ตำรวจป่าไม้ตรวจสอบยืนยันบริษัทชิปปิ้งพงสะหวันเป็นเจ้าของไม้พะยูงมูลค่า 160 ล้านบาท หลังโดนอายัดนาน 15 ปี

จากกรณีตัวแทน บริษัท พงสะหวัน อินดัสทรี จำกัด ของ สปป.ลาว เข้าดูไม้พะยูงอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์ 11 ตู้มูลค่ากว่า 160 ล้านบาท แต่กรมศุลกากร ไม่อนุญาต เพราะมีมาตรการคุมการระบาดโควิด-19 ตัวแทนบริษัท จึงเข้าไปที่สำนักงานเก็บรักษาไม้ของกลาง เพื่อขอคำชี้แจง ขณะเดียวกันมีผู้รับมอบอำนาจจากรัฐบาล สปป.ลาว ไปที่ด่านศุลกากรด้วยเช่นกัน พร้อมอ้างสิทธิ์ว่าไม้พะยูงทั้งหมดเป็นของทางการ สปป.ลาว ไม่ใช่ของบริษัทเอกชนนั้น

ความคืบหน้า เมื่อวันที่ 13 เม.ย. ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) พล.ต.ต.พิทักษ์ อุทัยธรรม ผบก.ปทส เปิดเผยว่า ตนเองมาปฏิบัติหน้าที่วันที่ 1 ต.ค.63 ที่ผ่านมา ภายหลังคดีเกี่ยวกับไม้พะยูงดังกล่าวสิ้นสุดแล้ว เหลือการพิจารณาการคืนของกลาง อัยการได้มีการสั่งให้พนักงานสอบสวนบก.ปทส. ดำเนินส่งมอบของกลางคืน โดยทาง บก.ปทส. จึงได้พิจารณาพยานหลักฐานในรูปคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบหาเจ้าของกรรมสิทธิ์ในไม้ดังกล่าว

“จนมีพยานหลักฐานชัดเจนว่าเจ้าของไม้พะยูงที่แท้จริง คือบริษัท พงสะหวัน อินดัสทรี จำกัด Phongsavanh wood industy ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่มีสิทธิเรียกร้องขอคืน ที่ปรากฏหลักฐานใน Certificate of Origin และ Wood of list อันเป็นที่มาของไม้พะยูงของกลางในสำนวนการสอบสวน พร้อมทั้งได้มีหนังสือไปยังสถานทูตสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) และกรมเอเซียตะวันออก กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อตรวจสอบยืนยันผู้มีสิทธิในการรับไม้ของกลางคืน” ผบก.ปทส. กล่าว

ขณะที่มีรายงานข่าวแจ้งว่า กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อวันที่ 6 ส.ค.49 จนท.ป่าไม้จังหวัดมุกดาหาร ได้จับกุมและตรวจยึดไม้พะยูงผ่านแดนจากประเทศลาว และพนักงานอัยการได้มีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา พร้อมทั้งแจ้งให้พนักงานสอบสวนจัดการไม้พะยูงของกลางตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาม. 85 แต่ต่อมากรมป่าไม้จึงได้ขอรื้อฟื้นคดีดังกล่าวใหม่ จึงให้ชะลอการคืนไม้ของกลางเพื่อรอฟังผลคดี ซึ่งในที่สุดศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 8 ต.ค.62 ให้ยกฟ้องจำเลย ดังนั้น พนักงานสอบสวน บก.ปทส. จึงต้องจัดการไม้พะยูงของกลางตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาม. 85

ต่อมาในวันที่ 2 ธ.ค.63 กรมศุลกากรได้มีหนังสือแจ้งสำเนาคำสั่งศาลฎีกาในคดีนี้และให้พนักงานสอบสวน บก.ปทส. ไปรับไม้พะยูงของกลางคืนเนื่องจากเห็นว่าคดีนี้กรมป่าไม้ได้ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ส่วนกรมศุลกากรเป็นเพียงผู้ดูแลรักษาไม้พะยูงของกลางตามคำสั่งอายัดของพนักงานสอบสวน ดังนั้น บก.ปทส. จึงได้รวบรวมพยานหลักฐานเพื่อพิจารณาคืนให้กับผู้มีสิทธิที่แท้จริง
สำหรับการคืนไม้พะยูงของกลางได้มีระยะเวลาการพิจารณากันมาอย่างยาวนาน โดยมีผู้ขอคืนไม้ของกลางรวม 3 ราย  อ้างว่าเป็นตัวแทน สปป.ลาว 1 ราย และอ้างว่ารับมอบอำนาจจากบริษัท 2 ราย ประกอบกับเมื่อกรมศุลกากรมีหนังสือเร่งรัดให้พนักงานสอบสวนไปรับไม้ของกลางคืน บก.ปทส. จึงได้ตรวจสอบจากพยานหลักฐานเอกสารที่ยืนยันจากหน่วยงานราชการของ สปป.ลาว แล้วปรากฎว่า นายคำสะไหว พมมะจัน เป็นผู้ที่ได้รับมอบอำนาจจากบริษัท Phongsavanh wood industy จึงได้พิจารณาคืนไม้ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 25 ธ.ค.63 และขณะนี้อยู่ระหว่างนายคำสะไหว ติดต่อขอรับไม้คืนจากกรมศุลกากร โดยผู้รับคืนต้องเสียค่ารักษาดูแลเป็นเงินถึง 13 ล้านบาท

ทั้งนี้ รายงานข่าวยังระบุอีกว่า ในการดำเนินการในขั้นตอนต่างๆ บก.ปทส. ได้แจ้งพัฒนาการความคืบหน้าของคดีให้กับกรมเอเซียตะวันออก กระทรวงการต่างประเทศ ทราบอยู่เป็นระยะ และได้เข้าชี้แจงรายละเอียดข้อเท็จจริง ต่อผู้ตรวจการแผ่นดินในกรณีไว้ด้วยแล้ว กรณีนายสอ นามสมมุติ ได้กล่าวอ้างว่าเป็นผู้แทนของรัฐบาล สปป.ลาว และได้มีหนังสือแจ้งมายัง บก.ปทส. โดยมีเนื้อหาว่า ไม้พะยูงของกลางเป็นทรัพย์สินหรือเป็นสมบัติของ สปป.ลาว ไม่ใช่ของบุคคลหรือกลุ่มบุคคล หรือบริษัทใดบริษัทหนึ่ง หากจะคืนจะต้องคืนให้กับ สปป.ลาว หรือผู้แทนที่ สปป.ลาว มอบอำนาจให้เท่านั้น บก.ปทส. จึงได้ตรวจสอบข้อมูลดังกล่าวไปยังสถานทูต สปป.ลาว ประจำประเทศไทย และกรมเอเซียตะวันออก เพื่อให้ยืนยัน หนังสือสถานเอกอัครราชทูตประชาธิปไตยประชาชนลาว เลขที่ 1113/สลบ.กค  ลง  5 ม.ค.60 ซึ่งได้เคยแจ้งว่า นายสอ นามสมมุติ มิเคยได้รับมอบอำนาจจากสถานทูตให้ไปรับไม้พะยูงของของกลางจำนวน 11 ตู้คอนเทนเนอร์ จึงไม่ต้องนำมาพิจารณา  

รายงานข่าวยังระบุอีกด้วยว่า ทางกระทรวงการต่างประเทศได้มีหนังสือลับ ด่วนมากที่ กต 1303/106 ลง 19 ม.ค.46 แจ้งให้ทราบว่าเมื่อวันที่ 23 ธ.ค.63 ที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศ สปป.ลาว ได้มีหนังสือตอบว่า กรณีไม้พะยูง 11 ตู้คอนเทนเนอร์ได้เป็นปัญหามายาวนานแล้ว และรัฐบาล สปป.ลาว ไม่มีความประสงค์จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ อีกทั้งมิได้มอบสิทธิให้บุคคลใดเพื่อไปติดต่อขอไม้ดังกล่าว ดังนั้น กรณีที่ได้ปรากฏตามภาพสื่อต่างๆ ว่ามีการอ้างว่าได้รับมอบอำนาจจากรัฐบาล สปป.ลาว ในการติดต่อขอคืนไม้พะยูง  บก.ปทส. จะได้รายงานให้ สปป.ลาว ทราบถึงกรณีมีผู้แอบอ้างดังกล่าว หาก สปป.ลาว พิจารณาแล้ว ได้รับความเสียหาย สามารถดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องได้ต่อไป