ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ช่วยเหลือครอบครัวชาวจีน เหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ลูกสาวถูกหลอกสูญเงินไป 8 ล้านบาท ส่วนพ่อแม่ถูกข่มขู่เรียกค่าไถ่ลูกสาว
กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดย กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. ได้สั่งการให้ พล.ต.ต.มนตรี เทศขัน ผบก.ป., พ.ต.อ.มนูญ แก้วก่ำ ผกก.1 บก.ป., พ.ต.ท.อัครพล มณีวรรณ, พ.ต.ท.ธนศักดิ์ สว่างศรี, พ.ต.ท.สมเดช สาระบรรณ์, พ.ต.ท.อภิชน ขันกา, พ.ต.ท.พชรเดช บุญฤทธิ์ รอง ผกก.1 บก.ป. เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดช่วยเหลือ นำโดย ว่าที่ พ.ต.ต.ธนบดี ดวงจิตต์ สว.กก.1 บก.ป. พร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.1 บก.ป.
ร่วมกันติดตามตัวเพื่อช่วยเหลือ นางสาวซอง อายุ 42 ปี สัญชาติจีน สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2567 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.1 บก.ป. ได้รับการประสานมาจากทางสถานทูตจีนว่าได้มี MS.JIANSHE หญิงสาวชาวจีนซึ่งเป็นมารดาของนางสาวซอง ติดต่อมาขอความช่วยเหลือกับทางสถานทูตจีน ให้ช่วยติดตามตัว นางสาวซอง เนื่องจาก MS.JIANSHE (มารดา) ได้รับข้อความผ่านทางโทรศัพท์เเจ้งว่า นางสาวซอง ถูกกักขังอยู่ที่ประเทศไทย โดยคนร้ายมีการข่มขู่เรียกค่าไถ่ ทางสถานทูตจีนจึงได้ประสานมาที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.1 บก.ป. ให้ช่วยดำเนินการติดตามหาตัวนางสาวซอง ซีฮัว
จากการสืบสวนทราบว่าเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2567 ขณะที่ MS.LI JIANSHE (มารดา) อาศัยอยู่ที่ประเทศจีน MS.LI JIANSHE (มารดา) ได้รับข้อความผ่านแอปพลิเคชัน We Chat ซึ่งเป็นชื่อบัญชีของนางสาวซอง (ลูกสาว) แจ้งว่านางสาวซอง ซึ่งพักอาศัยอยู่ที่ประเทศเยอรมันมานานกว่า 17 ปี ได้ถูกนำตัวมากักขังทำงานอยู่ที่ประเทศไทย หากต้องการจะช่วยเหลือนางสาวซอง ให้ MS.JIANSHE (มารดา) เตรียมเงินค่าไถ่ตัวไว้เป็นจำนวน 2.5 ล้านหยวน (คิดเป็นเงินไทยประมาณ 12.5 ล้านบาท) พร้อมกันนี้ยังได้มีการส่งคลิปวิดีโอของนางสาวซอง ซึ่งกำลังถือหนังสือเดินทางพูดภาษาจีนแปลความหมายได้ว่า “ข้าพเจ้ามาทำงานอยู่ที่ประเทศไทย คลิปวิดีโอนี้ข้าพเจ้าไม่ได้ถูกบังคับให้ถ่ายแต่อย่างใด” มาให้ MS.JIANSHE (มารดา) ดูอีกด้วย
เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้สืบสวนเพิ่มเติม โดยพบข้อมูลว่านางสาวซอง เดินทางออกจากประเทศเยอรมันนีตั้งเเต่วันที่ 15 สิงหาคม 2567 โดยมีปลายทางมาที่สนามบินสุวรรณภูมิ ประเทศไทย และจากการตรวจสอบภาพจากกล้องวงจรปิดที่สนามบินสุวรรณภูมิ ปรากฏภาพของนางสาวซอง เดินทางมาที่ สนามบินสุวรรณภูมิเพียงลำพัง โดยเมื่อมาถึงสนามบินสุวรรณภูมิเเล้ว นางสาวซอง ได้เรียกรถแท๊กซี่โดยสารออกจากสนามบินทันที
จากนั้นเจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนจึงได้จัดชุดออกสืบสวนสวนติดตามตัวนางสาวซอง จนกระทั่งพบว่า นางสาวซอง ได้มาเช่าห้องพักอาศัยอยู่ที่หอพักแห่งหนึ่งในซอยกิ่งแก้ว 40/1 ตำบลราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ซึ่งจากการสอบถามเจ้าของหอพักทราบว่า นางสาวซอง มาพักอาศัยเพียงลำพัง ไม่มีมี ผู้ใดมาอาศัยอยู่ด้วย โดยส่วนมากนางสาวซอง จะไม่ออกมาจากห้องพัก และมักจะเก็บตัวอยู่ภายในห้องพัก เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้นำกำลังเข้าตรวจสอบห้องพักดังกล่าว โดยพบ นางสาวซอง อยู่ภายในห้องพัก โดยในช่วงเเรก นางสาวซอง แสดงท่าทีมีพิรุธ แจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบว่าตนเองเดินทางเข้ามาที่ประเทศไทยเพื่อมารอทำงาน โดยเป็นงานเกี่ยวกับการสำรวจกล้องวงจรปิด โดยตนเองปลอดภัยดี และไม่ทราบเรื่องการเรียกค่าไถ่แต่อย่างใด
ต่อมาเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจแสดงหลักฐานที่มีการส่งข้อความไปยังพ่อแม่เพื่อเรียกเงินจำนวน 2.5 ล้านหยวนแลกกับการปล่อยตัวนางสาวซอง ให้นางสาว ซอง ซีฮัว ดู ในช่วงเเรกนางสาวซอง ยังมีท่าทีไม่เชื่อ จนภายหลังทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้มีการเชิญ MS.JIANSHE (มารดา) และบิดา ให้มาพบและพูดคุย นางสาวซอง จึงเชื่อว่าเรื่องที่เจ้าหน้าที่ตำรวจพูดเป็นเรื่องจริง
จากการสอบถามปากคำ นางสาวซอง ซีฮัว ให้การว่า เมื่อวันที่ 11 เม.ย.67 ขณะที่นางสาวซอง ทำงานอยู่ในประเทศเยอรมันนี ได้มีแก๊งคอลเซ็นเตอร์ชาวจีนโทรศัพท์มาหา โดยอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจจีน เเจ้งให้นางสาวซอง ทราบว่า นางสาวซอง มีการเปิดหมายเลขโทรศัพท์ที่ประเทศจีนซึ่งเป็นหมายเลขที่ใช้ในการหลอกลวงคนอื่นในลักษณะหลอกให้ทำงานพิเศษ เข้าข่ายความผิดฐานค้ามนุษย์ โดยมีการแจ้งความไว้และจะต้องถูกดำเนินคดี จากนั้นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ได้พูดจาหว่านล้อม ให้นางสาวซอง โอนเงินเข้ามายังบัญชีของแก๊งคอลเซ็นเตอร์เพื่อทำการตรวจสอบ โดยแก๊งคอลเซ็นเตอร์ได้อ้างว่าหากทำการตรวจสอบ เรียบร้อยเเล้วจะโอนเงินคืนให้ แต่ภายหลังเมื่อนางสาวซอง โอนเงินไปแล้ว แก๊งคอลเซ็นเตอร์ดังกล่าวได้แจ้งว่านางสาวซอง โอนเงินไปผิดบัญชี ให้โอนเงินมาใหม่ หากไม่โอนจะไม่ได้รับเงินก้อนเดิมคืน นางสาวซอง จึงโอนเงินเพิ่มไปอีก ซึ่งยอดเงินที่นางสาวซอง โอนไปทั้งหมดตั้งเเต่ช่วงเดือน เม.ย. – ก.ค.67 เป็นเงินสกุลยูโร จำนวน 207,000 ยูโร คิดเป็นเงินไทยประมาณ 8 ล้านบาท โดยเป็นการโอนไปบัญชีธนาคารปลายทางในประเทศจีนและบัญชีธนาคารประเทศอื่นๆ ในทวีปยุโรป
จากนั้นในช่วงวันที่ 15 ส.ค.67 แก๊งคอลเซ็นเตอร์ได้ออกอุบายหลอกลวงนางสาวซอง อีกครั้ง โดยให้นางสาวซอง เดินทางจากประเทศเยอรมันนีมายังประเทศไทย โดยอ้างว่าจะมีบุคคลที่สามารถช่วยเหลือทางคดีได้ ซึ่งเมื่อนางสาวซอง ซีฮัว เดินทางมาที่ประเทศไทย แก๊งคอลเซ็นเตอร์ได้ให้นางสาวซอง ติดตั้งแอปพลิเคชัน Skyp และเปิดวิดีโอคอลไว้ให้เห็นตลอดเวลา นอกจากนี้ยังได้ออกอุบายให้นางสาวซอง เข้าพักอาศัยอยู่ในที่พักที่ยอมให้เข้าพักโดยไม่ต้องแสดงหนังสือเดินทางและให้อยู่แต่ในห้องรอการติดต่อกลับเท่านั้น และห้ามติดต่อผู้ใด จากนั้นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ได้สั่งให้ นางสาวซอง ถ่ายคลิปวิดีโอตนเอง พูดว่า มาทำงานอยู่ที่ประเทศไทย และไม่ได้ถูกบังคับให้ถ่ายแต่อย่างใด (ซึ่งคลิปดังกล่าวถูกส่งไปหลอกลวงพ่อแม่ของนางสาวซอง) นอกจากนี้ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ยังได้ขอ Username และ Password แอปพลิเคชัน We Chat ของนางสาวซอง ไปอีกด้วย โดยในระหว่างที่นางสาวซอง อยู่ที่ประเทศไทย แก๊งคอลเซ็นเตอร์ได้ให้ นางสาวซอง รายงานตัวยืนยันที่พักของตนเองทุกๆ วัน และจะมีการโทรตาม หากนางสาวซอง หายไปจากแอปฯ Skype โดย นางสาวซอง ถูกหลอกลวงให้เดินทางเข้ามาพักอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 15 ส.ค.67 – 24 ก.ย.67 รวมเป็นเวลากว่า 40 วัน เปลี่ยนที่พักรวม 8 แห่ง จนกระทั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจมาพบดังกล่าว
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้สอบถามถึงสาเหตุที่นางสาวซอง ไม่ยอมพูดความจริงในช่วงเเรก โดย นางสาวซอง ได้ให้เหตุผลว่า เมื่อประมาณเดือนเมษายน 2567 แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ได้หลอกนางสาวซอง ซีฮัว ว่าหากบอกเรื่องดังกล่าวกับบุคคลอื่นหรือไม่ทำตามที่สั่ง จะไม่ได้รับเงินคืนและจะถูกดำเนินคดีในส่วนของ MS.JIANSHE (มารดา) ที่ถูกข่มขู่เรียกค่าไถ่ลูกสาวนั้น MS.JIANSHE (มารดา) ยังไม่ได้มีการโอนเงินไปให้กับแก๊งมิจฉาชีพแต่อย่างใด
ตำรวจสอบสวนกลาง เตือนภัย!! ขอฝากประชาสัมพันธ์พี่น้องประชาชนเกี่ยวกับอาชญากรรมประเภท แก๊งคอลเซ็นเตอร์ซึ่งใช้อุบายหลอกลวงว่าท่านได้ไปเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดแล้วให้โอนเงินมาเพื่อทำการตรวจสอบ โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐหน่วยงานอื่นๆ จะไม่ใช้วิธีให้ประชาชนโอนเงินมาเพื่อทำการตรวจสอบก่อนดำเนินคดีอย่างเด็ดขาด ทั้งนี้ พบว่าอาชญากรรมรูปแบบดังกล่าวมีการพัฒนาอยู่ตลอดและระบาดไปทั่วโลก จึงขอให้ช่วยกันประชาสัมพันธ์ประชาชนโดยเน้นกลุ่มเด็กและผู้สูงอายุซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของอาชญากร และประชาสัมพันธ์ผู้ประกอบการที่พักหรือโรงแรมให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติต้องแสดงหนังสือเดินทางก่อนเข้าพักทุกครั้ง และแจ้งการเข้าพักของบุคคลต่างด้าวตามกฎหมายให้ถูกต้อง หากไม่ดำเนินการอาจถูกดำเนินคดีอาญาตามกฎหมาย