ตามนโยบายรัฐบาลนำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติทำการปราบปรามอาชญากรรมที่ได้เกิดขึ้นหลายรูปแบบ มีการขยายตัวเป็นวงกว้างและมีผลกระทบต่อประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การกระทำความผิดในระบบคอมพิวเตอร์ และสังคมออนไลน์ ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นควบคู่ไปพร้อมกับความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในปัจจุบัน ที่เป็นปัญหาที่ทางรัฐบาลให้ความสำคัญ และเร่งดำเนินการแก้ไขอย่างจริงจัง
ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.อ.รุ่งโรจน์ แสงคร้าม รอง ผบ.ตร. ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีและสารสนเทศ(ศปอส.ตร.) ,พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผบช.สตม. ในฐานะ รองผู้อำนวยการ ศปอส.ตร., พล.ต.ต.พนัญชัย ชื่นใจธรรม ผบก.บก.สส. สตม.,พล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง ผบก.ตม.3, พล.ต.ต.นิธิธร จินตกานนท์ ผบก.บก.จร.บช.น., พ.ต.อ.วรพจน์ รุ่งกระจ่าง ผกก.สส.บก.น.4 ได้สั่งการให้ ศปอส.ตร. ชุดปฏิบัติการที่ 2 สืบสวนติดตามจับกุมตัวคนร้าย ซึ่งใช้สื่อสังคมออนไลน์ ผ่านแอพพิลเคชั้นไลน์(LINE)ซึ่งมีผู้เสียหายได้มาแจ้งความร้องทุกข์ที่ ศปอส.ตร.ให้ช่วยดำเนินการสืบสวนจับกุมตัวท้าวแชร์ คนดังกล่าว และนอกจากนี้ยังมีผู้ตกเป็นเหยื่อ กับผู้ต้องหารายนี้อีกจำนวนหลายราย
เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2562 ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีและสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ศปอส.ตร.) ได้รับการร้องเรียนจากผู้เสียหายจำนวน 7 ราย ว่าได้ถูกท้าวแชร์ หลอกให้เล่นแชร์ในพื้นที่จังหวัดสิงห์บุรี โดยหลอกลวงกลุ่มผู้เสียหาย ตั้งแต่กลางปี 2561 ถึงปัจจุบัน โดยการเปิดวงแชร์แบบแจกดอก และแชร์แบบขั้นบันได มีการเปิดวงแชร์ เกือบ 200 วง ใช้วิธีหาสมาชิกใหม่เริ่มเล่นวงใหม่เพื่อระดมทุนไปจ่ายสมาชิกวงเก่า มีสมาชิกร่วมเล่นกว่า 100 คน ชักชวนให้สมาชิกในกลุ่มไลน์(LINE) ซึ่งมีเกินกว่า ๑๐ คนขึ้นไป ให้นำเงินเข้าร่วมเล่นแชร์โดยกำหนดอัตราการนำเงินส่งเข้ากองกลางเป็นงวดๆหรือเพียงงวดเดียว แล้วกำหนดว่าจะจ่ายดอกเบี้ยหรือผลประโยชน์ตอบแทนให้กับสมาชิกวงแชร์ทุกคนเมื่อครบรอบที่กำหนดโดยไม่ได้ให้สมาชิกหมุนวนกันรับทุนกองกลางกันเป็นงวดๆโดยการประมูลเบื้องต้นมีผู้เสียหายเข้าแจ้งความ 7 ราย และทยอยเข้าแจ้งความอย่างต่อเนื่อง รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 5 ล้านบาท
ต่อมาวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2562 เจ้าหน้าที่ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ( ศปอส.ตร.) ได้รวบรวมพยานหลักฐาน ต่างๆ พยานบุคคล ,พยานวัตถุและพยานเอกสารที่เกี่ยวข้อง และได้สอบปากคำพยานที่เกี่ยวข้อง พบว่าการกระทำในลักษณะดังกล่าวจึงไม่ใช่การเล่นแชร์ตาม พระราชบัญญัติการเล่นแชร์ ๒๕๓๔ แต่มีลักษณะการกู้ยืม รับเข้าเป็นสมาชิก รับเข้าลงทุนโดยมี น.ส.นริศราฯ เป็นเท้าแชร์(ในฐานะผู้กู้ยืมเงิน) ตกลงจะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้ลูกแชร์(ในฐานะผู้ให้กู้ยืมเงิน)โดยการโฆษณาหรือประกาศให้แก่ประชาชนหรือบุคคลตั้งแต่ ๑๐ คนขึ้นไปว่า เท้าแชร์จะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้ โดยที่ น.ส.นริศราฯ มีเจตนาจะเปิดวงแชร์ต่อๆไป โดยนำเงินจากสมาชิกวงแชร์(ผู้ให้กู้)รายนั้นหรือรายอื่น มาจ่ายหมุนเวียนให้แก่ผู้ให้กู้ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ชุดปฏิบัติการที่ 2 จึงได้ยื่นคำร้องขอหมายจับ ต่อศาลจังหวัดสิงห์บุรี และศาลจังหวัดสิงห์บุรีได้อนุมัติหมายจับที่ 256 / 2562 ลงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2562 ในความผิดฐาน “ซึ่งเป็นความผิดฐาน “ กู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน “ ตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 มาตรา 5, 12
ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุม นำโดย พ.ต.ท.ปัญญา กุลไทย รอง ผกก.สส.บก.น.4 ,พ.ต.ท.นพดล ธรรมเนียม พ.ต.ท.จักริน พิริยะจิตตะ , พ.ต.ท.ธานี จิตรธรรม พร้อมเจ้าหน้าที่ ศปอส.ตร. ได้ร่วมกันจับกุมตัวน.ส.นริศรา หรือ อ้อ สว่างเรือง อายุ 33 ปี ตามหมายจับของศาลจังหวัดสิงห์บุรี ที่ 4 / 2562 ได้ที่ ริมถนน วิไลจิตต์ ตำบลบางพุทรา อำเภอเมืองสิงห์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี จึงได้นำตัวส่งพนักงานสอบสวน สภ.สิงห์บุรี เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
ทาง ศปอส.ตร. ขอประชาสัมพันธ์ ให้พี่น้องประชาชน ที่ตกเป็นเหยื่อวงแชร์ ของผู้ต้องหารายนี้มาแจ้งความเพื่อดำเนินคดีเอาผิดกับ ผู้ต้องหารายนี้ได้ ที่ สภ.เมืองสิงห์บุรี หรือที ศปอส.ตร. ได้