อย. – บช.ก. ทลายโรงงานลักลอบผลิตผงชูรส น้ำยาล้างจาน และสบู่ สวมยี่ห้อดัง

อย. – บช.ก. แถลงผลการทลายโรงงานลักลอบผลิตผงชูรส น้ำยาล้างจาน และสบู่ สวมยี่ห้อดัง ย่านลำลูกกา ยึดของกลางได้เป็นจำนวนมาก ตามนโยบาย พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบช.ก., พล.ต.ต. วิวัฒน์ ชัยสังฆะ รอง ผบช.ก. และ พล.ต.ต.จิรภพ ภูริเดช รอง ผบช.ก. ให้ บก.ปคบ. สืบสวนปราบปรามสินค้าอุปโภคบริโภคที่เป็นอันตรายต่อพี่น้องประชาชน

วันที่​ 23 กุมภาพันธ์ 2564 พล.ต.ต. วิวัฒน์ ชัยสังฆะ รอง ผบช.ก., พล.ต.ต. ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย ผบก.ปคบ., พ.ต.อ. สำเริง อำพรรทอง, พ.ต.อ.ศารุติ แขวงโสภา, พ.ต.อ. ศรีศักดิ์ คัมภีรญาณ, พ.ต.อ.ชนันนัทธ์ สารถวัลย์แพศย์ รอง ผบก.ปคบ., พ.ต.อ. เนติ วงษ์กุหลาบ ผกก.4 บก.ปคบ. และ ภญ. สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกันแถลงผลการทลายโรงงานลักลอบผลิตผงชูรส น้ำยาล้างจาน และสบู่ สวมยี่ห้อดัง ย่านลำลูกกา ดังนี้

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้รับเรื่องร้องเรียนว่า มีโรงงานแห่งหนึ่งย่านลำลูกกา ลักลอบผลิตผงชูรส น้ำยาล้างจาน และสบู่ ปลอม จึงได้ประสานเจ้าหน้าที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก. ปคบ.) เข้าตรวจค้นสถานที่ดังกล่าว พบแรงงานต่างด้าวจำนวนหนึ่งกำลังบรรจุผงชูรสยี่ห้อ อายิโนะโมะโต๊ะ น้ำยาล้างจานยี่ห้อ ซันไลต์ และสบู่ยี่ห้อ เบนเนท จากการสืบสวนพบว่า สถานที่แห่งนี้มีพฤติการณ์ลักลอบผลิตผงชูรส น้ำยาล้างจาน และสบู่ ปลอมมากว่า 1 ปีแล้ว ผลิตผงชูรสโดยแบ่งบรรจุจากผงชูรสไม่มียี่ห้อนำมาผสมเกลือ ก่อนบรรจุใส่ถุงที่พิมพ์ยี่ห้อ “อายิโนะโมะโต๊ะ” ผลิตน้ำยาล้างจานโดยแบ่งบรรจุจากน้ำยาล้างจานที่ผสมเอง แล้วนำมาบรรจุถุงที่พิมพ์ยี่ห้อ “ซันไลต์” ส่วนสบู่จะนำมาห่อพลาสติกและบรรจุลงกล่องที่พิมพ์ยี่ห้อ “BENNET” แล้วส่งสินค้าสำเร็จรูปไปขายในจังหวัดภาคใต้ โดยเฉพาะจังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส เจ้าหน้าที่จึงยึดของกลางไว้ทั้งหมด เป็นผงชูรสสำเร็จรูปปลอมยี่ห้อ อายิโนะโมะโต๊ะ กว่า 5,000 ซอง ผงชูรสวัตถุดิบ กว่า 22 ตัน เกลือวัตถุดิบกว่า 1.4 ตัน ซองผงชูรสเปล่ากว่า 1.1 แสนชิ้น น้ำยาล้างจานสำเร็จรูปยี่ห้อ ซันไลต์ 20 ถุง ซองน้ำยาล้างจานเปล่ากว่า 25,000 ชิ้น สบู่ยี่ห้อ BENNET กว่า 2,088 ก้อน สบู่เปลือยรอบรรจุกว่า 20 กระสอบ ลังบรรจุภัณฑ์ อุปกรณ์การผลิต และเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตอีกจำนวนหนึ่ง

เบื้องต้น เจ้าหน้าที่แจ้งข้อกล่าวหาตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 ฐานผลิตอาหารโดยไม่ได้รับอนุญาตและปลอม มีโทษสูงสุด จำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5 พันบาทถึง 1 แสนบาท ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ฐานผลิตวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 โดยไม่แจ้งข้อเท็จจริงและปลอม มีโทษสูงสุด ต้องระวางโทษกึ่งหนี่งของโทษตามมาตรา 75 (จำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับ ไม่เกิน 7 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ) และตามพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 ฐานผลิตเครื่องสำอางที่ไม่ได้จดแจ้ง/ปลอม/แสดงฉลากไม่ถูกต้อง มีโทษสูงสุด จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ ในประเด็นการละเมิดเครื่องหมายการค้า เจ้าหน้าที่ตำรวจจะเชิญผู้เสียหายมาร้องทุกข์กล่าวโทษต่อไป

พล.ต.ต. วิวัฒน์ ชัยสังฆะ รอง ผบช.ก. กล่าวว่า ขอขอบคุณพี่น้องประชาชนที่แจ้งเบาะแสการกระทำความผิด ทำให้เจ้าหน้าที่ทั้ง อย. และ บก. ปคบ. สามารถสืบสวนและจับกุมผู้กระทำความผิดพร้อมของกลางเป็นจำนวนมาก ไม่ให้สินค้าที่ไม่มีคุณภาพหลุดลอดไปจำหน่าย หากพบเห็นการลักลอบผลิต นำเข้า หรือจำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพ ผิดกฎหมาย ขอให้แจ้งมาที่สายด่วน ปคบ. 1135 เพื่อตำรวจ บก. ปคบ. และเจ้าหน้าที่ อย. จะร่วมกันปราบปรามผู้กระทำความผิดกฎหมายอย่างเข้มข้นต่อไป

ภญ. สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวต่อไปว่า ผลิตภัณฑ์สุขภาพปลอมที่ยึดได้ใช้วิธีสวมยี่ห้อผลิตภัณฑ์ที่ขออนุญาตอย่างถูกต้อง ทำให้ตรวจสอบได้ยาก ขอให้ผู้บริโภคระวังสินค้าที่มีราคาถูกเป็นพิเศษหรือขายในแหล่งที่ไม่น่าเชื่อถือ หากไม่แน่ใจให้ตรวจสอบกับเจ้าของผลิตภัณฑ์ตามที่ปรากฏในฐานข้อมูลของ อย. และหากพบการลักลอบผลิต นำเข้า จำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย ขอให้แจ้งมาที่สายด่วน อย. 1556