กสม.เชิญ ตร.เข้าให้ข้อมูลเกี่ยวกับปฏิบัติการควบคุมฝูงชน หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงแนวทางคุ้มครองสิทธิเด็กและการเยียวยาประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม
วันที่ 18 ก.ย. 64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวานนี้(17 ก.ย. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยคณะทำงานเพื่อตรวจสอบกรณีเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมือง ประกอบด้วย นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุชาติ เศรษฐมาลินี กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ได้รับฟังข้อเท็จจริงเกี่ยวกับมาตรการและปฏิบัติการควบคุมฝูงชนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ จากผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติและกองบัญชาการตำรวจนครบาล นำโดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ โดยคณะทำงานฯ ได้รับคำชี้แจงในประเด็นต่าง ๆ เกี่ยวกับปฏิบัติการของทางเจ้าหน้าที่ อาทิ บทบัญญัติของกฎหมาย ระเบียบและแผนงานที่ใช้เป็นฐานในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน แนวทางและมาตรการในการปฏิบัติงาน เหตุผลความจำเป็นในการใช้มาตรการต่าง ๆ ซึ่ง กสม.จะพิจารณาข้อมูลตามขั้นตอนระเบียบการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน เพื่อจัดทำรายงานผลการตรวจสอบเสนอต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องโดยเร็ว
หลังจากนั้น กสม.ได้หารือกับ สตช. ผู้แทนกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม และกรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ถึงแนวทางการคุ้มครองสิทธิเด็กและเยาวชนที่เกี่ยวข้อง การเยียวยาผู้ได้รับบาดเจ็บ และการเยียวยาประชาชนทั่วไปที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมและปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ รวมทั้งการแสวงหาแนวทางการเปิดพื้นที่รับฟังความคิดเห็นของเด็ก เยาวชน และกลุ่มผู้มีความเห็นแตกต่างอย่างสันติและสร้างสรรค์
ก่อนหน้านี้ กสม.ได้ลงพื้นที่สังเกตการณ์การชุมนุม และรับฟังข้อเท็จจริงจากหลายภาคส่วน ทั้งจากกลุ่มผู้ชุมนุม สื่อมวลชน ประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ นอกจากนี้ยังได้จัดเวทีระดมความคิดเห็นเพื่อแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งในการชุมนุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง องค์กรสิทธิมนุษยชน นักวิชาการด้านสันติวิธี นักวิชาการด้านสิทธิเด็ก และนักจิตวิทยาเด็ก รวมทั้งมีการลงพื้นที่สังเกตการณ์การควบคุมตัวเด็กและเยาวชน การเข้าเยี่ยมผู้ที่ได้รับบาดเจ็บสาหัส ทั้งในส่วนเจ้าหน้าที่และเยาวชน เพื่อเป็นการประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนด้วย
กสม.ขอยืนยันการทำหน้าที่ตรวจสอบด้วยความอิสระ เป็นกลาง ปราศจากอคติ และด้วยการรับฟังข้อเท็จจริงจากทุกฝ่ายอย่างรอบด้าน โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกภาคส่วนของสังคมจะได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองด้วยแนวทางสันติวิธีและคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนเป็นสำคัญ