รวบแก๊งหลอกขาย “LABUBU TIP” ตุ๋นเหยื่อหลักร้อยราย

ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดย กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก., พล.ต.ต.วิวัฒน์ ชัยสังฆะ, พล.ต.ต.ไพบูลย์ น้อยหุ่น รอง ผบช.ก., พล.ต.ต.อธิป พงษ์ศิวาภัย ผบก.ปอท., พ.ต.อ.ประดิษฐ์ เปการี รอง ผบก.ปอท., พ.ต.อ.พรศักดิ์ เลารุจิราลัย รอง ผบก.ฯ ปรก.บก.ปอท., พ.ต.อ.วัชรพันธ์ ศิริพากย์, พ.ต.อ.เนติ วงษ์กุหลาบ รอง ผบก.ปอท. และ พ.ต.อ.สุพจน์ พุ่มแหยม ผกก.2 บก.ปอท.

เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุม นำโดย พ.ต.ท.นิธิ ตรีสุวรรณ รอง ผกก.2 บก.ปอท., พ.ต.ท.ณัฐวุฒิ มงคลการ, พ.ต.ต.วชิรเชษฐ์ อัครธีระพงศ์, พ.ต.ต.ศุภเดช ธนชัยศิริ สว.(สอบสวน) กก.2 บก.ปอท., ร.ต.อ.ลัทธพล อัครปัญญา, ร.ต.อ.จิรายุ วงศ์วิวัฒน์ รอง สว.กก.2 บก.ปอท.ฯ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.2 บก.ปอท.

ร่วมกันจับกุมตัวผู้ต้องหา ดังนี้  

1. น.ส.นัยนาฯ อายุ 66 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาที่ 4976/2567 ลง 11 ต.ค.2567

2. น.ส.สุนทรีฯ อายุ 21 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาที่ 4977/2567 ลง 11 ต.ค.2567

3. นายวีรวัฒน์ฯ อายุ 24 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาที่ 4979/2567 ลง 11 ต.ค.2567

4. นายสุริยะฯ อายุ 21 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาที่ 4980/2567 ลง 11 ต.ค.2567

ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน “ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน, ร่วมกันโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน, สมคบโดยตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงินและได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน และร่วมกันฟอกเงิน”

พฤติการณ์ สืบเนื่องจากประมาณต้นปี 2567 ได้มีกลุ่มมิจฉาชีพฉวยโอกาสนำกระแสโซเชียลมาเป็นเครื่องมือในการหลอกลวงประชาชน โดยกลุ่มคนร้ายจะไปกว้านซื้อบัญชีโซเชียลมีเดียที่มีผู้ติดตามจำนวนมาก มาสวมบัญชีสร้างร้านค้าขายสินค้าต่างประเทศ และบัตรคอนเสิร์ต จากนั้นคนร้ายจะไปนำภาพผลิตภัณฑ์ LABUBU ที่ได้รับความนิยมและหายากตามโซเชียลมีเดียต่างๆ นำมาโพสต์เพื่อหลอกขายให้กับประชาชนทั่วไป โดยเมื่อผู้เสียหายหลงเชื่อได้เข้าไปสั่งซื้อสินค้า คนร้ายจะมีการถ่ายภาพยืนยันกับกล่องพัสดุเปล่า พร้อมเขียนข้อความส่งให้กับลูกค้า

เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ โดยหลังจากที่โอนเงินให้คนร้ายแล้ว ก็ไม่มีการส่งสินค้าตามที่ตกลงกันไว้ ผู้เสียหายจึงได้แจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวน กก.2 บก.ปอท. โดยพนักงานสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานนำไปสู่การออกหมายจับผู้ต้องหา จำนวน 2 กลุ่ม รวม 4 ราย

ผู้ต้องหากลุ่มที่ 1 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำหมายค้นของศาลจังหวัดพล เข้าทำการตรวจค้นที่บ้าน 2 ชั้น แห่งหนึ่ง ต.ในเมือง อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ได้จับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับเป็นหญิงไทย จำนวน 2 ราย พร้อมตรวจยึดโทรศัพท์มือถือ จำนวน 2 เครื่อง เมื่อตรวจสอบโทรศัพท์พบว่า น.ส.สุนทรีฯ มีการหลอกลวงผู้เสียหายจำนวนเกือบร้อยราย อีกทั้งมีการแชทด่าว่าซ้ำเติมผู้เสียหายหลายราย จากการตรวจสอบข้อมูลผ่านระบบรับแจ้งความออนไลน์ พบมีการแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ต้องหาหลายราย นอกจากนี้พบว่า น.ส.สุนทรีฯ ยังหลอกลวงขายป้ายไฟ แท่งไฟงานคอนเสิร์ตและหลอกขายเสื้อผ้าออนไลน์อีกด้วย

ผู้ต้องหากลุ่มที่ 2 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำหมายค้นของศาลจังหวัดเชียงใหม่ เข้าทำการตรวจค้นในพื้นที่เชียงใหม่ ซึ่งเป็นห้องเช่าและบ้านเช่า รวม 2 จุด ได้จับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับเป็นชายไทยจำนวน 2 ราย ตรวจยึดโทรศัพท์ จำนวน 2 เครื่อง คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลและเครื่องแต่งกายที่ใช้สวมใส่ไปในการกดเงิน จากการตรวจสอบข้อมูลผ่านระบบรับแจ้งความออนไลน์ พบมีการแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ต้องหาอีกหลายคดี

โดยจากการสืบสวนขยายผลพบว่า นอกเหนือจากการหลอกขายสินค้าออนไลน์แล้ว คนร้ายกลุ่มนี้ยังได้มีการหลอกลวงในลักษณะหลอกลวงรับแลกเงินต่างประเทศและหลอกซื้อบัตรเติมเกมส์ จากการตรวจสอบบัญชีธนาคารของนายวีรวัฒน์ฯ ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงกรกฎาคม 2567 พบว่ามีเงินซึ่งน่าเชื่อว่าได้มาจากการหลอกลวงกว่า 3,300,000 บาท โดยนายวีรวัฒน์ฯ รับว่าได้นำเงินที่ได้จากการหลอกลวงไปเล่นการพนันออนไลน์จนหมด ภายหลังการจับกุมเจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำตัวผู้ต้องหาทั้งหมดส่งพนักงานสอบสวน กก.2 บก.ปอท. เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

สอบถามคำให้การผู้ต้องหาเบื้องต้น น.ส.นัยนาฯ ให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา โดยรับว่าได้กระทำความผิดในคดีนี้จริง เริ่มหลอกลวงผู้เสียหายมาตั้งแต่ประมาณเดือน พ.ค.2567 และใช้บัญชีของญาติตนเองในการรับโอนเงินจากเหยื่อ

ส่วนผู้ต้องหากลุ่มที่ 2 ให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา โดยรับว่า ได้ร่วมปลอมบัญชีโซเชียลมีเดียขึ้นและโพสต์ขายผลิตภัณฑ์ LABUBU เพื่อหลอกลวงเหยื่อและใช้บัญชีของบุคคลอื่นมารับโอนเงิน ก่อนที่จะไปกดเงินสดนำมาแบ่งกัน โดยได้เริ่มหลอกลวงลักษณะดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2565