วันที่ 20 ต.ค. 2564 พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ตามที่ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ได้มีนโยบายให้มี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แจ้งเตือนและประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องประชาชนรู้เท่าทันถึงอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทำการสืบสวนจับกุมผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดนั้น
การสร้างความสัมพันธ์ หลอกลวงเหยื่อในลักษณะฉ้อโกงโดยการแสดงตนเป็นคนอื่นให้เกิดความรัก มีทั้ง หลอกรักออนไลน์ (Romance Scam) , หลอกรักชวนลงทุน(Hybrid Scam) ,การข่มขู่กรรโชกทางเพศ(Sex Tortion) ซึ่งมักใช้วิธีการนำภาพผู้อื่นมาสร้างบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ด้วยข้อมูลเท็จ ทำทีเข้ามาสร้างความสัมพันธ์ หลอกล่อด้วยวิธีการต่าง ๆ มากมาย ทำให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินเงินทอง ไปจนถึงความรัก จนเหยื่อยอมมอบทรัพย์สินให้ หรือยอมถ่ายคลิปลับของตนส่งไปให้คนร้าย และท้ายที่สุดคนร้ายก็จะตัดขาดการติดต่อจากผู้เสียหาย หรือนำคลิปลับมาข่มขู่เรียกเอาเงินจากผู้เสียหาย
ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มีการแจ้งเตือนประชาชนเกี่ยวกับอาชญากรรมในรูปแบบดังกล่าวและจับกุมผู้กระทำผิดอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด แต่ปรากฏว่ายังมีพี่น้องประชาชนจำนวนมากยังคงตกเป็นเหยื่ออยู่ ไม่ว่าจะเป็น วัยรุ่น วัยทำงาน หรือแม้แต่ผู้สูงอายุ
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงขอมาย้ำเตือนพี่น้องประชาชนให้รู้เท่าทันถึงการฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่นผ่านสื่อออนไลน์ ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 3 รูปแบบหลัก ดังนี้
- “หลอกให้เกิดความรัก” ใช้ภาพของบุคคลที่น่าตาดี หล่อ สวย สร้างโปรไฟล์ปลอมให้ดูน่าเชื่อถือ จากนั้นส่งข้อความถึงเป้าหมาย เพื่อสร้างความสัมพันธ์ในเชิงชู้สาว หลอกให้เกิดความรัก ขอทรัพย์สินเป็นของขวัญ หรืออ้างว่าตนเองหรือบุคคลในครอบครัวต้องรับการรักษาที่โรงพยาบาล แต่ไม่มีเงินเพียงพอ จนเหยื่อหลงเชื่อมอบทรัพย์สินให้เป็นจำนวนมาก
- “หลอกให้เกิดความโลภ” ใช้ภาพของบุคคลที่น่าเชื่อถือ สร้างโปรไฟล์ปลอมให้ดูเหมือนเป็นนักลงทุน มีทรัพย์สินจำนวนมาก จากนั้นส่งข้อความถึงเป้าหมาย เพื่อสร้างความสัมพันธ์ในเชิงธุรกิจ หลอกให้เกิดความโลภ อ้างว่ามีช่องทางการลงทุนที่ได้รับผลตอบแทนสูง โดยใช้แอปพลิเคชั่นหรือเว็บไซต์ลงทุนปลอม หลอกให้เหยื่อสมัครลงทุนที่ไม่มีอยู่จริง หรือได้รับสัมปทานจากรัฐ ซึ่งเป็นข้อมูลเฉพาะคนรู้จักเท่านั้น ไม่เปิดเผยต่อคนภายนอก หรืออ้างว่ามีทรัพย์สินของตนจำนวนมาก ติดอยู่ที่ศุลกากร จำเป็นต้องจ่ายภาษี จึงขอให้ผู้เสียหายชำระเงินภาษีให้ โดยอ้างว่าจะให้ผลตอบแทนจำนวนมาก ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมาไม่มีอยู่จริง จนทำให้เหยื่อหลงเชื่อมอบทรัพย์สินให้คนร้าย
- “หลอกให้เกิดความหลง” คล้ายคลึงกับการหลอกรัก คือ การใช้ภาพของคนที่หน้าตาดี รูปร่างดี หลอกล่อชักชวนเหยื่อในประเด็นทางเพศ เช่น การส่งรูปหรือคลิปขณะช่วยตัวเอง ซึ่งอ้างว่าเป็นของตน ไปให้กับเหยื่อ และหลอกให้เหยื่อส่งรูปหรือคลิปลับกลับมาให้กับคนร้าย หรือการขอให้เปิดกล้องวีดิโอคอล และหลอกให้เหยื่อถอดเสื้อผ้า จากนั้นคนร้ายจะบันทึกรูปและคลิปของเหยื่อ มาข่มขู่เหยื่อว่าหากไม่ยอมมอบทรัพย์สินหรือถ่ายคลิปส่งมาให้อีก จะนำคลิปทั้งหมดไปปล่อยในเว็บไซต์ จนเหยื่อเกิดความกลัว ยอมมอบทรัพย์สินหรือถ่ายคลิปเพิ่มเติมให้คนร้าย
โดยส่วนตัวผู้กระทำความผิด ที่ได้มีการแอบอ้างนำภาพของบุคคลอื่นมาใช้ ในการฉ้อโกงโดยการแสดงตนเป็นคนอื่น จะมีความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 342 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 14 วรรคสอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และความผิดตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องตามพฤติการณ์ของคนร้าย
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงขอความร่วมมือพี่น้องประชาชน อย่าหลงเชื่อ โอนเงิน ถ่ายคลิปลับ มอบสิ่งของ กับบุคคลในโลกออนไลน์ โดยที่ไม่เคยรู้จักหรือพบตัวจริงของบุคคลดังกล่าว หรือมีพฤติกรรมดังที่กล่าวไว้ข้างต้น เพราะอาจตกเป็นเหยื่อจากการหลอกลวงดังกล่าวได้