ผบช.น. พร้อม ตร.คฝ. นำสื่อฯชมทดสอบการยิงแก๊สน้ำตา ชี้เป็นอุปกรณ์ที่อนุญาตให้ใช้ตามมติครม.-ไม่อันตรายถึงชีวิต

ผบช.น. พร้อมด้วย พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รอง ผบช.น. พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษก ตร. พล.ต.ต.ณัฐ สิงห์อุดม รอง ผบช.ตชด. พล.ต.ต.มานพ สุคนธ์ธนพัฒน์ ผบก.อคฝ. และเจ้าหน้าที่ชุดควบคุมฝูงชน บก.อคฝ. ร่วมกันทดสอบและสาธิตการยิงแก๊สน้ำตาที่ใช้ควบคุมฝูงชนในสถานการณ์การชุมนุมที่ผ่านมา

พล.ต.ท.ภัคพงศ์ กล่าวว่า การสาธิตยิงแก๊สน้ำตาวันนี้ เพื่อให้เห็นว่าการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ เราได้ใช้อุปกรณ์ควบคุมฝูงชนที่ได้รับอนุมัติตามมติ ครม. ซึ่งอุปกรณ์ที่ใช้ไม่ถึงแก่ชีวิต โดยวันนี้จะให้ดูกระสุนแก๊สที่ใช้ในปัจจุบันว่าลักษณะก่อนและหลังยิงเป็นอย่างไร และลักษณะกระสุนแก๊สแบบยิง ยืนยันว่าแก๊สน้ำตาไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต ซึ่งตำรวจคิดว่าหากไม่ทำอะไร จะมีความรุนแรงกว่านี้

พล.ต.ท.ภัคพงศ์ กล่าวต่อว่า กรณีเกิดเหตุถกเถียงกัน ว่าผู้ที่ถูกยิงอยู่ในระยะไม่ต่ำกว่า 100 เมตร เราก็จะจำลองดูว่าลักษณะการยิงจริงๆ ว่ายิงอย่างไร เพราะการยิงแก๊สบางครั้งมีข้อจำกัดไม่ว่าจะเป็นทิศทางลม พื้นที่ชุมนุม เรามีความจำเป็นต้องยิงไปตามสถานการณ์นั้นๆ ทั้งนี้แก๊สน้ำตาจะใช้ยิงในระยะไกล ส่วนระบะใกล้ใช้การขว้าง ส่วนกระสุนยางปกติยิงในระยะ 15 เมตร

จากนั้น พ.ต.ท.ศรายุทธ อรุณฉาย รอง ผกก.1 บก.อคฝ. ได้ทำการสาธิตวิธียิงแก๊สน้ำตา ICL-830 cartridge with tear gas projectile ขนาด 38 มม. แบบวิถีโค้ง เพื่อควบคุมฝูงชน จำนวน 3 นัด โดยกำหนดจุดตกบริเวณริมสนามฟุตบอล ห่างจากจุดยิงประมาณ 100 เมตร ผลการสาธิตกระสุนแก๊สน้ำตา ตกใกล้เคียงเป้าหมาย เนื่องจากมีผลกระทบจากกระแสลม

ภายหลังจากการสาธิตดังกล่าวพ.ต.ท.ศรายุทธ​ ได้อธิบายว่า การยิงแก๊สน้ำตามีระยะยิงอยู่ที่ 50 เมตร 100 เมตร และ150 เมตร แต่ละครั้ง จะมีการคาดคะเนจุดตก เพื่อให้ลมพัดเอาควันไปยังจุดที่เป็นเป้าหมาย ยืนยันว่าไม่มีการเล็งใส่ตัวบุคคล และการยิงแต่ละครั้งต้องคิดคำนวณให้ดี เพราะแต่ละลูกมีราคากว่า 3,000 บาท และมาจากภาษีของประชาชน

พ.ต.ท.ศรายุทธ กล่าวต่อว่า มุมที่ทดสอบวันนี้เป็นมุมที่เจ้าหน้าที่ใช้ยิงโดยปกติในการปฏิบัติหน้าที่ควบคุมฝูงชน แสดงให้เห็นว่า ตัวปลอกกระสุนที่เป็นโลหะ จะยังคงค้างอยู่ในลำกล้องปืน ไม่สามารถลอยไปทำอันตรายกับผู้ชุมนุมได้ ส่วนที่ลอยออกไปมีเพียงส่วนที่เป็นตัวกระบอกบรรจุก๊าซน้ำตา ซึ่งทำจากพลาสติกสีน้ำเงิน ภายในบรรจุสารแก๊สน้ำตา ซึ่งสามารถลุกไหม้ได้ด้วยตัวเอง ไม่ใช่ชนิดระเบิดเหมือนที่เคยใช้ในการสลายการชุมนุมเมื่อช่วงปี 2551 ดังนั้นชนิดที่ใช้ในปัจจุบันจึงไม่เป็นอันตราย

พ.ต.ท.ศรายุทธ กล่าวอีกว่า อีกทั้งการยิงแก๊สน้ำตาของเจ้าหน้าที่ เป็นการยิงเพื่อให้ควันไปยับยั้งการคุกคาม ไม่มีการยิงใส่ตัวชุมนุมโดยตรง เจตนาเพื่อต้องการให้ผู้ชุมนุมสลายตัวไป แต่ยอมรับว่าบางครั้งทิศทางลมมีผลต่อวิถีของแก๊สน้ำตา ทำให้ไม่ไปตกในจุดเป้าหมาย และอาจโดนถูกผู้ชุมนุมได้เช่นกัน แต่ส่วนตัวขณะฝึกซ้อม ก็เคยโดนแก๊สน้ำตากระแทกเข้าที่บริเวณศีรษะเช่นกัน แต่ก็ไม่ได้รับบาดแผลใดๆ เพียงมีรอยช้ำแดงเท่านั้น

นอกจากนี้ปืนยิงแก๊สน้ำตา เป็นลำกล้องที่ใช้กับกระสุนแก๊สน้ำตาขนาด 38 มม. โดยเฉพาะ และลำกล้องไม่มีเกลียว ทำให้ไม่สามารถใช้คู่กับกระสุนหรือระเบิดชนิดอื่นได้ เพราะมีขนาดใหญ่กว่าตั้งแต่ 40 มม.ขึ้นไป

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ในการสาธิตเห็นยิงเป็นวิถีโค้ง แต่ภาพที่ปรากฎเวลามีการปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่กับมวลชน เจ้าหน้าที่จะขึ้นไปอยู่บริเวณจุดสูงข่ม เช่น บนทางด่วน โดยการยิงจะยิงกดลงมาด้านล่าง นั้น ได้มีการกำชับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างไร พ.ต.ท.ศรายุทธ กล่าวว่า ในหน่วยของตน ก่อนจะออกปฏิบัติหน้าที่ทุกครั้ง จะมีการสั่งกำชับการปฏิบัติให้เป็นไปตามที่ฝึกเสมอ ส่วนภาพเหตุการณ์การยิงลักษณะจากบนที่สูง หากเป็นหน่วยอื่นตนไม่สามารถให้ความคิดเห็นได้ แต่ถ้าพบในหน่วยของตน จะมีการทบทวนและเน้นย้ำให้ปฏิบัติตามหลักที่ฝึกมาทุกครั้ง เพราะตำรวจไม่ใช่คู่ขัดแย้ง แต่มีหน้าที่ควบคุมให้สถานการณ์บ้านเมืองสงบ