ตามนโยบายของรัฐบาล ให้ทำการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการลักลอบนำน้ำมันเชื้อเพลิงเข้ามาจำหน่ายภายในราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมาย ภายใต้การอำนวยการของ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมศุลกากร และ กรมสรรพสามิต โดย พล.ต.อ.สุชาติ ธีระสวัสดิ์ รอง ผบ.ตร.(สส.) นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต นายชัยยุทธ คำคุณ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร ว่าที่ ร.ต.ยงยุทธ ภูมิประเทศ ผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบป้องกันและปราบปราม กรมสรรพสามิต พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผบช.ภ.2 พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. พล.ต.ต.ศิร์ธัชเขต ครูวัฒนเศรษฐ์ รอง ผบช.ก. พล.ต.ต.สันติ ชัยนิรามัย รอง ผบช.ก. พล.ต.ต.ชัยต์พจน สูวรรณรักษ์ รอง ผบช.ภ.2 ได้สั่งการให้ ชุดปฏิบัติการ ศปนม.ตร. บูรณาการกำลังร่วมกับ เจ้าหน้าที่ บก.รน. เจ้าหน้าที่ศุลกากร เจ้าหน้าที่สรรพสามิต และ เจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ ทำการสืบสวนจับกุมกลุ่มขบวนการลักลอบนำเจ้าน้ำมันเชื้อเพลิงโดยผิดกฎหมาย
ต่อมาวันที่ 17 ต.ค.2564 เวลาประมาณ 14.00 น. ได้รับแจ้งจากสายลับว่าจะมีการลักลอบขนน้ำมันเชื้อเพลิงดีเซลผิดกฎหมายเข้ามาจำหน่ายในพื้นที่ อ่าวไทยตอนบน จึงได้นำเรือตรวจการณ์ พร้อมกำลังพลออกลาดตระเวนในพื้นที่ตามที่ได้รับแจ้งจากสายลับ เมื่อไปถึงบริเวณ น่านน้ำ อ.เกาะสีชัง จว.ชลบุรี พบเรือบรรทุกน้ำมัน หัวเรือเขียนชื่อ เหนือสมุทร 9กำลังลอยลำอยู่ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงสั่งการให้เรือลำดังกล่าวหยุดลอยลำและเข้าทำการตรวจสอบ เมื่อขึ้นไปบนเรือพบ นายสุวรรณ อินทองปาน (หัวหน้าเรือ) มีคนประจำเรือ 4 คน และแจ้งว่าของที่บรรทุกมาเป็นน้ำมันดีเซล จำนวนประมาณ 400,000 ลิตร ผลการตรวจค้นพบ ของเหลวสีเหลืองใสคล้ายน้ำมันดีเซลบรรทุกอยู่ในระวางเรือ จำนวน 3 คู่ 6 ระวาง สอบถามถึงเอกสารการได้มาและเอกสารทะเบียนเรือ พร้อมทั้งใบอนุญาตใช้เรือ แต่นายสุวรรณฯ ได้นำเฉพาะใบอนุญาตใช้เรือและเอกสารทะเบียนเรือมาแสดง แต่ไม่สามารถนำเอกสารเกี่ยวกับของเหลวสีเหลืองใสคล้ายน้ำมันดีเซล มาแสดงให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดูได้ จึงสั่งการให้นำเรือมาทิ้งสมอ บริเวณ ปากคลองสรรพสามิต ต.แหลมฟ้าผ่า อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ และประสานกับเจ้าหน้าที่สรรพสามิต เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรเพื่อร่วมทำการตรวจสอบ ทำการเก็บตัวอย่างของเหลวสีเหลืองใสคล้ายน้ำมันดีเซลในระวางบรรทุกเพื่อตรวจหาสารมาร์คเกอร์
ผลการตรวจสอบเบื้องต้น พบค่าสารมาร์คเกอร์ 27 หน่วย ซึ่งสารมาร์คเกอร์ดังกล่าวใช้สำหรับเติมน้ำมันส่งออกไปต่างประเทศ และได้รับการยกเว้นภาษีสรรพสามิต เมื่อนำส่งออกไปแล้วจะไม่สามารถนำกลับเข้ามาในราชอาณาจักรได้อีก หากนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ผ่านพิธีการทางศุลกากร ถือเป็นการลักลอบนำน้ำมันเชื้อเพลิงเข้ามาในราชอาณาจักร อันเป็นการกระทำผิด ตาม
1. พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 242 ข้อหา ผู้ใดนำเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรซึ่งของที่ยังไม่ผ่านพิธีการทางศุลกากรฯ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน สิบปี หรือปรับเป็นเงินสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ริบของนั้น ไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่ และ
2. พ.ร.บ.สรรพสามิต พ.ศ.2560 มาตรา 204(1) ข้อหามีไว้ในครอบครอง ซึ่งสินค้าที่ไม่เสียภาษีเพื่อจำหน่าย หรือ จำหน่าย โทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับห้าเท่าถึงสิบห้าเท่าของค่าภาษีที่ต้องเสีย หรือทั้งจำทั้งปรับ
3. สำหรับความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 242 ถือเป็นความผิดมูลฐานตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542
ซึ่งจะดำเนินการสืบสวนสอบสวนขยายผลหาตัวผู้เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดและทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดต่อไป เบื้องต้นอยู่ระหว่างการตรวจสอบปริมาตรน้ำมันที่แน่นอน