เนื่องด้วยปัจจุบันมีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง ประชาชนเข้าถึงโลกออนไลน์ รวมถึง แพลตฟอร์ม แอปพลิเคชั่นต่างๆมากขึ้น จนทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำกิจกรรมหรือธุรกรรมต่างๆ โดยหันมาทำผ่านสื่อสังคมออนไลน์หรือแอปพลิเคชั่น ไม่ว่าจะเป็นการสั่งซื้อสินค้า การขายของบนโลกออนไลน์ต่างๆ การค้าขายบนเว็บไซต์ อินสตราแกรม เฟสบุ๊ค รวมทั้งไลน์หรือผ่านช่องทางอื่นๆ ในขณะเดียวกันก็อาจเป็นช่องทางที่มิจฉาชีพใช้โอกาสแฝงตัวมาหลอกลวง สร้างความเสียหาย ตามที่ปรากฎเป็นข่าวบนสื่อสังคมออนไลน์ที่ผ่านมา
อีกทั้งในส่วนของผู้ประกอบการ หรือ ร้านค้าออนไลน์ นอกจากมีหน้าที่ต้องจดทะเบียนการประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงต่อ สคบ. ตาม พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ.2545 แล้ว ยังมีหน้าที่ต้องจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 ต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าด้วย เพื่อลดโอกาสในการหลอกลวงของเหล่ามิจฉาชีพ และให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบการมีตัวตนของผู้ประกอบการได้ว่ามีตัวตนจริงหรือไม่ อยู่ที่ไหน ทำธุรกิจอะไรบ้าง
ที่ผ่านมา พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้ให้ความสำคัญและตระหนักถึงภัยจากอาชญากรรมที่ใช้เทคโนโลยีในการกระทำความผิดมาโดยตลอด จึงได้สั่งการให้ บช.น., ภ1-9, บช.ก., บช.สอท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการปราบปรามจับกุมผู้กระทำความผิดทางเทคโนโลยีในทุกรูปแบบ พร้อมให้ประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ถึงพิษภัยต่างๆ บนโลกออนไลน์ พร้อมกับแนวทางการป้องกันให้ประชาชนได้รับทราบต่อไป
รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอฝากประชาสัมพันธ์ถึงแนวทางที่ผู้ประกอบการ หรือ ร้านค้าออนไลน์ ควรปฎิบัติตามกฎหมาย ประกาศ ที่เกี่ยวข้องสำคัญๆ คือ
1.การจดทะเบียนพาณิชย์ ตามพระราชบัญญัติทะเบียนพาณิชย์ พ.ศ. 2499 หากฝาฝืนไม่จดทะเบียนพาณิชย์มีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาทและปรับอีกวันละไม่เกิน 100 บาท จนกว่าจะจดทะเบียนพาณิชย์
2.ตามประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่70พ.ศ.2563 เรื่องการแสดงราคารายละเอียดเกี่ยวกับการจำหน่ายสินค้าและบริการผ่านระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์หรือออนไลน์ ซึ่งออกตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2545 หากฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท
3.พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2535 ที่ผู้ขายสินค้าทางออนไลน์ จะต้องไม่ขายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายรับรอง เครื่องหมายร่วมปลอม หรือที่เลียนเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายรับรอง หรือเครื่องหมายร่วมของบุคคลอื่น หากฝ่าฝืน จะต้องระวางโทษดังเช่นผู้กระทำความผิดปลอมหรือเลียนเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายรับรอง เครื่องหมายร่วม ถ้าเป็นการปลอมโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี ปรับไม่เกิน 400,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ หากเป็นการเลียน โทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
4. พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารอันเป็นเท็จ หรือเป็นการหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร หากฝ่าฝืนต้องจำคุกไม่เกิน 3ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
5. ไม่ทำการโฆษณาขายสินค้าที่ผิดกฎหมาย หรือ หลักศีลธรรมอันดี อาทิ ความผิดเกี่ยวกับ ยาเสพติด ลามก อนาจาร ทรัพย์สินทางปัญญาและความผิดอื่นๆที่เกี่ยวข้อง หากฝ่าฝืนมีทั้งโทษปรับและโทษจำคุก
รวมถึงขอฝากแนวทางป้องกันการถูกหลอกขายสินค้าออนไลน์ “4 ต้อง 1 ไม่ 1 ควร” ดังนี้
1.ต้องตรวจสอบเว็บไซต์ของร้านค้าว่ามีการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์กับกระทรวงพาณิชย์หรือไม่ เนื่องจากการจดทะเบียนพาณิชย์ อิเล็กทรอนิกส์ ผู้จดต้องเป็นเจ้าของร้านค้าออนไลน์ ซึ่งจะมีการระบุข้อมูลส่วนตัวเพื่อขอขึ้นจดทะเบียน
2.ต้องเลือกร้านค้าที่มีเสียงตอบรับที่ดี โดยอาจสังเกตจากการรีวิวจากลูกค้าที่สั่งซื้อไป หรือจำนวนการส่งสินค้าของทางร้านค้า หากมีผู้สั่งสินค้ามากก็ทำให้เชื่อมั่นได้ว่า ได้รับสินค้าจริง เป็นต้น
3.ต้องตรวจดูรายละเอียดสินค้าให้ครบถ้วนก่อนสั่งซื้อทุกครั้ง ว่าจะได้รับสินค้าใดบ้าง มีอุปกรณ์เสริมหรือไม่ หากสินค้าที่ได้รับมีการชำรุด สามารถเปลี่ยนได้หรือไม่ รวมถึงมีการรับประกันสินค้าหรือไม่
4.ต้องระมัดระวังการสั่งซื้อสินค้าที่มีราคาถูกเกินไป เพราะอาจถูกหลอกได้
5.ไม่ควรเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวที่ไม่จำเป็น เพราะมิจฉาชีพอาจนำข้อมูลไปสร้างความเสียหายได้
6.ควรบันทึกหลักฐานการสั่งซื้อทุกครั้ง เพื่อใช้เป็นข้อมูลยืนยันในการซื้อขาย และอาจนำมาใช้กรณีเกิดปัญหาข้อพิพาทระหว่างกัน นำมาใช้เป็นพยานหลักฐานประกอบการดำเนินคดี
นอกจากนี้หากพบเห็นเบาะแสการกระทำความผิด สามารถแจ้งไปยัง Call Center สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หมายเลขโทรศัพท์ 191 หรือ 1599 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง