วันนี้ (4 ก.พ.) เวลา 10.00 น. กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) พ.ต.อ.ศรีศักดิ์ คัมภีรญาณ รอง ผบก.ปคบ. พร้อมด้วย พ.ต.อ.เนติ วงษ์กุหลาบ ผกก.4 บก.ปคบ. และ เภสัชกรหญิงสุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมแถลงผลการทลายแหล่งผลิตและจำหน่ายครีมเถื่อนรายใหญ่ 4 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา สระแก้ว ชลบุรี และ พระนครศรีอยุธยา รวมมูลค่าของกลางกว่า 5 แสนบาท
พ.ต.อ.ศรีศักดิ์ กล่าวว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ออกข่าวเตือนผู้บริโภคอย่าใช้ครีมเถื่อน ไม่มีเลขจดแจ้ง โฆษณาอ้างช่วยผิวขาวใส มีออร่า ที่มีการรีวิวทางติ๊กต๊อก (Tik Tok) กันอย่างแพร่หลายในขณะนี้ โดย บก. ปคบ. ได้สืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมจน พบสถานที่ลักลอบจำหน่ายครีมเถื่อนดังกล่าวในพื้นที่ จ.ฉะเชิงทรา จ.ชลบุรี และ จ.พระนครศรีอยุธยา ก่อนขยายผลถึงแหล่งผลิต จ.สระแก้ว สามารถจับกุมผู้ต้องหา 4 ราย พร้อมยืดของกลางไว้ทั้งหมด เป็น ครีมสำเร็จรูปพร้อมจำหน่าย 523 ถุง ครีมกระปุกฝาแดง 1,989 กระปุก วิตามินซี 30 หลอด ครีมรอบรรจุ 80 กิโลกรัม และอุปกรณ์การผลิต รวมมูลค่ากว่า 5 แสนบาท
พ.ต.อ.ศรีศักดิ์ กล่าวอีกว่า จากการสืบสวนทราบว่าผู้ผลิตได้ซื้อครีมมาจากประเทศกัมพูชา มาผสมกับครีมตามท้องตลาดในไทยเพื่อลดความเจือจางไม่ให้เข้มข้นมากเกินไป อ้างสรรพคุณความสวยความงาม โดยการผลิตใช้ต้นทุนต่ำประกอบกับเป็นที่ต้องการในตลาดออนไลน์ ขายกระปุกเล็ก 120 บาท กระปุกใหญ่ 290 บาท
“ด้วยความร่วมมือของ บก.ปคบ. และ อย. ในครั้งนี้ สามารถยึดครีมเถื่อนของกลางจำนวนมาก ไม่ให้หลุดรอดออกไปจำหน่ายอาจทำให้ประชาชนได้รับอันตราย และขอเตือนประชาชนอย่าซื้อเครื่องสำอางที่ไม่มีเลขจดแจ้งมาใช้เด็ดขาด เพราะไม่ทราบตัวตนของผู้ผลิตและส่วนผสมที่ใช้ อาจมีสารอันตรายปลอมปนอยู่ ซึ่งตำรวจ บก.ปคบ. และเจ้าหน้าที่ อย. จะร่วมกันปราบปรามผู้กระทำความผิดกฎหมายอย่างเข้มขันต่อไป นอกจากนี้ เมื่อปี 63 ปคบ. เคยดำเนินคดีกับครีมลาวเถื่อนมาแล้ว ศาลลงโทษจำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา จึงขอเตือนว่าอย่ากระทำการในลักษณะดังกล่าว”
ด้าน เภสัชกรหญิงสุภัทรา เผยว่า ครีมเถื่อนที่ยึดได้ในครั้งนี้กลับมาระบาดอีกครั้งคาดมาจากประเทศกัมพูชา มักขายตามตลาดนัด ร้านค้าออนไลน์ ไม่มีเลขจดแจ้ง ไม่มีฉลากหรือแสดงฉลากเป็นภาษาต่างประเทศ โฆษณาอ้างรักษาสิว รอยแผลป็น ฝ้า กระ ช่วยให้ผิวขาวกระจ่างใส ดำกรรมพันธุ์ก็ขาวขึ้น เห็นผลใน 7 วัน ทั้งเมื่อปี 53 อย. เคยตรวจพบสารห้ามใช้ในเครื่องสำอางประเภทนี้ เช่น สารปรอท ไฮโดรควิโนน กรดวิตามินเอ สเตียรอยด์ ซึ่งหากใช้เป็นเวลานาน อาจทำให้ผิวหน้าดำ ผิวบางลง แพ้แสงแดดหรือแสงไฟได้ง่าย ผิวแตกลายถาวร เพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากได้รับสารปรอทในปริมาณมาก อาจเกิดพิษสะสม ส่งผลให้ไตอักเสบ ซึ่งเคยมีผู้แพ้สารปรอทในเครื่องสำอางจนเสียชีวิตมาแล้ว รวมทั้ง กรดวิตามินเอหากใช้กับสตรีมีครรภ์จะส่งผลต่อเด็กที่คลอดออกมาจะพิการได้
เภสัชกรหญิงสุภัทรา เผยอีกว่า สำหรับผู้บริโภคควรตรวจสอบผลิตภัณฑ์ก่อนใช้ว่ามีสถานที่ผลิตชัดเจนหรือไม่ ส่วนประกอบในเครื่องสำอาง มีเลข 13 หลักจดแจ้งถูกต้องหรือไม่ ส่วนขณะนี้ยังไม่มีผู้เสียหายมาแจ้งความ อย่างไรก็ตาม หากพบการลักลอบผลิต นำเข้า จำหน่าย ผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย ขอให้แจ้งมาที่สายด่วน อย. 1556
เบื้องต้น เจ้าหน้าที่ ปคบ. แจ้งข้อกล่าวหาตามพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 ฐานผลิต/ขายเครื่องสำอางไม่ได้จดแจ้งและไม่มีฉลาก มีโทษสูงสุด จำคุกไม่เกิน 6 เดือน
รับไม่เกิน 5 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากตรวจพบสารห้ามใช้จะมีโทษสูงสุด จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้เมื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานแล้วหากพบเป็นการกระทำความผิดฐานใดก็จะดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดตามกฎหมายต่อไป