สืบเนื่องจาก พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระลอกใหม่ จึงได้สั่งการ พลตำรวจเอก สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้ นอกระบบให้แก่ประชาชนที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ
พลตำรวจเอก ปิยะ อุทาโย รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ / ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันปราบปราม การกระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผอ.ศปน.ตร.) พร้อมด้วยผู้บังคับบัญชา ของ ศปน.ตร. ประกอบด้วย พลตำรวจโท สุทิน ทรัพย์พ่วง ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ/รอง ผอ. ศปน.ตร. , พลตำรวจโท ธนายุตม์ วุฒิจรัสธำรงค์ ผู้บัญชาการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ/ รอง ผอ.ศปน.ตร. , พลตำรวจโท สมชาย เกาสำราญ ผบช.ประจำ สง.ผบ.ตร./เลขานุการ ศปน.ตร. จึงได้สั่งการให้ ระดมกวาดล้างหนี้นอกระบบพร้อมกันทั่วประเทศ ในระหว่างวันที่ 18-24 ธันวาคม 2563 โดยมุ่งเน้นปราบปรามดำเนินคดีกับผู้มีอิทธิพล บุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่มีพฤติการณ์ให้ประชาชนผู้ยืมเงินโดยผิดกฎหมาย เรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด หรือมีลักษณะเป็นการทำสัญญาเอารัดเอาเปรียบประชาชน การทวงถามหนี้โดยผิดกฎหมาย หรือการกู้ยืมเงินที่มีลักษณะเป็นการฉ้อโกงประชาชน โดยในห้วงระยะเวลา 7 วันที่ผ่านมา มีผลการดำเนินการในภาพรวมทั่วประเทศ ดังนี้
นำหมายค้นเข้าตรวจค้นเป้าหมายรวม 587 เป้าหมาย จับกุมผู้ต้องหาได้รวม 297 ราย ตรวจยึดเงินสด333,126 บาท ตรวจยึดอาวุธปืน จำนวน 2 กระบอก บัญชีลูกหนี้ 3,280 รายชื่อ สมุดบัญชี และบัตร ATM 47 รายการ ตรวจยึดรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ 118 คัน ตรวจยึดโฉนดที่ดิน 23 ฉบับ ตรวจยึดโทรศัพท์มือถือ 109 เครื่อง รวมมูลค่าทรัพย์สินที่ตรวจยึด 1,5091,928 บาท
โดยมีผลการจับกุมหนี้นอกระบบรายสำคัญ ดังนี้
“บุกทลาย App เงินกู้ทุนต่างชาติ ดอกเบี้ยร้อยละ 2,000 เข้าถึงข้อมูลมือถือ ไม่จ่าย ประจาน”
พลตำรวจตรี ไมตรี ฉิมเฉิด ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ พร้อมด้วย กก.5 บก.ปอศ. สืบทราบว่า Application เงินกู้นอกระบบ RICH MONEY ซึ่งมีการให้ผู้กู้ติดตั้ง Application ลงในโทรศัพท์มือถือ มีการเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด เมื่อกู้ผ่านจะถูกหักค่าบริการออกจากเงินกู้ แต่ลูกหนี้ยังต้องชำระหนี้เต็มจำนวนพร้อมดอกเบี้ย หากไม่ชำระหนี้ตามกำหนดจะถูกทวงหนี้ในลักษณะข่มขู่ ด่าทอ คุกคาม และส่ง SMS ประจานไปยังบุคคลที่สาม โดยเมื่อคิดดอกเบี้ยแล้ว คิดเป็นร้อยละ 39.35 ต่อ 7 วัน / หรือ ร้อยละ 5.66 ต่อวัน / หรือ ร้อยละ 2,067 ต่อปี
ต่อมาเมื่อวันที่ 18 ธ.ค.63 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.5 บก.ปอศ. นำหมายค้นเข้าตรวจค้นบริษัทฯ ซึ่งเป็นที่ตั้งของ RICH MONEY ในย่านพระราม ๓ ได้ตรวจยึดของกลาง คอมพิวเตอร์พร้อมอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก โดยได้ทำการจับกุมผู้บริหารบริษัทซึ่งเป็นนายทุนต่างชาติ พร้อมด้วยพนักงานที่มีหน้าที่บริหารงานของบริษัท รวม 6 ราย ในความผิดฐาน “ร่วมกันประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลโดยไม่ได้รับอนุญาต และเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด” ดำเนินการอายัดบัญชีเงินฝากที่เกี่ยวข้องกับแอปพลิเคชั่น RICH MONEY จำนวน 4 ธนาคาร รวมทั้งสิ้น 15 บัญชี รวมเงินที่อายัดจำนวนทั้งสิ้นกว่า 6,000,000 บาท (หกล้านบาท) นอกจากนี้ยังพบว่าบริษัทดังกล่าว มีเงินทุนหมุนเวียนหลายร้อยล้านบาท มีบัญชีผู้กู้กว่าหมื่นราย โดยขั้นตอนต่อไปหลังจากนี้ จะสืบสวนเส้นทางการเงิน และสอบสวนพยานทุกคนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงพนักงานบริษัทที่อยู่ในที่เกิดเหตุ รวมทั้งนำของกลางอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ และของกลางอื่นๆ ไปทำการตรวจพิสูจน์ทางเทคโนโลยี ทั้งนี้หากพบการกระทำความผิดอื่น หรือมีผู้กระทำความผิดเพิ่มเติม จะได้ทำการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมและดำเนินคดีอย่างเฉียบขาดในทุกฐานความผิด
โค่นนายทุนเงินกู้รายใหญ่ภาคอีสาน ตรวจยึดรถยนต์ รถจักรยานยนต์ จำนวนมาก
พลตำรวจโท ยรรยง เวชโอสถ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 พลตำรวจตรี พฤทธิพงษ์ ประยูรศิริ รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 พลตำรวจตรี ณัฐนนท์ ประชุม ผู้บังคับการสืบสวนตำรวจภูธรภาค 4 พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.สส.ภ.4 ได้ทำการสืบสวนทราบว่า มีนายทุนเงินกู้นอกระบบรายใหญ่ จำนวนหลายรายในพื้นที่ อ.เมืองขอนแก่น จว.ขอนแก่น มีพฤติการณ์ประกอบธุรกิจรับจำนำรถยนต์และรถจักรยานยนต์ เรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งข่มขู่ทวงหนี้โดยผิดกฎหมาย
ต่อมาเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2563 เจ้าหน้าที่ บก.สส.ภ.4 จึงได้นำหมายค้น จำนวน 3 หมาย เข้าตรวจค้นเป้าหมาย ๓ แห่ง ในพื้นที่ อ.เมืองขอนแก่น ผลการตรวจค้น สามารถตรวจยึดรถรวม 67 คัน รถยนต์ 17 คัน รถจักรยานยนต์ 50 คัน
โดยเจ้าหนี้เงินกู้ทั้ง 3 ราย มีพฤติการณ์คล้ายกันคือ ปล่อยเงินกู้ โดยให้ผู้กู้นำรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์มาค้ำประกัน โดยไม่ทำสัญญาเงินกู้ แต่ทำสัญญารับฝากขายรถยนต์ และให้ผู้กู้ลงลายมือชื่อไว้ ไม่ลงยอดจำนวนเงิน ซึ่งจำนวนเงินที่ผู้กู้จะได้ขึ้นอยู่กับสภาพรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์นั้นๆ โดยกลุ่มนายทุนจะคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 10 ต่อเดือน ซึ่งเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด ชำระจนกว่าจะครบยอดเงินที่กู้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวนเพื่อขยายผลติดตามตัวผู้ครอบครองรถมาทำการสอบสวน โดยขณะนี้ในเบื้องต้นพบว่า รถบางคันมีการแจ้งหายไว้ หรือยังอยู่ระหว่างเช่าซื้อกับบริษัทไฟแนนซ์
นายทุนเงินกู้รายใหญ่ จว.ร้อยเอ็ด ยึดที่ดินทำกินเป็นหลักประกัน ศปน.ภ.จว.ร้อยเอ็ด ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนว่า ได้ทำการกู้ยืมเงินกับนายทุนเงินกู้ในพื้นที่ อ.เมือง จว.ร้อยเอ็ด ซึ่งในการกู้ยืมเงินผู้กู้ต้องทำสัญญาขายฝากที่ดินไว้ มีกำหนดไถ่ถอน 1 ปี คิดดอกเบี้ยในอัตรา ร้อยละ 2.5 ต่อเดือน ซึ่งเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด
ต่อมาเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม2563 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.สืบสวน ภ.จว.ร้อยเอ็ด พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองพิสูจน์หลักฐานร้อยเอ็ด ได้นำหมายค้น เข้าตรวจค้นที่พักของนายทุนดังกล่าว ในพื้นที่ ต.เหนือเมือง อ.เมือง จว.ร้อยเอ็ด ผลการตรวจค้นพบ โฉนดที่ดินพร้อมสัญญากู้ยืมเงิน จำนวน 14 ชุด สัญญากู้ยืมเงิน จำนวน 18 ชุด ทสำเนาโฉนดที่ดินพร้อมสำเนาหนังสือสัญญารับจำนอง จำนวน 19 ฉบับ
สมุดบัญชีรายชื่อลูกค้า จำนวน 1 เล่ม พนักงานสอบสวนอยู่ระหว่างติดตามตัวผู้เสียหายมาทำการสอบสวนเพิ่มเติม ทั้งนี้หากพบว่าเป็นการกระทำความผิดอื่น จะได้แจ้งข้อกล่าวหาและดำเนินคดีในทุกฐานความผิดที่เกี่ยวข้อง
ดำเนินคดี บริษัททวงหนี้โหด ซ้อมพนักงาน ถ่ายคลิปประจาน
จากกรณีที่ปรากฏคลิปวีดีโอทำร้ายร่างกายพนักงานทวงหนี้แห่งหนึ่งใน จว.สมุทรสาคร โดยน่าเชื่อว่ามีมูลเหตุเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ พลตำรวจเอก ปิยะ อุทาโย รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ/ผอ.ศปน.ตร. จึงได้สั่งการให้ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้อง เร่งสืบสวนสอบสวนดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดในคดีนี้ โดยเบื้องต้นทราบว่า เหตุทำร้ายร่างกายในคลิปเกิดขึ้นที่ บริษัท ที.เอ็ม.เอ็น.กรุ๊ป 2018 ในพื้นที่ อ.เมืองสมุทรสาคร จว.สมุทรสาคร ทั้งนี้ได้กำหนดแนวทางการสืบสวนเป็น 2 ส่วน คือ คดีทำร้ายร่างกายตามที่ปรากฎในคลิป และ สืบสวนรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดีในความผิดเกี่ยวกับการให้กู้ยืมเงิน
คดีทำร้ายร่างกาย สภ.เมืองสมุทรสาคร ได้รับคำร้องทุกข์ไว้ตามคดีอาญาที่ 3608/2563 จากการสืบสวนทราบว่า ผู้ที่ถูกทำร้ายร่างกายตามคลิป คือ นายต้นกล้า ใจฉ่ำ และผู้ที่ก่อเหตุในคดีนี้คือ นายจิรัฐกสานต์ ใจสะอาด โดยมี นายสุกฤษฏิ์ สะวันงา เป็นผู้สั่งการ จึงได้แจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ต้องหาทั้งสองทราบว่า ร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ
ทั้งนี้ในส่วนของความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ บก.ปอศ. ได้ทำการสืบสวนจนทราบว่า บริษัท ที.เอ็ม.เอ็น.กรุ๊ป ๒๐๑๘ฯ มีการประกอบธุรกิจให้กู้ยืมเงินโดยผิดกฎหมาย จึงได้รวบรวมพยานหลักฐาน ขอให้ศาลจังหวัดสมุทรสาคร ออกหมายจับผู้ต้องหาที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย บริษัท ที.เอ็ม.เอ็น กรุ๊ป 2018 ในฐานะนิติบุคคล , นายสุกฤษฏิ์ สะวันงา กรรมการบริษัท และลูกจ้างของบริษัท รวม 13 หมายจับ ในความผิดฐาน “ร่วมกันประกอบธุรกิจสินเชื่อโดยไม่ได้รับอนุญาต และร่วมกันเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด”
ซึ่งต่อมาได้มีการนำหมายค้นเข้าตรวจค้นเป้าหมายซึ่งเชื่อมโยงกับ บริษัท ที.เอ็ม.เอ็นฯ ทั้งหมด จำนวน 9 จุด เพื่อรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องในคดี และเมื่อวันที่ 22 ธ.ค.2563 ได้ทำการจับกุมตัวและแจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ต้องหาทั้งหมดทราบ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินคดีในทุกข้อหาความผิด
ปราบปรามนายทุนเงินกู้นอกระบบในเขตพื้นที่นครบาล สำหรับในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร กองบัญชาการตำรวจนครบาล โดย พลตำรวจโท ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล พลตำรวจตรี จิรพัฒน์ ภูมิจิตร รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล พลตำรวจตรี สันติ ชัยนิรามัย ผู้บังคับการสืบสวนตำรวจนครบาล ได้สั่งการให้มีการระดมกวาดล้างในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้ทำการตรวจค้นเป้าหมาย 110 จุด จับกุมผู้ต้องหาจำนวน 12 ราย ตรวจยึดเงินสด 22,240 บาท อาวุธปืน 2 กระบอก รวมมูลค่าของกลาง 63,832 บาท
พลตำรวจเอก ปิยะฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ ศปน.ตร. ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๖๓ จนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลา ๖ เดือนเศษ มีผลการดำเนินการสืบสวนปราบปรามนายทุนเงินกู้นอกระบบ และรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน รวมทั้งสิ้น ๓,๔๗๕ เรื่อง ดำเนินการแล้วเสร็จจำนวน ๒,๘๙๓ เรื่อง อยู่ระหว่างดำเนินการ ๕๘๒ เรื่อง คิดเป็นเรื่องที่ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว ร้อยละ ๘๓.๒๕ ในส่วนความผิดที่พบสามารถแบ่งลักษณะของการกระทำความผิดออกได้ดังนี้
ดอกเบี้ยเกินอัตราฯ จำนวน ๑,๘๙๖ เรื่อง (ร้อยละ ๕๔.๕๖)
หมวกกันน็อค จำนวน ๙๙๙ เรื่อง (ร้อยละ ๒๘.๗๕)
เงินกู้ออนไลน์ จำนวน ๔๔๓ เรื่อง (ร้อยละ ๑๒.๗๕)
จำนำรถ จำนวน ๕๑ เรื่อง (ร้อยละ ๑.๔๗)
ขายฝากที่ดิน จำนวน ๒๕ เรื่อง (ร้อยละ ๐.๗๒)
จำนองที่ดิน จำนวน ๒๔ เรื่อง (ร้อยละ ๐.๖๙)
วางหลักประกัน จำนวน ๓๔ เรื่อง (ร้อยละ ๐.๙๘)
อื่น จำนวน ๓ เรื่อง (ร้อยละ ๐.๐๘)
ศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มุ่งมั่นที่จะปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ ที่เป็นการซ้ำเติมพี่น้องประชาชน สำหรับผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน ไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือต้องการแจ้งเบาะแส สามารถติดต่อได้ที่ ศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ชั้น 3 อาคาร 1 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ถนนสาทรเหนือ เขตบางรัก กรุงเทพฯ หรือโทรศัพท์ สายด่วน 1599 หรือที่สถานีตำรวจทุกแห่ง ได้ตลอด 24 ชั่วโมง