พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีที่สื่อสังคมออนไลน์ มีการนำเสนอเกี่ยวกับประเด็นการเหยียดคนต่างภูมิภาค พุ่งติดเทรนอันดับ 1 บนทวิตเตอร์ นั้น
การใช้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย หรือสื่อออนไลน์ ในปัจจุบันทุกคนสามารถเข้าถึงได้ และเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของทุกคนไปแล้ว ซึ่งหากใช้อย่างถูกต้องก็จะก่อให้เกิดประโยชน์มากมาย ในทางกลับกันหากใช้ในทางไม่ถูกต้องก็จะก่อให้เกิดผลร้ายตามมามากเช่นกัน อย่างการระรานทางไซเบอร์(Cyberbullying) หมายถึง การกลั่นแกล้ง การให้ร้าย การด่าว่า การข่มเหง หรือการรังแกผู้อื่นทางสื่อสังคมต่างๆ เช่น Facebook, Twitter ,Tiktok ,Clubhouse เป็นต้น
การระรานทางไซเบอร์(Cyberbullying) ส่งผลร้ายในด้านของจิตใจและอาจส่งผลต่อร่างกายของผู้ที่ถูกกระทำ ดังเช่นกรณี ที่กลายเป็นกระแสดังในโลกออนไลน์ โดยเฉพาะ Twitter ,Tiktok ,Clubhouse วิจารณ์การตั้งกลุ่มพูดคุยกัน ของคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยรุ่น นัดคุยกันใน Clubhouse วิจารณ์คนต่างภูมิภาคในลักษณะเหยียดหยาม รวมถึงวิจารณ์เรื่องรสนิยมในการแต่งกาย ทำผม พร้อมอ้างว่าการพูดหรือการต่อว่าคนต่างภูมิภาคเป็นแฟชั่นที่ใครๆ ก็ทำ ซึ่งหากเป็นการพาดพึงถึงบุคคลหนึ่งบุคคลใดหรือมีเนื้อความในลักษณะเข้าข่ายหมิ่นประมาท โดยจะต้องพิจารณาข้อเท็จจริงและรายละเอียดประกอบเป็นกรณีๆไป ก็อาจนำไปสู่ความผิดตามกฎหมายได้
จากกรณีดังกล่าวอาจนำไปสู่ความขัดแย้ง หรืออาจสุ่มเสี่ยงกับการกระทำความผิด เช่น ในกรณีความผิดฐานหมิ่นปะมาทโดยการโฆษณา หรือความผิดอิ่นๆ ขึ้นกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏและรายละเอียดในประเด็น ที่เกี่ยวข้อง โดยหากมีการใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สามโดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ก็อาจจะเข้าข่ายความผิดฐานหมิ่นประมาท มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากประชาชนทั่วไปสามารถเห็นหรือเข้าถึงข้อความดังกล่าวได้อาจจะเข้าข่ายความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
ซึ่งในฐานความผิดดังกล่าวเป็นความผิดต่อส่วนตัว หากต้องการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดี ผู้เสียหายจะต้องมาร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนเพื่อให้ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป
รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ที่ชี้แจงในครั้งนี้ก็เพื่ออยากให้ตระหนักถึง การแสดงความคิดเห็น การใช้สื่อสังคมออนไลน์ต่างๆอย่างเหมาะสม ซึ่งความแตกต่างของเพศ ผิวพรรณ ความคิดทางการเมือง ถือเป็นเรื่องปกติ แต่การแสดงความรังเกียจในความแตกต่างถือว่าเป็นเรื่องที่ผิดปกติ เป็นสิ่งที่สังคมส่วนใหญ่ไม่ยอมรับกัน แม้ว่าการแสดงออกทางความคิดเป็นสิทธิส่วนบุคคล แต่การแสดงออก ต้องไม่ไปกระทบสิทธิผู้อื่น หรือเป็นการกระทำที่ผิดต่อกฎหมาย หรือขัดต่อหลักศีลธรรมอันดี
ขอให้ใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างมีสติและสร้างสรรค์ หากพบเห็น การระรานทางไซเบอร์(Cyberbullying) ก็อย่าแชร์ต่อ อย่าคอมเมนต์ อย่าไปยุ่งเกี่ยวไม่ว่าจะทางใด เพื่อให้ทุกคนร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการป้องกันปัญหาและทำให้สังคมออนไลน์เป็นสังคมที่น่าอยู่มากยิ่งขึ้น
พร้อมกันนี้ขอฝากประชาสัมพันธ์ถึงแนวทางการป้องกัน การระรานทางไซเบอร์(Cyberbullying) ว่า
1. อย่าตอบโต้หรือพูดอะไรไปในทำนองเดียวกัน เพราะการตอบกลับในรูปแบบเดียวกัน หรือคุกคามอีกฝ่าย มีแต่จะทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง
2. หากพบเจอ การระรานทางไซเบอร์(Cyberbullying) ในลักษณะที่คุกคามและไม่สบายใจ แนะนำให้แคปภาพหน้าจอ และทำบันทึกข้อมูลเอาไว้ เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการแจ้งความหรือดำเนินคดีได้
3. สื่อออนไลน์ส่วนใหญ่จะมีฟังก์ชั่นให้บล็อกบัญชีผู้ใช้นั้นๆ และสามารถกดรีพอร์ทผู้ใช้ที่เป็นการระรานทางไซเบอร์(Cyberbullying) ได้
4.ผู้ปกครองควรสอดส่องพฤติกรรม ให้คำแนะนำในการใช้สื่อออนไลน์แก่บุตรหลาน และควรสร้างความสัมพันธ์อันดี เพื่อให้บุตรหลานไว้วางใจ เมื่อมีปัญหาจะได้กล้าขอคําปรึกษาได้
หากพบเห็นเบาะแสการกระทำความผิด สามารถแจ้งไปยัง Call Center สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หมายเลขโทรศัพท์ 191 หรือ 1599 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง