สืบนครบาล จับกุม “สองสาวแสบ”นำทองปลอมตระเวนจำนำร้านทอง ใช้ ’ข้อต่อทองแท้’ มาใส่ไว้เพื่อให้ร้านตรวจจนเชื่อว่าเป็นทองแท้

ด้วยชุดลาดตระเวนออนไลน์  บก.สส.บช.น. ได้รับทราบถึงการกระทำผิดว่า มีกลุ่มมิจฉาชีพออกตระเวนนำทองปลอมตระเวนจำนำร้านทอง ทั่วกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ซึ่งเป็นภัยต่อสังคม มีผู้เดือดร้อนเป็นจำนวนมาก  ตามนโยบายของ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. ,พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รอง ผบ.ตร. ,พล.ต.ท.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วย ผบ.ตร. จึงได้รายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ จากนั้น ผู้การจ๋อ พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ได้สั่งการให้รีบจับกุมผู้ต้องหาในขบวนการดังกล่าวให้ได้เร็ว ป้องกันไม่ให้ไปก่อเหตุกับผู้อื่นอีก

ต่อมาเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2567  พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผบช.น. , พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รอง ผบช.น. , พล.ต.ต.วสันต์ เตชะอัครเกษม รอง ผบช.น.  พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผบก.สส.บช.น. ,พ.ต.อ.เกียรติศักดิ์ สระทองออย รอง ผบก สส.ฯ , พ.ต.อ.วิชิต  ถิรขจรวงศ์ ผกก.สส.1ฯ,พ.ต.ท.พีรบูรณ์ แก้วดู รอง ผกก.สส.1ฯ ,พ.ต.ท.เอกศิษฐ์ วรกิตติ์ฐากรณ์  รอง ผกก.สส.1ฯ ได้สั่งการให้ พ.ต.ท.พัฒน์พงษ์ กื้อมะโน สว.กก.สส.1ฯ พร้อมชุดปฎิบัติการที่ 2 ดำเนินการ เจ้าหน้าที่ กก.สส.1 บก.สส.บช.น. ได้จับกุมตัว 1. น.ส.ชนิดตา อายุ 39 ปี   ภูมิลำเนา แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ผู้ต้องหาตามหมายจับ 6 หมายจับ

(1.)หมายจับศาลจังหวัดสมุทรสาคร ที่ จ.190/2567 ลงวันที่ 28 มิถุนายน 2567

ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน “ ฉ้อโกงทรัพย์ ”

(2.)หมายจับศาลแขวงชลบุรี ที่ 6/2567 ลงวันที่ 19 มกราคม 2567

ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน “ ฉ้อโกงทรัพย์ ”

(3.)หมายจับศาลอาญามีนบุรี ที่ จ.978/2567 ลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2567

ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน “ ฉ้อโกงทรัพย์ ”

(4.)หมายจับศาลจังหวัดกาญจนบุรี ที่ จ.762/2566 ลงวันที่ 27 ธันวาคม 2566

ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน “ ร่วมกันฉ้อโกง ”

(5.)หมายจับศาลอาญามีนบุรี ที่ จ.981/2567 ลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2567

ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน “ ฉ้อโกงทรัพย์ ”

(6.)หมายจับศาลแขวงราชบุรี ที่ 71/2567 ลงวันที่ 17 มิถุนายน 2567

ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน “ ฉ้อโกง ”

จับกุมคอนโด ถ.ลาดพร้าว 101 แขวงคลองเจ้าคุณสิงห์ เขตวังทองหลาง กรุงเทพมหานคร

.

  2. นางสุกัญญา อายุ 39 ปี   ภูมิลำเนา ตำบลราชาเทวะ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ นางสุกัญญา อายุ 39 ปี ตามหมายจับศาลแขวงนนทบุรี ที่ 148/2567 ลงวันที่ 7 พฤษภาคม 2567 ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน “ ร่วมกันฉ้อโกงทรัพย์ ”

จับกุมหน้าโรงงานน้ำแข็ง แขวงนวมินทร์ เขตบึงกุ่ม กรุงเทพมหานคร

พฤติการณ์ กล่าวคือ เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2566 มีนางสุกัญญา ผู้ต้องหาในคดีนี้ กับพวก นำสร้อยคอทองคำ ลายสี่เสา น้ำหนัก 45.75 กรัม (หรือ 3 บาท) มาจำนำที่ร้านทองชื่อดัง สาขาเซ็ลทรัลแจ้งวัฒนะ ผู้กล่าวหาเป็นคนรับจำนำทองดังกล่าว ได้ทำการตรวจสอบทองดังกล่าวแล้ว โดยวิธีการชั่งน้ำหนัก และสองดูเปอร์เซ็นต์ทองได้ความบริสุทธิ์ของทอง 96.5 เปอร์เซ็นต์ และได้ตรวจสอบตราส่งของร้านทองยี่ห้อหนึ่ง จากนั้นผู้กล่าวหาได้นำหัวจรวดและตะขอไปฝนที่หินเพื่อตรวจสอบเปอร์เซ็นทอง และเช็คการเคลือบทอง และหยดน้ำกรด น้ำเกลือ เพื่อตรวจสอบเปอร์เซ็นทอง ก็เป็นปกติไม่ลอก ไม่เกิดปฏิกิรยาใดๆ ส่วนตัวสร้อยคอ ผู้กล่าวหาได้นำไปตะไบ และหยดด้วยน้ำกรดน้ำเกลือก็ไม่มีปฏิกิริยาเกิดขึ้น เชื่อได้ว่าเป็นทองแท้ ผู้กล่าวหาจึงได้ทำการรับจำนำไว้ในราคา 90,827 บาท ผู้กล่าวหาจึงได้ให้ผู้ต้องหาเซ็นเอกสาร ลงลายมือชื่อในตั๋วจำนำ และรับรองสำเนาบัตรประชาชนของผู้ต้องหา จากนั้นผู้กล่าวหา จึงได้ทำการโอนเงินผ่านแอปพลิเคชั่น ชื่อบัญชี บริษัทผู้เสียหายในคดีนี้ ไปยังบัญชีธนาคาร ชื่อบัญชี นางสาวสุกัญญา เป็นเป็นเงินจำนวน 90,827 ให้ผู้ต้องหาในคดีนี้ หลังจากนั้นเมื่อผู้ต้องหาได้รับเงินแล้วได้เดินออกจากร้านไป

ต่อมาผู้กล่าวหาได้รับแจ้งจากสำนักงานใหญ่ว่า กลุ่มผู้ต้องหาดังกล่าวเป็นกลุ่มมิจฉาชีพนำทองคำปลอมมาจำนำ ผู้กล่าวหาจึงได้ใช้ไฟเป่าทองที่รับจำนำดู ปรากฏว่า เมื่อใช้ไฟเป่าหัวจรวดหลุดออกจากตัวเส้นทอง เนื่องจากเป็นทองปลอม ใช้กาวเชื่อมติดไว้ หากเป็นทองจริงจะไม่หลุดออก เว้นแต่จะโดนความร้อนจนหลอมละลาย เมื่อทราบจึงได้รายงานหัวหน้า และรวบรวมพยานหลักฐาน มาพบพนักงานสอบสวนเพื่อร้องทุกข์ดำเนินคดีกับผู้ต้องทากับพวก จนคดีจะถึงที่สุด

ในชั้นจับกุมผู้ต้องหาทั้ง 2 คนรับสารภาพว่าได้นำทองปลอม (ตะขอทองแท้)​มาตระเวนขายตามร้านทองทั่วกรุงเทพและพื้นที่ต่างจังหวัดจริง  โดยรับมาจากนายเบิร์ดไม่ทราบชื่อสกุลจริง ให้ช่วยนำทองหนัก 2 บาท 3 บาท ไปขาย ไปจำนำให้ ให้ค่าจ้างจากน้ำหนักทองบาทละ 5,000 บาท ซึ่งทางตำรวจยังไม่ปักใจเชื่อ อยู่ระหว่างขยายผลหาผู้บงการต่อไป จากนั้นนำตัวผู้ต้องหาที่1 นำส่งไปยัง สภ.เมืองสมุทรสาคร เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย

   ผู้ต้องหาที่ 2 ส่งพนักงานสอบสวน​ สภ.ปากเกร็ด ดำเนินคดีตามกฎหมาย​

    ด้าน พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ขอเตือนภัยผู้ประกอบการร้านค้าและประชาชน หลังจากพบการปลอมแปลงโลหะทองคำรูปแบบใหม่ และใช้วิธีนำข้อต่อทองแท้มาใส่ไว้ เพราะร้านทองจะตรวจสอบเบื้องต้นที่ตะขอเพียงอย่างเดียว จึงทำให้หลงเชื่อว่าเป็นทองแท้ สำนักงานพิสูจน์หลักฐานสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะสามารถตรวจสอบทองคำของเอกชนได้ ต่อเมื่อวัตถุพยานชิ้นนั้นเป็นคดีความทางอาญาหรือเป็นคดีทางแพ่งที่ศาลสั่งให้มีการตรวจสอบแล้วเท่านั้น ทั้งนี้ขอเตือนภัยไปยังพี่น้องประชาชนว่าขณะนี้มูลค่าทองคำบาทละกว่า 40,000 บาท การที่พี่น้องประชาชนจะไปซื้อทองคำและร้านทองที่รับซื้อทองโรงรับจำนำขอให้ไปซื้อที่ร้านที่มีชื่อเชื่อถือได้ และมีตราสมาคมผู้ค้าทองคำ