“พล.ต.ท.ประจวบ ฯ” ชื่นชมตำรวจ ภ.4 ที่สามารถจับกุมแก๊งตบทรัพย์ได้อย่างรวดเร็ว และชมเชยตำรวจทางหลวงที่เตือนประชาชนระวังแก๊งตบทรัพย์ พร้อมแนะ 5 วิธีป้องกันตนเอง
วันนี้ (22 กรกฎาคม 2567) พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รักษาราชการแทนรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผู้ช่วย ผบ.ตร.รรท.รอง ผบ.ตร.) ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานขับเคลื่อนงานจราจร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (คจร.ตร.) กล่าวว่า ปัจจุบันพบพฤติการณ์คนร้ายที่ขับรถเบียด จงใจให้รถถูกชนแล้วลงมากรรโชกขอเงิน ทุบกระจก ขู่ยิง เรียกเงิน โดยก่อเหตุมาแล้วหลายครั้งในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี ซึ่งกรณีดังกล่าวสร้างความเดือดร้อนและหวาดกลัวให้กับพี่น้องประชาชน จึงได้กำชับให้ตำรวจจราจร ตำรวจทางหลวง และสายตรวจทุกพื้นที่ดูแลป้องกันเหตุ หากมีเหตุเกิดขึ้นให้รีบติดตามจับกุมคนร้ายมาดำเนินคดีโดยเร็ว
ล่าสุดเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ชุดสืบสวน สภ.ศรีธาตุ , กก.สส.1 บก.สส.ภ.4 และ กก.สส.ภ.จว.อุดรธานี ได้ร่วมกันจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับศาลจังหวัดอุดรธานี ในข้อหา “กรรโชกทรัพย์และทำให้เสียทรัพย์” ซึ่งเป็นหนึ่งในแก๊งตบทรัพย์ที่ก่อเหตุในพื้นที่จังหวัดอุดรธานีตั้งแต่วันที่ 6 กรกฎาคม 2567 จากการสืบสวนพบว่าคนร้ายมักเลือกเหยื่อเป็นผู้สูงอายุ หรือผู้หญิงที่ขับรถตามลำพัง มักใช้ถนนสายรองที่มีการสัญจรน้อยหรือลักษณะเปลี่ยว โดยจะใช้รถ 2 คันในการก่อเหตุ ให้คันหน้าใช้ความเร็วต่ำ เมื่อเหยื่อพยายามแซง จะเร่งเครื่องจนเกิดการเฉี่ยวชน จากนั้นจะเรียกค่าเสียหาย หากเหยื่อไม่ให้จะทำลายทรัพย์สิน ข่มขู่ เพื่อให้เหยื่อเกิดความกลัว นอกจากผู้ต้องหาที่จับกุมแล้ว ยังมีการออกหมายจับอีก 2 ราย และอยู่ระหว่างสืบสวนเพิ่มเติมอีก 1 ราย ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวนับแต่เกิดเหตุใช้เวลาเพียง 14 วัน นับว่ารวดเร็ว สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน เป็นที่น่าชื่นชม
พร้อมกันนี้ พล.ต.ท.ประจวบ ฯ ชมเชยกองบังคับการตำรวจทางหลวงที่ออกมาแจ้งเตือนประชาชน ในการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้กรณีดังกล่าวผ่านเพจตำรวจทางหลวง โดยแนะนำประชาชนที่ต้องพบเจอกับเหตุกรรโชกทรัพย์จากแก๊งตบทรัพย์ ดังนี้
- ตั้งสติและไม่ควรตอบโต้ทันที : เมื่อเกิดอุบัติเหตุ ควรรักษาความสงบ ไม่ควรตอบโต้หรือเถียงกับผู้ที่อ้างว่าต้องการค่าเสียหายทันที
- แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจทางหลวง : หากผู้เสียหายรู้สึกว่ามีสิ่งผิดปกติ หรือถูกบีบคั้นให้จ่ายเงิน ควรโทรแจ้งตำรวจเพื่อให้เข้ามาตรวจสอบสถานการณ์
- ถ่ายรูปและบันทึกเหตุการณ์ : ใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายรูปและวิดีโอเหตุการณ์ รวมถึงการสนทนากับคู่กรณี เพื่อเก็บเป็นหลักฐานในการดำเนินคดีในภายหลัง
- ตรวจสอบประกันภัย : หากมีประกันภัยรถยนต์ ควรติดต่อบริษัทประกันภัยเพื่อให้เข้ามาดำเนินการและจัดการกับค่าเสียหายตามขั้นตอนที่ถูกต้อง
- ไม่ควรจ่ายเงินสดทันที : ควรปฏิเสธการจ่ายเงินสดทันที และควรใช้การโอนเพื่อทราบหมายเลขบัญชีของกลุ่มแก๊งดังกล่าว แต่ยังไม่โอนทุกกรณีจนกว่าจะมีเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบว่าไม่ใช่มิจฉาชีพ
ทั้งนี้ หากประชาชนได้รับความเสียหายหรือตกเป็นเหยื่อแก๊งมิจฉาชีพลักษณะดังกล่าว สามารถแจ้งขอความช่วยเหลือได้ที่สายด่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 191 และ 1599 หรือสายด่วนตำรวจทางหลวง 1193 สำหรับในกรุงเทพมหานคร แจ้งได้ที่สายด่วนกองบังคับการตำรวจจราจร 1197 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง