เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 12 ตุลาคม ที่อาคารเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารพระชนมพรรษา 60 พรรษา เมืองทองธานี ถนนแจ้งวัฒนะ
พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบช.สอท.) แถลงนโยบายการขับเคลื่อนการดำเนินงานและวิสัยทัศน์ของกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยมีท่านเจ้าคุณพระญาณวิกรม (พระอาจารย์อุเทน สิริสาโร) เจ้าอาวาสวัดท่าไม้ ให้พรเพื่อความเป็นสิริมงคลกับคณะผู้เข้ารับฟัง
พล.ต.ท.กรไชย กล่าวว่า บช.สอท.นับเป็นกองบัญชาการแรกของประเทศไทยที่จะมุ่งหน้าปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญยิ่งในปัจจุบัน เราจะปกป้องเยาวชน ประชาชน และสังคมไทยให้เกิดความเชื่อมั่นและเป็นที่ศรัทธา ภายใต้หลัก 5 ป.คือ 1.ป้องกันอาชญากรรมทางเทคโนทั่วราชอาณาจักรอย่างมีประสิทธิภาพ 2.ปราบปรามด้วยสมรรถนะที่สูงยิ่ง 3.ปฏิบัติการบูรณาการข้อมูลข่าวสารอย่างมีระบบ 4.เปิดเผยผลงานสู่สาธารณะและเชื่อมโยงภาครัฐอย่างมีธรรมาภิบาล และ 5.ปฏิรูปการสืบสวนสอบสวนเพื่อคุณภาพชีวิตของประชาชน
“ในอดีตผมเป็นนักกีฬารักบี้ฟุตบอล และได้นำมาเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารงาน คือ ทุกคนไปด้วยกัน เล่นด้วยกัน ไม่มีใครเก่งกว่าใคร ผมเป็นเหมือนหัวหน้าทีมที่จะนำนักกีฬาทั้ง 7 กองบังคับการในการรับผิดชอบคดีอาญาทุกรูปแบบทั่วประเทศ ผมจะสู้และทำงานด้วยจิตใจที่มุ่งมั่น ทุ่มเทสติปัญญาให้กับองค์กรนี้ ตามคติขององค์กรคือ Cyber Cop Anti Cyber Crimes
พล.ต.ท.กรไชย กล่าวว่า สำหรับความแตกต่างในการทำงานระหว่างกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี(บก.ปอท.) กับ บช.สอท.ในระหว่าง 6 เดือนนี้ บก.ปอท.จะยังคงรับผิดชอบคดีเกี่ยวกับเทคโนโลยีอยู่ และเพิ่มภารกิจถวายความปลอดภัย จากนั้น บช.สอท.จึงจะเริ่มรับผิดชอบดูแลคดีอาญาทุกประเภททั่วประเทศ โดยเฉพาะการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เช่น หมิ่นประมาท ข่มขู่คุกคาม สื่อลามก เฟคนิวส์ การพนันออนไลน์ การขายของผิดกฎหมาย การดักรับข้อมูล รวมถึงโรแมนสแกม และคดีใดก็ตาม ที่เป็นเรื่องสนใจของประชาชนรวมถึงคดีอุกฉกรรจ์ โดยจะร่วมทำงานกับกระทรวงดิจิตัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอีเอส) และนานาชาติ 10 ประเทศ เช่น ออสเตรเลีย ซึ่งเป็นเจ้าของระบบไครม์ที่ตำรวจไทยใช้อีกด้วย
“ข้อจำกัดของ บช.สอท.ในตอนนี้ คือ 1.ยังมีความจำเป็นในการคัดสรรบุคคลเข้ามาทำงาน ตอนนี้มีตำรวจในสังกัด 333 นาย ภายในเดือนแรก เราจะสร้างการรับรู้วิทยาการใหม่สืบค้นข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตต่างๆ ภายใน 6 เดือน จะเริ่มรับแจ้งความผ่านทางโทรศัพท์มือถือ หรือวิดีโอคอล โดยจะพิจารณาความผิดเป็นบางคดี หากเข้าข่ายก็จะให้การช่วยเหลือ แต่บางคดี เช่น การแฮกข้อมูลหรือหลอกโอนเงิน โรงพักท้องที่สามารถดำเนินการเองได้ แต่หากไม่มีวิทยาการ เราจะช่วยเหลือแล้วมอบงานกลับไปให้ทำแล้วเสร็จใน 15 วัน จากนั้นใน 1 ปี จะรับแจ้งความอย่างสมบูรณ์แบบทุกเรื่องทุกคดี และ 2.ยังมีข้อจำกัดด้านเครื่องมือและอุปกรณ์ เนื่องจาก บช.สอท.ได้ก่อตั้งขึ้นภายหลังการพิจารณางบประมาณ จึงประสานดีอีเอสพิจารณาของบไปเเล้ว” ผบช.สอท.กล่าว
อย่างไรก็ตาม ในอนาคต บช.สอท.จะมีกองบังคับการต่างๆ ตั้งอยู่ทั่วประเทศ อาทิ ภาคกลาง กทม.,ภาคตะวันออก จ.ชลบุรี,ภาคอีสาน จ.ขอนแก่น,ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ และภาคใต้ จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อรองรับในการแจ้งความร้องทุกข์ของประชาชน