สั่งยกเครื่องตร.ทางหลวงใหม่เน้นเป็นมิตรกับประชาชนมากกว่าเดิม

ผบช.ก. สั่งยกเครื่องตำรวจทางหลวงใหม่หลังพบเป็นจุดอ่อนของหน่วยย้ำต้องเป็นมิตรกับประชาชนให้มาก ใครผิดครั้งแรกให้ว่ากล่าวตักเตือนไม่ปรับหากไม่ทำผิดซ้ำ พร้อมสั่งติดกล้องจุดเสียค่าปรับป้องกันตำรวจรีดทรัพย์

เมื่อวันที่ 9 พ.ย. ที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เมืองทองธานี พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (ผบช.ก.) กล่าวภายหลังหารือการทำงานในรอบสัปดาห์กับ รองผบช.ก. และ ผบก.ในสังกัดว่า ขณะนี้จุดอ่อนของตำรวจ บช.ก. คือ ตำรวจทางหลวง เพราะต้องตั้งด่านและสัมผัสประชาชนทำให้ชาวบ้านไม่พอใจ มีการเขียนใบสั่งหน้าตู้บริการหรือจุดบริการทางหลวง ต่างกับหน่วยงานอื่นๆ ที่สร้างผลงานการจับกุมช่วยเหลือพี่น้องประชาชน เป็นจุดแข็งเพราะออกไปช่วยเหลือพี่น้องประชาชน จึงมาคิดว่าจะทำอย่างไรกับตำรวจทางหลวง ที่ผ่านมาตนได้เรียก พล.ต.ต.เอกราช ลิ้มสังกาศ ผู้บังคับการตำรวจทางหลวง คนใหม่ที่เพิ่งรับตำแหน่งเข้ามาพบเพื่อให้ไปคิดค้นทางแก้ไข

ทั้งนี้ ในเบื้องต้นให้ไปแก้ไขจุดบริการทางหลวงหรือจุดที่ตั้งด่านจะไม่ต้องมีการปรับเงินสดอีกต่อไป เพื่อไม่ให้มีการยัดเงินให้กับตำรวจ แต่ให้ออกใบสั่งเพียงอย่างเดียว โดยไม่ให้ปรับที่บริเวณนั้น เพราะเสี่ยงต่อการเรียกรับเงินหรือเป็นเหยื่อในสื่อโซเชียลที่อาจจะถ่ายคลิปไปอ้างว่าตำรวจเรียกรับเงินได้ จากนี้ไปจุดออกใบสั่งกับจุดปรับจะอยู่ห่างกันออกไปราว 2 กิโลเมตร โดยให้ตั้งเขตถนนให้ชัดเจน มีกรวยชัดเจน แล้วจุดตั้งนั้นก็จะเป็นจุดปรับที่เราจัดตั้งไว้เรียบร้อยแล้ว ติดตั้งกล้องวงจรปิดอย่างน้อย 3 ตัว

“เมื่อชาวบ้านถือใบสั่งเข้ามาก็เข้าสู่กระบวนการตรวจสอบประวัติตามระบบหมายจับ จากนั้นให้ตำรวจอธิบายข้อหาที่กระทำความผิด เช่น ขับรถเร็ว เปลี่ยนช่องทาง ฝ่าฝืนเครื่องหมาย หรือข้อหาอื่นๆ หากเป็นการกระทำความผิดครั้งแรกก็ให้ว่ากล่าวตักเตือน พร้อมกับเก็บข้อมูลไว้ โดยยังไม่ปรับ แต่หากพบว่าเป็นการผิดซ้ำครั้งที่สองถึงจะดำเนินการจับกุม ขณะนี้ผู้การฯตำรวจทางหลวงกำลังไปคิดในรายละเอียดและวิธีการที่ประชาชนจะได้รับการอำนวยความสะดวกอย่างดีที่สุด “ พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ กล่าว 

พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ กล่าวว่า นี่คือการแก้ไขปัญหา เป็นการเซตซีโร่ของการตั้งด่านของตำรวจทางหลวง โดยในพื้นที่บริเวณที่เสียค่าปรับนั้นนอกจากจะมีตำรวจที่แต่งเครื่องแบบแล้ว จะให้นำนักศึกษาฝึกงานเข้ามาร่วมปฏิบัติหน้าที่ด้วย ไม่ใช่ให้นักศึกษาเขาไปทำงานอื่น แกะข้าว ชงกาแฟ แต่ต้องได้ทำงานจริง และให้เข้ามาช่วยเหลือประชาชนในส่วนบริการตรงนี้ด้วย เพราะนักศึกษาฝึกงานเหล่านี้ คาดว่าจะสามารถรับอารมณ์จากชาวบ้านได้ดีกว่า ที่สำคัญพวกเขาคือกระบอกเสียงของตำรวจในวันข้างหน้า ให้เขามีความรู้สึกว่า อาชีพตำรวจวันๆหนึ่ง เขาต้องรับกับอะไรบ้าง จะได้ซึมซับความรู้สึกของตำรวจด้วย

ที่มา https://www.posttoday.com/social/general/637596