วันนี้ (28 ตุลาคม 2563) เวลา 10.30 น. ที่ สน.ปทุมวัน นายกรกช แสงเย็นพันธ์, นางสุวรรณา ตาลเหล็ก, นายชาติชาย แกดํา, นายสิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ พร้อมทนายความ เดินทางเข้ามารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกในข้อหาเกี่ยวกับพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากกรณีการชุมนุมเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2563 บริเวณแยกปทุมวัน
นายกรกช กล่าวว่า วันนี้มารายงานตัวตามหมายเรียกเกี่ยวกับพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2563 ที่บริเวณแยกปทุมวัน ในวันที่มีการสลายการชุมนุม โดยในวันนั้นตนเป็นผู้เข้าร่วมชุมนุมและผู้จัดการชุมนุมมีการใช้รถปราศัยเสนอข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล ซึ่งการชุมนุมเป็นไปด้วยความสงบและสันติ มีเพียงผู้ชุมนุมมาร่วมชุมนุมบนพื้นผิวถนนโดยสงบยังไม่มีการกระทำรุนแรงอะไรแต่อย่างใดแต่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้ใช้กำลังเข้ามาสลายการชุมนุม
นายกรกช กล่าวอีกว่า ทุกคนที่มารับทราบข้อกล่าวหาในวันนี้ให้การปฏิเสธทุกข้อหา เพราะรัฐบาลออกพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ด้วยข้อกำหนดที่ไม่สมเหตุสมผล เช่น กรณีของขบวนเสด็จซึ่งไม่ถือเป็นเหตุร้ายแรงที่จะไปประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เจตนาที่รัฐบาลประกาศสถานการณ์ร้ายแรงฉุกเฉินก็เพื่อต้องการสกัดกั้นการชุมนุมที่เรียกร้องอย่างสงบและสันติให้รัฐบาลออกจากตำแหน่ง ร่างรัฐธรรมนูญและปฏิรูปสถาบัน การชุมนุมที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าไม่มีแกนนำอีกต่อไป ทุกคนเป็นแกนนำ ออกมาชุมนุมด้วยเจตนารมณ์ของตนเองตามข้อเรียกร้องต่างๆ ตั้งแต่ 18 ตุลาคมเป็นต้นมา
เมื่อถามว่าการชุมนุมที่ผ่านมาเรามักจะถูกออกหมายเรียกแต่ขณะที่ฝ่ายตรงข้ามกลับไม่ถูกออกหมายเรียกมองเรื่องนี้อย่างไร นายกรกช กล่าวต่อว่า เรื่องนี้เกิดขึ้นมาโดยตลอดตั้งแต่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยึดอำนาจคสช. มีการดำเนินคดีและยัดข้อหาต่างๆ หลายๆ คนที่อยู่ตรงนี้ก็ถูกดำเนินคดีมาตั้งแต่ยุคคสช. เราคิดว่าเป็นเรื่องปกติที่รัฐบาลทำ แต่ไม่ปกติในระบอบประชาธิปไตย
นางสุวรรณา กล่าวว่า พวกเราหลายคนโดนดำเนินคดีตั้งแต่ยุคคสช.มา และมองว่ารัฐบาลเลือกที่จะปฏิบัติทำลายความชอบธรรมคนคิดเห็นต่าง ไม่ว่าจะเป็นการสลายการชุมนุมครั้งล่าสุด คุณเริ่มใช้ความรุนแรงกับเราก่อน เพราะฉะนั้นสิ่งที่เรายังยืนยันจะเข้าร่วมกิจกรรม เราก็ยังคงทำหน้าที่ของเราต่อไป ทั้งผู้เข้าร่วมชุมนุมและคนที่คอยเข้าร่วมกิจกรรมที่ตอนนี้ไม่มีแกนนำแล้ว
นายชาติชาย กล่าวว่า ในวันดังกล่าวผมไม่ได้ปราศัยเลย ผมเป็นแค่ผู้ร่วมชุมนุมอยู่ดีๆ ก็โดนหมาย ก็งงอยู่เหมือนกันว่าหมายที่ออกมาชอบธรรมหรือไม่ เพราะเป็นการหว่านแหโดยที่ไม่สนใจเลยว่าองค์ประกอบความผิดเป็นอย่างไร เหมือนว่าแค่ผู้มีอำนาจที่ออกหมายเขาไม่พอใจ เขาก็ออกหมาย ปัญหาคือคนสั่งการคือใคร คนที่มีอำนาจในการสั่งให้จับผู้ชุมนุม หรือคนที่มีอำนาจสั่งให้ดำเนินคดี เพราะหลักการจริงๆ ในวันนั้น คนที่ไปร่วมชุมนุมหรือแม้แต่ผมที่เข้าร่วมชุมนุม เป็นการชุมนุมอย่างสงบปราศจากอาวุธแล้วมีกฎหมายตามรัฐธรรมนูญคุ้มครองอยู่แล้ว คนที่มีอำนาจอยู่เหนือรัฐธรรมนูญเขาต้องการอะไร