ปคบ.- อย. จับกุมผู้ลักลอบจำหน่ายยาฟาวิพิราเวียร์ ผลิตภัณฑ์สมุนไพร และชุดตรวจหาเชื้อโควิด 19 ผิดกฎหมาย ตรวจยึดของกลาง มูลค่ากว่า 3,000,000 บาท

วันที่ 13 สิงหาคม ที่ บก.ปคบ. (กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค)โดย พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย ผบก.ปคบ. พ.ต.อ.เนติ วงษ์กุหลาบ ผกก.4 บก.ปคบ.        สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดย นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และ ภญ.สุภัทรา บุญเสริม ผู้ทรงคุณวุฒิด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ด้านสาธารณสุข รักษาราชการแทนรองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกันแถลงผลการปฏิบัติ กรณีจับกุมผู้ต้องหาลักลอบขายผลิตภัณฑ์ยา (ยาฟาวิพิราเวียร์) ผลิตภัณฑ์สมุนไพร (เหลียนฮัว ชิงเวิน แคปซูล) และเครื่องมือแพทย์ (ชุดตรวจหาเชื้อโควิด 19) โดยไม่ได้รับอนุญาต มูลค่าของกลางกว่า 3,000,000 บาท

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ทำให้มีผู้ลักลอบนำผลิตภัณฑ์ยา ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ที่โฆษณาว่าสามารถยับยั้ง บรรเทา หรือป้องกันการติดเชื้อโควิด -19 และเครื่องมือแพทย์ เช่น ชุดตรวจหาเชื้อโควิด 19 มาจำหน่ายให้กับประชาชนเป็นจำนวนมาก ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวข้างต้นมีการลักลอบนำเข้ามาจากต่างประเทศโดยไม่ผ่านการตรวจสอบมาตรฐานและไม่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย ผบก.ปคบ. มีความห่วงใยในสุขภาพของพี่น้องประชาชน เกรงว่าจะได้รับอันตรายจากการบริโภคผลิตภัณฑ์ยา ผลิตภัณฑ์สมุนไพร หรือใช้เครื่องมือแพทย์ดังกล่าว จึงได้สั่งการให้ พ.ต.อ.เนติ วงษ์กุหลาบ   ผกก.4 บก.ปคบ. ตรวจสอบสถานที่ผลิต สถานที่จำหน่ายและผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้คุณภาพหรือไม่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคได้ปฏิบัติงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาตรวจสอบและสืบสวนจับกุมผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมายได้จำนวนหลายราย โดยมีผลการปฏิบัติงานที่น่าสนใจ สรุปได้ดังนี้


เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2564 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ร่วมกับ เจ้าหน้าที่ อย. จับกุมผู้ลักลอบจำหน่ายผลิตภัณฑ์สมุนไพร (เหลียนฮัว ชิงเวิน แคปซูล) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ลักลอบนำเข้ามาโดยไม่ผ่านการตรวจสอบมาตรฐานและไม่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ในพื้นที่เขตสวนหลวง กรุงเทพมหานคร จากการสืบสวนขยายผลทราบว่า ผลิตภัณฑ์สมุนไพรดังกล่าวถูกส่งมาจาก อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว  ต่อมาเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2564 เจ้าหน้าที่จึงได้รวบรวมพยานหลักฐาน และนำหมายค้นของศาลจังหวัดสระแก้วเข้าตรวจค้นรีสอร์ท ในพื้นที่ ต. บ้านใหม่หนองไทร อ. อรัญประเทศ จ. สระแก้ว ซึ่งใช้เป็นสถานที่เก็บผลิตภัณฑ์ยาฟาวิพิราเวียร์, ผลิตภัณฑ์สมุนไพร (เหลียนฮัว ชิงเวิน แคปซูล) และชุดตรวจหาเชื้อโควิด 19 โดยสามารถจับกุมตัว น.ส. ยุวดี (สงวนนามสกุล) ซึ่งรับว่าเป็นเจ้าของ โดยผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาและมีไว้เพื่อขายให้กับประชาชนทั่วไปจริงเจ้าหน้าที่จึงได้ตรวจยึดผลิตภัณฑ์ยาฟาวิพิราเวียร์ ขนาด 200 มิลลิกรัม จำนวน 2,000 เม็ด, ผลิตภัณฑ์สมุนไพร (เหลียนฮัว ชิงเวิน แคปซูล) 38,400 แคปซูล และชุดตรวจหาเชื้อโควิด 19 จำนวน 6,600 ชุด นำส่งพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายและสืบสวนขยายผลหาตัวผู้ร่วมขบวนการต่อไป


เบื้องต้น การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตาม พระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 ฐาน “ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต” มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท, ฐาน “ขายยาที่มิได้ขึ้นทะเบียนยา” มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 5,000 บาท พระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. 2562  ฐาน “ขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรโดยไม่ได้รับอนุญาต” มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และพระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ พ.ศ. 2551 ฐาน “ขายเครื่องมือแพทย์โดยผิดเงื่อนไขตามมาตรา 6(10)” มีโทษ ปรับไม่เกิน 50,000 บาท


อนึ่งในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ผ่านมา กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ร่วมกันตรวจสอบและจับกุมผู้ที่กระทำความผิดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ยา ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่โฆษณาว่าสามารถยับยั้ง บรรเทา หรือป้องกันการติดเชื้อโควิด 19 และเครื่องมือแพทย์ เช่น ชุดตรวจหาเชื้อโควิด 19 ไปแล้วจำนวนหลายราย สามารถตรวจยึดผลิตภัณฑ์ยาฟาวิพิราเวียร์ ขนาด 200 มิลลิกรัม จำนวน 2,000 เม็ด , ผลิตภัณฑ์สมุนไพร (เหลียนฮัว ชิงเวินแคปซูล) จำนวน 84,000 แคปซูล และ ชุดตรวจหาเชื้อโควิด 19 จำนวน 7,000 ชุด
พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย ผบก.ปคบ. ฝากความห่วงใยมายังพี่น้องประชาชน ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ควรใช้ความระมัดระวังในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ยา ผลิตภัณฑ์สมุนไพร และเครื่องมือแพทย์ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร และควรเลือกซื้อจากร้านขายยาหรือร้านค้าที่เชื่อถือได้ และขอเตือนผู้ที่ลักลอบจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยา ผลิตภัณฑ์สมุนไพร หรือเครื่องมือแพทย์ที่ไม่ได้รับอนุญาตให้หยุดการกระทำดังกล่าวทันที หากตรวจพบจะดำเนินคดีถึงที่สุด หากพี่น้องประชาชนพบเห็นการกระทำความผิด สามารถแจ้งได้ที่ สายด่วน ปคบ.1135 หรือเพจ ปคบ. เตือนภัยผู้บริโภค


ภญ.สุภัทรา บุญเสริม ผู้ทรงคุณวุฒิด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ด้านสาธารณสุข และรักษาราชการแทน
รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวในตอนท้ายว่า ตามที่ปรากฏพบมีการขายยาฟาวิพิราเวียร์โดยไม่ได้รับอนุญาตตามสื่อต่าง ๆ ขอเตือนประชาชนอย่าซื้อยามารับประทานเองเพราะอาจได้ยาปลอมที่ไม่มีตัวยาสำคัญอยู่เลย หรือได้รับยาที่ไม่มีคุณภาพมาตรฐานทำให้เสียโอกาสในการรักษา และอาจได้รับอันตรายจากสารปนเปื้อน รวมถึงการซื้อยาผ่านอินเตอร์เน็ตผู้ป่วยอาจไม่ได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องในการใช้ยา ซึ่งปัจจุบันเมื่อผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อโควิด 19 และเข้ารับการรักษาในระบบที่รัฐจัดเตรียมไว้ให้ จะได้รับยาฟาวิพิราเวียร์โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ยาฟาวิพิราเวียร์จัดเป็นยาควบคุมพิเศษ ที่ต้องสั่งจ่ายและอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ โดยจำเป็นต้องติดตามอาการข้างเคียงและผลการรักษาระหว่างการใช้ยา และการใช้ยาในผู้ป่วยบางกลุ่มจะต้องคำนึงถึงประโยชน์และความเสี่ยงจากผลข้างเคียงของการใช้ยาโดยเฉพาะในหญิงตั้งครรภ์ นอกจากนี้ ผู้ป่วยจะต้องใช้ยาอย่างต่อเนื่องตามคำแนะนำ การใช้ยาที่ไม่ถูกต้องอาจทำให้เกิดเชื้อดื้อยาได้ง่าย ส่งผลให้ใช้ยาไม่ได้ผลเมื่อเกิดการติดเชื้อเป็นเหตุให้ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้ในที่สุด


ส่วนกรณีชุดตรวจโควิดด้วยตนเองจะต้องซื้อจากร้านขายยาแผนปัจจุบัน ไม่ควรหาซื้อชุดตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเองผ่านทางสื่อออนไลน์หรือแหล่งอื่น ๆ เพราะเภสัชกรจะเป็นผู้ให้คำแนะนำในการใช้ชุดตรวจ ทั้งวิธีการใช้ วิธีการเก็บตัวอย่าง วิธีการแปลผล ข้อปฏิบัติตัวหลังทราบผลการตรวจ และการทิ้งชุดตรวจที่ใช้แล้วอย่างเหมาะสม เนื่องจากเป็นขยะปนเปื้อนหรือขยะติดเชื้อ เพื่อป้องกันการได้รับผลิตภัณฑ์เถื่อน ไม่ได้คุณภาพมาตรฐาน เสี่ยงต่อการนำไปใช้และแปลผลผิดพลาด

โดยสามารถตรวจสอบรายชื่อผู้ได้รับอนุญาตจากเว็บไซต์ https://www.fda.moph.go.th/ sites/Medical/SitePages/test_kit_covid19.aspx สำหรับผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่น ๆ ตรวจสอบจากเว็บไซต์ อย. https://www.fda.moph.go.th หัวข้อตรวจสอบผลิตภัณฑ์ และหากพบผลิตภัณฑ์ที่สงสัยว่าจะผิดกฎหมาย สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรืออีเมล์ [email protected]