“MONEY CASH BACK ปิดบัญชี ตามล่าม้า คว้าเงินคืน EP.17” ตำรวจไซเบอร์คืนเงินเหยื่อครั้งสูงสุด หลังจับไทยเทาร่วมแอฟริกันตะวันตกลวงข้ามชาติ หลอกบริษัทดังในญี่ปุ่นโอนเข้าไทย อายัดทัน 215 ล้าน นำคืนผู้เสียหาย

วันพุธที่ 9 ก.ค.68 เวลา 11.30 น. ณ บริเวณชั้น 1 บก.สอท.2 (เมืองทองธานี) นำโดย พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผบช.สอท., พล.ต.ต.อรรถสิทธิ์ สุดสงวน รอง ผบช.สอท., พล.ต.ต.วิวัฒน์ คำชำนาญ รอง ผบช.สอท., พล.ต.ต.ทินกร รังมาตย์
รอง ผบช.สอท., พล.ต.ต.ศิริวัฒน์ ดีพอ ผบก.สอท.1, พ.ต.อ.สัมพันธ์ เหลืองสัจจกุล รอง ผบก.สอท.1, พ.ต.อ.รุ่งเลิศ
คันธจันทร์ ผกก.1 บก.สอท.1 พร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมแถลงข่าว “MONEY CASH BACK ปิดบัญชี ตามล่าม้า คว้าเงินคืน EP.17” ตำรวจไซเบอร์คืนเงินเหยื่อครั้งสูงสุด หลังจับไทยเทาร่วมแอฟริกันตะวันตกลวงข้ามชาติ
หลอกบริษัทดังในญี่ปุ่นโอนเข้าไทย อายัดทัน 215 ล้าน นำคืนผู้เสียหาย
สืบเนื่องจาก พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผบช.สอท. ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัดดำเนินการตามโครงการ “MONEY Cash Back ปิดบัญชี ตามล่าม้า คว้าเงินคืน” โดยก่อนหน้านี้ สามารถจับกุมเครือข่ายบัญชีม้าของขบวนการหลอกลวงออนไลน์ และสามารถติดตามนำคืนให้แก่ผู้เสียหายตามขั้นตอนในโครงการ “Money Cash Back” ไปแล้วหลายครั้ง รวมจำนวนเงินกว่า 12.5 ล้านบาท
โดยล่าสุด เมื่อวันศุกร์ที่ 9 พ.ค.68 ที่ผ่านมา พล.ต.อ.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร จตช. ในฐานะ ผอ.ศปอส.ตร. พร้อมด้วย พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผบช.สอท. และเจ้าหน้าที่ตำรวจ บช.สอท. ได้ร่วมแถลงข่าว “ตำรวจไซเบอร์รวบแก๊งไทยเทา ร่วมแอฟริกันตะวันตกลวงข้ามชาติหลอกบริษัทดังในญี่ปุ่นโอนเข้าไทยกว่า 228 ล้าน”
โดยกรณีดังกล่าว สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2568 พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผบช.สอท. ได้รับการประสาน
จากผู้เชี่ยวชาญของธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยแห่งหนึ่ง ว่าได้รับแจ้งจากธนาคารในญี่ปุ่นว่ามีการฉ้อโกงทางการเงิน (Cyber Fraud) โดยบริษัทชื่อดังในญี่ปุ่นถูกหลอกให้โอนเงินมายังธนาคารปลายทางในประเทศไทย จำนวน 228,543,909.28 บาท
โดยมิจฉาชีพได้ดักรับอีเมล์ของบริษัทญี่ปุ่นและบริษัทคู่ค้า พร้อมทั้งสร้างโดเมนอีเมล์ปลอมขึ้นมาให้มีลักษณะคล้ายกับโดเมนของบริษัททั้งสอง มาตั้งแต่ปี 2567 จากนั้นได้แจ้งเจ้าหน้าที่ของบริษัทญี่ปุ่นว่า บริษัทของตนเปลี่ยนบัญชีรับ
โอนเงิน เมื่อเจ้าหน้าที่บริษัทญี่ปุ่นหลงเชื่อ จึงได้โอนเงินให้กว่า 228 ล้านบาท มายังบัญชีบริษัทในไทย ผ่านระบบ
โอนเงินต่างประเทศ (SWIFT)
หลังการโอนเงิน เมื่อเวลา 17.31 น. นายวีรกานต์ ได้ถอนเงินออกจากบัญชี จำนวน 3 ล้านบาท และในเวลา 18.05 น. ได้ถอนเงินเพิ่มอีก จำนวน 10 ล้านบาท ก่อนที่ธนาคารจะอายัดบัญชีดังกล่าว และประสาน บช.สอท. เข้าดำเนินการตรวจสอบ
จากการสืบสวน พบว่าบริษัทคู่ค้าปลอมดังกล่าว ตั้งอยู่ในพื้นที่แขวงคลองสองต้นนุ่น เขตลาดกระบัง กทม. จดทะเบียนนิติบุคคลด้วยทุน 1 ล้านบาท โดยแจ้งว่าประกอบธุรกิจขายส่งยานยนต์เก่า มีกรรมการบริษัท จำนวน 3 ราย ได้แก่
นายวีรกานต์, น.ส.วิลัยพร และนายอนุชา
หลังรวบรวมพยานหลักฐาน เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ขอออกหมายจับกรรมการทั้ง 3 ราย และสามารถจับกุมตัว
นายวีรกานต์ ได้ในช่วงค่ำวันที่ 28 เม.ย.68 และจับกุม น.ส.วิลัยพร กับ นายอนุชา ได้ในช่วงเย็นของวันที่ 29 เม.ย.68
ในพื้นที่ อ.สามพราน จ.นครปฐม
จากการสืบสวนขยายผลเพิ่มเติม พบว่า Mr.Annest Onyebuchi ชาวไนจีเรีย ซึ่งเป็นสามีของ น.ส.พิญญานันท์
เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการก่อเหตุดังกล่าว จนนำไปสู่การจับกุมตัว น.ส.พิญญานันท์ ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการเบิกเงินร่วมกับ นายวีรกานต์ ที่ถูกจับกุมไปก่อนหน้านี้ ซึ่ง น.ส.พิญญานันท์ ให้ข้อมูลว่า Mr.Annest ได้ส่งภาพใบแจ้งหนี้ของบริษัทญี่ปุ่นผ่าน WhatsApp มาให้ และให้เธอเป็นผู้นำส่งต่อให้ นายวีรกานต์ เพื่อใช้ยื่นถอนเงินกับธนาคาร
เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเพิ่มเติมจนพบว่า นายวีรกานต์เตรียมนำเงิน จำนวน 100 ล้านบาท ฝากเข้าบัญชีธนาคาร บริษัท
มิลเลียน มิกซ์ จำกัด ซึ่งมีนายภูริพัฒน์ และนายสุเมศย์ เป็นกรรมการ จึงออกหมายจับเพิ่มอีก 3 ราย ได้แก่ Mr.Annest Onyebuchi, นายภูริพัฒน์ และนายสุเมศย์ และได้เข้าตรวจค้นบริษัทดังกล่าว (ปัจจุบันติดป้ายชื่อใหม่เป็น
“ฟู้ดไซเบอร์ จำกัด”) ซึ่งตั้งอยู่ชั้น 13 ของอาคารแห่งหนึ่ง ถนนพระราม 4 แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตสาทร กทม. โดยสามารถตรวจยึดหลักฐานสำคัญได้หลายรายการ
ล่าสุด เมื่อช่วงเช้าวันที่ 8 พ.ค.68 เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุม Mr.Ibrahim อายุ 51 ปี สัญชาติกาน่า ได้ ณ ที่ทำการตรวจคนเข้าเมือง จ.นนทบุรี โดย Mr.Ibrahim เป็นผู้แชทหา นายภูริพัฒน์ หนึ่งในกรรมการบริษัท ว่าให้ช่วยรับเงิน
ที่โอนตรงจากบริษัทชื่อดังแห่งหนึ่งของประเทศญี่ปุ่น เมื่อรับโอนเงินเรียบร้อยแล้ว Mr.Ibrahim จะจ่ายเงินให้ตนเองเป็นส่วนแบ่งจำนวน 5 เปอร์เซ็นต์จากยอดเงินที่รับโอน ก่อนที่ภายหลัง จะสั่งให้ลบแชทและสั่งให้ปิดปาก เนื่องจากผู้ต้องหาชุดแรกโดนจับกุม
จากกรณีดังกล่าว สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีการประสานงาน FBI ให้ช่วยตรวจสอบการปลอมอีเมลในเชิงลึก นอกจากนี้ พล.ต.อ.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร จตช. ในฐานะ ผอ.ศปอส.ตร. รวมทั้ง พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผบช.สอท.
ยังได้นำคณะเดินทางไปต่างประเทศ เพื่อสืบสวนหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับระบบและมาตรการรักษาความปลอดภัย
ทางไซเบอร์ของบริษัทญี่ปุ่น และบริษัทคู่ค้าอีกประเทศ เพื่อหารายละเอียดผู้กระทำความผิดทางอีเมลด้วยตนเอง
เบื้องต้น เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมผู้ต้องหาได้แล้ว จำนวน 6 ราย โดยดำเนินคดีในข้อหา “ร่วมกันฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่น, โดยทุจริตหรือโดยหลอกลวงร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายและได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้สมคบกัน และร่วมกันฟอกเงิน, ร่วมกันเปิด หรือยินยอมให้บุคคลอื่น ใช้บัญชีเงินฝากบัตรอิเล็กทรอนิกส์หรือบัญชีอิเล็กทรอนิกส์ของตนโดยมิได้มีเจตนาใช้เพื่อตนหรือเพื่อกิจการที่ตนเกี่ยวข้อง หรือยินยอมให้บุคคลอื่นใช้ หรือยืมใช้เลขหมายโทรศัพท์สำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของตน โดยประการที่รู้หรือควรรู้ว่าจะนำไปใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหรือความผิดอาญาอื่นใด, ร่วมกันมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติและได้ลงมือกระทำความผิดร้ายแรงตามวัตถุประสงค์ขององค์กรอาชญากรรมนั้น ร่วมกันเป็นอั้งยี่ และซ่องโจร และได้กระทำความผิดตามความมุ่งหมายของอั้งยี่หรือซ่องโจร” นำตัวส่งดำเนินคดีตามกฎหมาย
จากปฏิบัติการดังกล่าว เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถติดตามอายัดเงินได้ทั้งสิ้น จำนวน 215 ล้านบาท โดยวันนี้
พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผบช.สอท. พร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดติดตามคดี จึงได้ร่วมกันนำเงินจำนวนดังกล่าว มอบคืนให้แก่ผู้เสียหาย ตามโครงการ “MONEY Cash Back ปิดบัญชี ตามล่าม้าคว้าเงินคืน”