วันที่ 13 พฤศจิกายน 2563 เวลา 14.00 น. ณ ห้องศรียานนท์ โซนซี / พล.ต.ท.จารุวัฒน์ ไวศยะ ผู้ช่วย ผบ.ตร. พร้อมด้วย พล.ต.ต.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา รอง ผบช.ก. และ นายสมศักดิ์ เล็กเหล่าคงหัวหน้ากลุ่มงานตรวจและวินิจฉัยคำร้องทุกข์ ผู้แทนกรมการจัดหางาน แถลงข่าวสรุปผลการปฏิบัติการปราบปรามการแสวงหาประโยชน์จากประชาชนโดยมิชอบในการจัดหางาน โดยมี ผู้สื่อข่าวร่วมรับฟัง และสอบถามในประเด็นที่น่าสนใจ
แถลงสรุปผลการปฏิบัติ การปราบปรามการแสวงหาประโยชน์จากประชาชนโดย มิชอบในการจัดหางาน โดยการปฏิบัติการ เป็นการดำเนินคดีกับกลุ่มบุคคลที่แสวงหาประโยชน์จากแรงงาน โดยการหลอกลวงแรงงานเหล่านี้ว่า สามารถส่งไปทำงานที่ต่างประเทศได้ โดยเฉพาะช่วงโควิด ซึ่งคนตกงานเยอะ กลุ่มผู้หลอกลวงเหล่านี้เพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งคดีที่เกิดขึ้นก็ตามไปด้วยเช่นกัน ซึ่งกลุ่มผู้ต้องหา ได้ใช้ social media โดยเฉพาะ Facebook ในการโฆษณาจัดหางานโพสเชิญชวนไปทำงานต่างประเทศ ซึ่งจากสถิติของกรมการจัดหางานในช่วงปี 2561-2563 ได้รับเรื่องราวร้องทุกข์กว่า 1,500 เรื่อง และมีมูลค่าความเสียหายกว่า 100,000,000 ล้านบาท
โดยการทำงานแบ่งเป็น 2 ระยะ ใช้ระยะเวลารวม 3 เดือน คือเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.2563 – 30 ก.ย.2563 ระยะแรกใช้เวลา 1 เดือนในการตรวจสอบเป้าหมาย สืบสวนพิสูจน์ตัวบุคคล รวบรวมพยานหลักฐานเพื่อระบุตัวบุคคล โดยสามารถสืบสวนพบเป้าหมายกว่า 200 ราย และระยะที่ 2 ใช้เวลา 2 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.2563- 30 ก.ย.2563 สามารถติดตามตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีได้กว่า 130 ราย ในข้อหา โฆษณาจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งศาลได้พิพากษา ให้จำคุก 6 เดือน ปรับ 20,000 บาท โดยให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี ทุกคดี
สำหรับแผนประทุษกรรมของกลุ่มผู้ต้องหา จะมาโพสใน Facebook ชักชวนให้คนไปทำงาน โดยจะสร้างความน่าเชื่อถือ โดยโพสรูปการทำงาน โพสรูปเงินทอง หรือ หลอกลวงว่ารายได้ดี งานสบายเมื่อมีแรงงานหลงเชื่อติดต่อไป ก็จะมีตั้งแต่การขอค่าดำเนินการต่างๆ/ขอค่าเครื่องบิน โดยจะได้รายได้ประมาณ 10,000 – 20,000 บาทต่อราย นอกจากนี้ยังมีคดีที่เกิดขึ้นที่สำคัญๆ เช่นคดีบริษัท KINGDOM สร้างความน่าเชื่อถือให้กับแรงงาน โดยจัดตั้งเป็นบริษัท มีที่อยู่ชัดเจน มีเพจ Facebook หรือ ไลน์ที่น่าเชื่อถือ
การดำเนินการสืบสวนดำเนินคดีจับกุมผู้ต้องหาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำให้การกระทำความผิดในลักษณะดังกล่าว ลดน้อยลง และขอแจ้งเตือนพี่น้องประชาชน ผู้ที่จะไปทำงานในต่างประเทศได้รับรู้ถึงแผนประทุษกรรมดังกล่าว สามารถที่จะป้องกันตนเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่อได้ โดยถ้าหากพบการโฆษณาจัดหางานในต่างประเทศในช่องทางต่างๆ แล้วสงสัยว่าเป็นการดำเนินการจัดหางานโดยได้รับอนุญาตถูกต้องหรือไม่ ให้ตรวจสอบการจดทะเบียนกับกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน โดยแรงงานที่ต้องการไปทำงานที่ต่างประเทศแบบถูกต้องตามกฎหมาย สามารถสอบถามรายละเอียดได้เช่นเดียวกัน
ฐานความผิดในคดีนี้ ตาม พรบ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2537
1.) ห้ามมิให้ผู้ใดจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศ เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนจัดหางานกลาง มาตรา 30 (ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 – 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 60,000 – 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ)
2.) การโฆษณาการจัดหางานให้เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด มาตรา 66 (ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ)
3.) ผู้ใดหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางาน หรือสามารถส่งไปฝึกงานในต่างประเทศได้ และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งเงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ถูกหลอกลวง (ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 – 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 60,000 – 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ)
สายด่วนของ บก.ปคม. โทร.1191 หรือ เฟซบุ๊กเพจของกองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ Facebook.com/ATPDPOLICE