จ.พัทลุง มีประวัติเกี่ยวข้องกับคดีฆ่า, พยายามฆ่า, ปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย, อาวุธปืน, ปลอมแปลงเอกสาร จำนวนหลายคดี
พร้อมกันนี้ยังได้มีการระดมจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับคดีสำคัญ/น่าสนใจ อีกจำนวน 9 ราย ประกอบด้วย คดีร่วมกันฆ่า พยายามฆ่า และ พรบ.อาวุธปืน จำนวน 2 ราย คดีข่มขืนและรีดเอาทรัพย์ 1 ราย คดีฉ้อโกงประชาชน และยักยอก 5 ราย และคดีหมิ่นประบาทโดยการโฆษณา 1 ราย พร้อมตรวจยึดของกลางหลายรายการ ประกอบด้วย อาวุธปืน จำนวน 43 กระบอก, เครื่องกระสุนปืนชนิดต่างๆ จำนวน 237 นัด, รถยนต์และรถจักรยานยนต์ รวมกว่า 42 คัน - กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.)
สืบเนื่องมาจากประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้รับความเดือดร้อนจากการนำเศษขยะมูลฝอย เศษพลาสติก เศษไม้ เศษหิน และวัสดุก่อสร้าง มาทิ้งในพื้นที่ชุมชน ทำให้ขยะส่งกลิ่นเหม็น สร้างมลภาวะอากาศ และน้ำเน่าเสียจากขยะมูลฝอยรั่วซึมไปยังบริเวณใกล้เคียง
บก.ปทส.จึงได้ทำการสืบสวนจนพบแปลงที่ดินที่ประกอบกิจการรับทิ้งขยะโดยไม่ได้รับอนุญาต จำนวน 7 แห่ง ในพื้นที่กรุงเทพฯ จึงได้เข้าทำการตรวจสอบ พบว่าแต่ละแปลงมีรถบรรทุกเล็กและใหญ่เข้ามาทิ้งขยะไม่ต่ำกว่า 50-200 คันต่อวัน โดยบางแปลงมีการลงทุนเช่าที่ดินขนาดใหญ่ ค่าเช่ากว่า 100,000 บาท และเช่ารถแบคโฮ อีกคันละ 8,000 บาทต่อวัน จึงได้ดำเนินการจับกุมบ่อขยะผิดกฎหมายทั้ง 7 แห่ง ทั่วกรุงเทพฯ ดำเนินคดีตามกฎหมาย - กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.)
ในช่วงที่สภาวะเศรษฐกิจ ได้รับผลกระทบเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 กลุ่มผู้ต้องหาได้หลอกลวงประชาชนที่ขาดรายได้และต้องการเข้าถึงแหล่งทุน จึงออกกลอุบายชักชวนว่าสามารถหาแหล่งเงินทุนให้ได้ เพียงแค่ใช้บัตรประชาชนใบเดียว ก็สามารถกู้เงินได้ เมื่อผู้เสียหายหลงเชื่อกลุ่มผู้ต้องหาจะพาผู้เสียหายไปสแกนใบหน้ากลางป่า ซึ่งอ้างว่าเป็นขั้นตอนหนึ่งของการยื่นกู้ จากนั้น 1 เดือน กลุ่มผู้ต้องหาได้นำโทรศัพท์สมาร์ทโฟนมามอบให้ พร้อมกับเงินประมาณ 4 หมื่นกว่าบาท ซึ่งอยู่ในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์อิเล็กทรอนิกส์ ต่อมาผู้เสียหายกลับได้รับใบแจ้งหนี้จากธนาคารว่าตนเองเป็นหนี้ 160,000 บาท ซึ่งได้รับเงินจริงเพียง 1 ใน 4 ของยอดที่ขอกู้ เนื่องจากมีผู้เสียหายเป็นจำนวนมากตกเป็นลูกหนี้ธนาคารพาณิชย์โดยไม่รู้ตัว กลุ่มผู้เสียหายจึงเข้าแจ้งความดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ต้องหา โดยมูลค่าความเสียหายกว่า 223 ล้านบาท
บก.ปอศ. จึงได้รวบรวมพยานหลักฐาน จนทราบเครือข่ายผู้ร่วมกระทำความผิดทั้งสิ้นจำนวน 14 ราย และทำการสืบสวนติดตามตัวผู้ต้องหา จนกระทั่งสามารถปิดล้อมตรวจค้น จับกุมผู้ต้องหาในคดีนี้ จำนวน 10 จุด ใช้กำลังเจ้าหน้าที่กว่า 100 นาย จนจับตัวผู้ต้องหา และยึดของกลาง จำนวน 390 รายการ ได้ในที่สุด - กองบังคับการตำรวจน้ำ (บก.รน.)
ตามนโนบายของทางรัฐบาล ที่ให้ดำเนินการปราบปรามขบวนการลักลอบนําน้ำมันเชื้อเพลิงเข้ามาจําหน่ายในราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมาย ในวันที่ 14 ตุลาคม 2564 กองบังคับการตำรวจน้ำ (บก.รน.) จึงนำเรือตรวจการณ์ลาดตระเวนไปยังแม่น้ำเจ้าพระยา หลังจากที่ได้รับเเจ้งว่าจะมีการลักลอบขนน้ำมันเชื้อเพลิงดีเซลผิดกฎหมายเข้ามาเพื่อจำหน่ายในพื้นที่อ่าวไทยตอนบน จากการตรวจการณ์ลาดตระเวน สามารถสกัดจับเรือบรรทุกน้ำมันสีดำ MITA 1 ได้บริเวณปากร่องน้ำเจ้าพระยา ภายในเรือพบน้ำมันเชื้อเพลิงดีเซลประมาณ 1.2 ล้านลิตร พร้อมกับกัปตันและลูกเรือจำนวนรวม 9 คน - กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับเทคโนโลยี (ปอท.)
ปัจจุบันการกระทำความผิดที่ใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือ กำลังกลายภัยใกล้ตัวที่ประชาชนมักจะถูกกลุ่มมิจฉาชีพหลอกลวงได้ง่ายยิ่งขึ้น
คดีสำคัญอีกหนึ่งคดีที่ทางกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับเทคโนโลยี (ปอท.) ได้ทำการสืบสวนติดตามตัวคนร้ายมาดำเนินคดีตามกฎหมายได้นั้น เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในส่วนของข้อมูลส่วนบุคคล โดยทาง บก.ปอท. สามารถสืบสวนติดตามตัว นายวรพลฯ อดีตพนักงานบริษัทฯ เอกชนแห่งหนึ่ง ที่แอบลักลอบนำข้อมูลของทางบริษัทฯ ซึ่งเป็นข้อมูลส่วนบุคคลไปประกาศขายทางออนไลน์ โดยให้ชำระผ่านทางสกุลเงินดิจิทัล ซึ่งข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนที่ถูกนายวรพลฯ นำไปประกาศขายนั้น มีจำนวนกว่า 600,000 รายชื่อ - กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.)
บก.ปปป. มอบเงินสด 63 ล้านบาท ถวายคืนแด่พระราชมงคลวัชราจารย์ หรือหลวงพ่อพัฒน์ เจ้าอาวาสวัดห้วยด้วน หลังจากกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) ได้รับหนังสือร้องเรียนขอให้ตรวจสอบไวยาวัจกร และคนใกล้ชิดของหลวงพ่อพัฒน์ ที่มีพฤติการณ์ทุจริตยักยอกเงินของวัดห้วยด้วน จากการตรวจสอบข้อเท็จจริง พบไวยาวัจกรทั้ง 3 ราย ที่ได้กระทำการทุจริตยักยอกเงินจำนวน ดังกล่าวไป และถึงแม้ว่าไวยาวัจกรทั้ง 3 ราย จะยินยอมนำเงินมาคืนให้แก่ทางวัดแล้วก็ตาม ทางเจ้าหน้าที่ฯ ก็จะยังคงดำเนินการตามกฎหมายในส่วนอื่นต่อไป - กองบังคับการตำรวจทางหลวง (บก.ทล.)
การป้องกันปราบปรามอาชญากรรมและการแข่งรถบนท้องถนน เป็นอีกหนึ่งการปฏิบัติงานที่มีความสำคัญต่อความปลอดภัยของประชาชนที่ใช้รถใช้ถนน
กองบังคับการตำรวจทางหลวง จึงได้ดำเนินการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมและดำเนินการตามกฎหมายกับผู้กระทำความผิดในลักษณะดังกล่าวเรื่อยมา จนกระทั่งวันที่ 3 พฤศจิกายน 2564 เจ้าหน้าที่ตำรวจทางหลวงได้สกัดจับกระบะตู้ทึบ ที่ขับขี่หลบหนีการจับกุมของทางเจ้าหน้าที่ไปตามถนน กม.358-359 ต.โนนท่อน อ.เมือง จ.ขอนแก่น จนรถเสียหลักตกลงไปข้างทาง ซึ่งภายในรถคันดังกล่าวเจ้าหน้าที่ฯ พบยาบ้าจำนวนกว่า 2 ล้านเม็ด และยาไอซ์จำนวน 200 กก. - กองบังคับการตำรวจรถไฟ (บก.รฟ.)
จากกรณีที่มีเหตุลักลอบตัดสายไฟในโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ซึ่งอาจจะส่งผลต่อการสัญจรในระบบรางรถไฟ และสร้างความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน กองบังคับการตำรวจรถไฟจึงได้เพิ่มมาตรการในการเฝ้าระวังในการตรวจตราทรัพย์สินของทางการรถไฟ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำ ท้ายที่สุดจึงนำไปสู่การจับกุม 3 ผู้ต้องหา ที่ลักลอบตัดสายไฟบริเวณโครงการรถไฟฟ้าสานสีแดงย่านสถานีกลางบางซื่อ
11 คดีสำคัญประจำปี พ.ศ.2564 ของตำรวจสอบสวนกลางนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความมุ่งมั่นตั้งใจของ “ตำรวจสอบสวนกลาง” เพื่อจะเป็นสิ่งกระตุ้นเตือนสังคม ให้ทราบถึงภัยของอาชญากรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้น รวมถึงเป็นการกระตุ้นเตือนตำรวจในสังกัด “ตำรวจสอบสวนกลาง” ให้ตระหนักถึงความเดือดร้อนของประชาชน ที่กำลังต้องการความช่วยเหลือจากตำรวจ ให้สำนึกในหน้าที่ของข้าราชการที่ดี ในการปฏิบัติหน้าที่ ให้สมกับนโยบาย และวิสัยทัศน์ ของ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ที่ว่า “มืออาชีพ เป็นกลาง เคียงข้างประชาชน”