ตำรวจไซเบอร์รวบขบวนการแฮ็ก และปลอมอีเมล บริษัททำตุ๊กตาไม้ส่งออกต่างประเทศ แล้วนำไปหลอกลูกค้าบริษัทญี่ปุ่นให้โอนเงินไปยังธนาคาร 3 ประทศ
ตามนโยบายของรัฐบาล โดย ฯพณฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีทุกรูปแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการก่อเหตุในลักษณะที่ทำเป็นขบวนการ หรือคดีที่มีลักษณะเข้าข่ายเป็นอาชญากรรมข้ามชาติ นั้น
กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ภายใต้การนำของ พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง ผบช.สอท. เปิดเผยถึงกรณีการจับกุมผู้ต้องหาคดีสำคัญ ดังนี้
พฤติการณ์ กล่าวคือ ก่อนเกิดเหตุผู้เสียหายถูกกลุ่มผู้ต้องหาร่วมกันวางแผนแฮ็ก และปลอมอีเมล ซึ่งมีไว้ใช้ในการติดต่อซื้อขายตุ๊กตาไม้ ระหว่างบริษัทผู้เสียหาย กับบริษัทลูกค้า กระทั่งบริษัทลูกค้าที่ประเทศญี่ปุ่นถูกหลอกลวงได้รับความเสียหายเป็นจำนวนเงินรวมกว่า 12 ล้านบาท โดยการหลอกให้โอนเงินไปยังธนาคาร 3 ประเทศ ธนาคารในประเทศสหรัฐอเมริกา 3.78 ล้านบาท ธนาคารในประเทศสเปน 3.78 ล้านบาท และธนาคารในประเทศไทย 3.8 ล้านบาท ผู้เสียหายจึงมาแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินดดีกับผู้ต้องหาให้ได้รับโทษตามกฎหมาย
จากการสอบสวนสืบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน ทราบว่า ก่อนเกิดเหตุ เมื่อประมาณต้นปี 64 นายอิบูกะ ผู้ต้องหาสัญชาติยูกันดา ผู้ต้องหาที่ 1 และ น.ส.ชนิศาฯ แฟนสาว ผู้ต้องหาที่ 2 ได้ร่วมกันวางแผน ติดต่อกับ น.ส.พรพรรณฯ ผู้ต้องหาที่ 3 หาบุคคลที่จะทำการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัด พร้อมเปิดบัญชีธนาคาร โดยจะแบ่งค่าตอบแทนให้ เมื่อมีเงินเข้ามาในบัญชีเป็นจำนวนเงิน 26 เปอร์เซ็นต์ของเงินทั้งหมด ต่อมาเมื่อเดือน พ.ค.64 น.ส.เกษรินทร์ฯ ผู้ต้องหาที่ 4 ได้ดำเนินการจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด พร้อมเปิดบัญชีธนาคารในนาม หจก.อินเตอร์กรุ๊ป 1999 ลิมิเต็ด พาร์ทเนอร์ชิป ซึ่งผู้ต้องหาที่ 3 ตกลงจะแบ่งเงินให้ครึ่งหนึ่งจากที่ตนได้รับ
ต่อมา บริษัทลูกค้าที่ประเทศญี่ปุ่นของผู้เสียหาย ได้พูดคุยผ่านอีเมลที่ถูกแฮ็ก และที่ถูกปลอม หลงเชื่อโอนเงินไปยังบัญชีที่ ผู้ต้องหาที่ 4 เปิดไว้ จำนวน 4 ครั้ง เป็นจำนวนเงินรวมกว่า 3.8 ล้านบาท จากนั้นเงินดังกล่าวได้ถูกถอนออกไปจากบัญชี และผู้ต้องหาได้แบ่งกันตามจำนวนที่ตกลงไว้
จาการสืบสวนพบว่า การกระทำของผู้ต้องหามีการแบ่งหน้าที่กันทำ เริ่มตั้งแต่การแฮ็กอีเมลบริษัท ปลอมอีเมลสวมรอยบริษัทเพื่อพูดคุยกับบริษัทลูกค้า การจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัด จัดหาบริษัท และบัญชีธนาคารในการรับโอนเงิน ไปจนถึงการถอนเงินออกจากบัญชี
กระทั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.สอท.1 บช.สอท. ได้ทำการติดตามจับกุมตัวผู้ต้องหาที่ 2, ที่ 3 และที่ 4 ตามหมายจับของศาล ในข้อหา “ ร่วมกันเข้าถึงโดยมิชอบซึ่งระบบ และข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะ และมาตรการนั้นมิได้มีไว้สำหรับตน, ร่วมกันกระทำด้วยประการใดโดยมิชอบด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อดักรับไว้ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นที่อยู่ระหว่างการส่งในระบบคอมพิวเตอร์ และข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้น มิได้มีไว้เพื่อประโยชน์สาธารณะหรือเพื่อให้บุคคลทั่วไปใช้ประโยชน์ได้, ร่วมกันทำให้เสียหาย ทำลาย แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติมไม่ว่าทั้งหมดหรือ บางส่วน ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นโดยมิชอบ เป็นกระทำความผิดตามมาตรา 9 หรือ 10 เป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่น, นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง และการฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่น ” ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 5, 7, 8, 9, 12/1 และ 14(1) ป.อาญา มาตรา 341 และ 342(1) ส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมาย
ส่วนกรณีผู้ต้องหาที่ 1 สัญชาติอูกันดา ยังอยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อขออนุมัติจากศาลออกหมายจับ นอกจากนี้ในระหว่างการจับกุม ยังพบผู้ต้องสงสัย สัญชาติแคมมารูน แฟนหนุ่มของผู้ต้องหาที่ 3 ซึ่งเบื้องต้นพบว่าอยู่ในราชอาณาจักรเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด (Overstay) และมีความเชื่อมโยงในคดีดังกล่าว อยู่ระหว่างการขยายผลเพิ่มเติม
ทั้งนี้ การปฏิบัติการของกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) มุ่งเน้นที่จะสนองนโยบายของรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เน้นการบังคับใช้กฎหมาย ปราบปรามจับกุมผู้กระทำความผิดอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง มีผลการปฏิบัติเป็นรูปธรรม คำนึงถึงความเดือดร้อน และการอำนวยความยุติธรรมของพี่น้องประชาชนเป็นสำคัญ