พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รอง โฆษก ตร. และ โฆษก กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ขอกล่าวถึงกรณีที่สื่อสังคมออนไลน์มีการนำเสนอข่าวกรณี “เตือนภัยผู้ปกครองระวังมิจฉาชีพ ปลอมไลน์ครูหลอกโอนเงินทำประกันโควิดให้นักเรียน” ว่า
กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อมีมิจฉาชีพรายหนึ่งสร้างไลน์ปลอมเป็นครูในโรงเรียนแห่งหนึ่ง จ.เชียงราย ขึ้นมาและได้เข้าไปพูดคุยกับกลุ่มผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนดังกล่าว โดยบอกว่าทางโรงเรียนได้จัดให้มีการทำประกันโควิด-19 ให้กับนักเรียน พร้อมกับส่งลิงค์ให้กรอกประวัติส่วนตัวและให้ทางผู้ปกครองโอนเงินซึ่งอ้างว่าเป็นค่าทำประกันโควิด-19 คนละ 500 บาท ซึ่งก็ได้มีผู้ปกครองหลายคนโอนเงินไป ต่อมาเมื่อครูคนที่ถูกสวมตัวตนแทนนั้นเห็นว่ามีคนที่ชื่อไลน์เหมือนกันส่งข้อความมาและมีหลายคนส่งข้อความมาสอบถาม ครูที่ถูกปลอมตัวก็ยืนยันว่าตนไม่ได้เป็นคนส่งข้อความดังกล่าวแต่อย่างใด จึงได้ทราบว่ามีคนสร้างไลน์ปลอมโดยใช้ชื่อครูคนดังกล่าวขึ้นมา จึงได้เดินทางไปแจ้งความร้องทุกข์กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.บ้านดู่ จ.เชียงราย และจากการตรวจสอบชื่อเจ้าของบัญชีที่ผู้เสียหายโอนเงินไปก็พบว่า ผู้ต้องหาได้เคยก่อเหตุในลักษณะของการหลอกลวงให้โอนเงินผ่านสื่อสังคมออนไลน์และถูกจับกุมมาแล้วหลายครั้ง และเมื่อเรื่องราวดังกล่าวได้ถูกเผยแพร่ลงบนโลกโซเชียลก็พบว่า มีเหล่าผู้ปกครองโรงเรียนอื่นๆ อีกหลายที่ ก็ตกเป็นผู้เสียหายจากผู้ต้องหาคนเดียวกันนี้เช่นเดียวกัน
ในปัจจุบันที่ยังคงอยู่ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่พี่น้องประชาชนล้วนได้รับผลกระทบและประสบความยากลำบาก แต่ก็ยังมีเหล่ามิจฉาชีพฉวยโอกาสจากช่องว่างในการกระทำความผิดลักษณะนี้ ซึ่งก็มีพฤติการณ์คล้ายกับการหลอกลวงให้โอนเงินที่ปรากฎบนสื่อสังคมออนไลน์ในหลายๆกรณีที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว เพียงแต่มีการปรับเปลี่ยนกลอุบายที่จะนำมาใช้หลอกลวงเท่านั้น การกระทำดังกล่าวนอกจากจะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายแล้ว ยังเป็นการตอกย้ำทางด้านจิตใจของพี่น้องประชาชนอีกด้วย
การกระทำลักษณะดังกล่าวอาจจะเข้าข่ายความผิดฐาน นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ด้วยข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ในประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนตาม พรบ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 มาตรา 14 มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับและความผิดฐานฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 342 มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง สำหรับผู้ที่เป็นผู้เสียหายก็ขอให้มาดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษกับพนักงานสอบสวนที่สถานีตำรวจในท้องที่ เพื่อดำเนินคดีตามกระบวนการทางกฎหมายต่อไป
รองโฆษก ตร. และ โฆษก บช.สอท. จึงขอฝากเตือนภัยและประชาสัมพันธ์แนวทางการป้องกันหลีกเลี่ยงการถูกฉ้อโกงผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ดังนี้
1.ควรตรวจสอบข้อมูลของบุคคลที่สื่อสารบนโลกออนไลน์ทุกครั้งว่าเป็นบุคคลเดียวกันหรือไม่ เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันมีผู้ไม่หวังดีมักอาศัยจังหวะดังกล่าวในการกระทำความผิด
2.ก่อนจะโอนเงินไปบัญชีของบุคคลใด ควรตรวจสอบรายชื่อ-สกุล ของบัญชีปลายทางทุกครั้ง ว่าใช่บุคคลเดียวกันหรือไม่
3.ควรมีสติทุกครั้ง ก่อนทำธุรกรรมทางการเงิน เพราะหากถูกหลอก หรือเกิดข้อผิดพลาด จะทำให้เสียทั้งเงินและเวลา
4. ติดตามข่าวสารอยู่เสมอ เพื่อจะได้รู้ทันกลโกงหรือรูปแบบของเหล่ามิจฉาชีพ
นอกจากนี้หากพบเห็นเบาะแสการกระทำความผิด สามารถแจ้งไปยัง Call Center สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หมายเลขโทรศัพท์ 191 หรือ 1599 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง