ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) เปิดปฏิบัติการค้นทั่วกรุงฯ ทลายแก๊งเงินกู้โหด ข่มขู่ – รุมทำร้าย เร่งให้ใช้หนี้ รวมจับกุมผู้ต้องหาได้ 5 ราย
ตามนโยบายของรัฐบาลการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบถือเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งนายกรัฐมนตรี ได้มีการแถลงนโยบาย และมอบนโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.66 ที่ผ่านมานั้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มีข้อสั่งการให้ทุกหน่วยดำเนินการป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีประสิทธิภาพ บรรลุผลตามนโยบายของรัฐบาล โดยให้มีการระดมกวาดล้างจับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา, กลุ่มเจ้าหนี้ที่มีพฤติการณ์ใช้ความรุนแรงในการทวงหนี้ และการรับจำนำรถโดยผิดกฎหมาย อีกทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้กำหนดการดำเนินการกวาดล้างการกระทำความผิด โดยกำหนดเป้าหมายความผิดอาชญากรรมทั่วไป ความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และบุคคลตามหมายจับ ในห้วงวันที่ 19 – 25 มี.ค. 2567
กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดย กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก., พล.ต.ต.พุฒิเดช บุญกระพือ ผบก.ปอศ., พ.ต.อ.วิจักขณ์ ตารมย์ รอง ผบก.ปอศ., พ.ต.อ.วงศ์ปกรณ์ เปรมกุลนันท์ รอง ผบก.ปอศ., พ.ต.อ.เมฆพิศาล ศรีภิรมย์ ผกก.5 บก.ปอศ. ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.5 บก.ปอศ. ทำการสืบสวนสอบสวน แสวงหา และรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบทุกประเภท
เจ้าหน้าที่ชุดตรวจค้น นำโดย พ.ต.ต.สุทธิพงษ์ มอญรัตน์, พ.ต.ต.สุทธิพงษ์ จันทพันธ์ สว.กก.5 บก.ปอศ., ร.ต.อ.บัญชา ช่วยรอดหมด พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.5 บก.ปอศ. ได้ร่วมกันเปิดปฏิบัติการปูพรมปราบปรามเงินกู้นอกระบบ รวบผู้กระทำผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำนวน 3 จุด สามารถจับกุมผู้ต้องหาได้จำนวน 5 ราย รายละเอียดมีดังนี้
การตรวจค้นจับกุมจุดที่ 1 “บุกค้นห้องพักนายทุนเงินกู้นอกระบบย่านหลักสี่ ปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยโหด รับจำนำรถจักรยานยนต์ เรียกดอกร้อยละ 120 ต่อปี ไม่ลดต้นไม่ลดดอก” เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ดำเนินการจับกุม นายชินภพ (ขอสงวนนามสกุล) อายุ 46 ปี โดยกล่าวหากระทำผิดฐาน “ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคลโดยไม่ได้รับอนุญาต และเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด” สถานที่ตรวจค้น บริเวณห้องพัก แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร วันที่ตรวจค้น วันที่ 21 มีนาคม 2567 เวลาประมาณ 06.10 น.
พฤติการณ์ ด้วยเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2567 น.ส.บี (นามสมมุติ) ผู้กล่าวหาได้มาร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน กก.5 บก.ปอศ. โดยให้การว่า นายชินภพฯ ได้ปล่อยเงินกู้ให้กับ น.ส.บี โดยเสนอคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 10 ต่อเดือน และคิดดอกลอย คือ ไม่มีการตัดเงินต้น จนกว่าจะนำเงินต้นมาปิดชำระยอด ส่วนการส่งดอกรายเดือนเป็นการส่งดอกเบี้ยอย่างเดียว ไม่มีการตัดเงินต้นแต่อย่างใด และเมื่อชำระดอกเบี้ยไม่ตรงกำหนด นายชินภพฯ จะโทรศัพท์มาทวงหนี้ในลักษณะข่มขู่ อ้างว่าจะมาทำร้ายร่างกายถึงที่บ้าน และมีการบอกว่าจะส่งลูกน้อง 2 คนไปทวงถามถึงที่บ้าน และที่ทำงาน ทำให้ น.ส.บี (นามสมมุติ) เกิดความหวาดกลัว จึงมาร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน กก.5 บก.ปอศ. ให้ดำเนินคดีกับ นายชินภพฯ
จนกระทั่งวันที่ 21 มีนาคม 2567 เจ้าหน้าตำรวจ กก.5 บก.ปอศ. ได้นำหมายค้นของศาลอาญา เข้าทำการตรวจค้นห้องพักย่านแขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร พบนายชินภพฯ พักอาศัยอยู่ภายในห้องพักหลังดังกล่าว จึงแสดงหมายค้น และทำการตรวจค้น ผลการตรวจค้น พบสมุดบัญชีธนาคาร 5 เล่ม, สัญญาเงินกู้ พร้อมสำเนาบัตรประชาชนของลูกหนี้ จำนวน 2 ชุด, โทรศัพท์มือถือ จำนวน 2 เครื่อง, บัตรอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 20 ใบ, หนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุด จำนวน 4 ฉบับ, สมุดคู่มือจดทะเบียนรถ จำนวน 5 เล่ม
โดยนายชินภพฯ ให้การว่ารับปล่อยเงินกู้นอกระบบให้กับลูกหนี้ทั่วไปในอัตราร้อยละ 10 ต่อเดือน หรือร้อยละ 120 ต่อปี โดยคิดอัตราดอกเบี้ยแบบดอกลอย คือให้ลูกหนี้ชำระเงินต้นไปเรื่อยๆ จนกว่าลูกหนี้จะมีเงินต้น พร้อมดอกเบี้ยมาชำระในคราวเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีการตรวจสอบพบว่านายชินภพฯ มีการรับจำนำรถจักรยานยนต์ แล้วนำไปจอดไว้บริเวณหน้าห้องพัก กว่า 10 คัน อีกด้วย เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดตรวจค้น จึงได้ตรวจยึดไว้เพื่อตรวจสอบว่ามีผู้เสียหายรายอื่นๆ หรือไม่ ทั้งนี้ทางเจ้าหน้าที่จึงได้เเจ้งข้อกล่าวหาและนำตัว นายชินภพฯ ส่งพนักงานสอบสวน กก.5 บก.ปอศ. เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
การตรวจค้นจับกุมจุดที่ 2 “บุกตรวจค้นจับกุมแก๊งหมวกกันน๊อคดอกเบี้ยโหด โปรยใบปลิวเกลื่อนเมือง สร้างความเดือนร้อนต่อประชาชน ย่านนวมินทร์” เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ดำเนินการจับกุม 2 ผู้ต้องหา คือ
1. นายพิเชษฐ์ (สงวนนามสกุล) อายุ 25 ปี
2. นายธีรภัทร (สงวนนามสกุล) อายุ 19 ปี
โดยกล่าวหากระทำผิดฐาน “ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคลโดยไม่ได้รับอนุญาต และเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด”
สถานที่ตรวจค้น บริเวณบ้านพักย่านนวมินทร์ แขวงนวลจันทร์ เขตบึงกุ่ม กรุงเทพมหานคร
วันที่ตรวจค้น วันที่ 21 มีนาคม 2567 เวลาประมาณ 06.15 น.
พฤติการณ์ ด้วยเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 นายเอ (นามสมมุติ) ได้แจ้งเบาะแสว่ามีกลุ่มบุคคลมีพฤติการณ์ ปล่อยเงินกู้นอกระบบ ร้อยละ 40 ต่อ 28 วัน คิดเป็นอัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 520 ต่อปี โดยหากลูกหนี้ชำระหนี้ไม่ตรงกำหนด กลุ่มเจ้าหนี้จะมีพฤติการณ์ทวงหนี้ในลักษณะข่มขู่ว่าจะทำร้ายร่างกาย
ต่อมาเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวน ได้ทำการสืบสวนจนทราบว่า กลุ่มผู้กระทำความผิด มีการแบ่งหน้าที่กันทำเป็นกระบวนการ คือ 1. หน้าที่ในการหาลูกค้า โดยมีวิธีโปรยนามบัตรเงินกู้ตามหน้าบ้าน และสถานที่สาธารณะในเวลากลางคืน, 2. หน้าที่คัดกรองลูกหนี้ โดยเมื่อได้รับการติดต่อจากลูกหนี้แล้ว จะทำการยืนยันตัวบุคคลลูกหนี้ ด้วยการไปดูสถานที่ที่ลูกหนี้ประกอบอาชีพอยู่และที่พัก, 3. หน้าฝ่ายอนุมัติและทำสัญญา ทำหน้าที่พิจารณาว่าจะปล่อยกู้ให้กับลูกหนี้รายใดบ้าง พร้อมกับทำเอกสารสัญญาเงินกู้กับลูกหนี้, 4. ฝ่ายติดตามทวงถามหนี้ ทำหน้าที่ตามเก็บเงินกับลูกหนี้ในทุกวัน โดยการปล่อยเงินกู้จะมีทั้งคิดอัตราดอกเบี้ยแบบดอกลอยคือ ไม่มีการตัดเงินต้น จนกว่าจะนำเงินต้นมาปิดชำระยอด ส่วนการส่งดอกรายเดือนเป็นการส่งดอกเบี้ยอย่างเดียว ไม่มีการตัดเงินต้นแต่อย่างใด อีกทั้งในการทวงหนี้จะใช้ชายฉกรรจ์ จำนวน 2 – 3 คน ขับขี่รถจักรยานยนต์ ไปทวงถามหนี้โดยยืนกดดันและข่มขู่ลูกหนี้ให้ชำระดอกเบี้ยเงินกู้ ทำให้ลูกหนี้หวาดกลัวว่าจะถูกทำร้ายร่างกาย จนจำยอมชำระดอกเบี้ยเงินกู้ ซึ่งสมาชิกในขบวนการมีนายพิเชษฐ์ฯ และนายธีรภัทรฯ เป็นผู้ร่วมขบวนการ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้รวบรวมพยานหลักฐาน ขอศาลออกหมายค้นที่บ้านพักของนายพิเชษฐ์ฯ และนายธีรภัทรฯ
จนกระทั่งวันที่ 21 มีนาคม 2567 เจ้าหน้าตำรวจ กก.5 บก.ปอศ. ได้นำหมายค้นของศาลอาญาเข้าทำการตรวจค้นบ้านพักย่านถนนนวมินทร์ แขวงนวลจันทร์ เขตบึงกุ่ม กรุงเทพมหานคร พบนายพิเชษฐ์ฯ และนายธีรภัทรฯ แสดงตนเป็นผู้อาศัยอยู่ภายในบ้านหลังดังกล่าว เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงแสดงหมายค้น และทำการตรวจค้น ผลการตรวจค้นพบ นามบัตรโฆษณาเงินกู้กว่า 10,000 ใบ, สมุดบัญชีธนาคาร จำนวน 2 เล่ม, สัญญาเงินกู้พร้อมสำเนาบัตรประชาชนของลูกหนี้หลายรายการ, โทรศัพท์มือ จำนวน 1 เครื่อง, อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ จำนวน 1 เครื่อง และเอกสารอื่นๆ ซึ่งขณะตรวจค้นนายพิเชษฐ์ฯ และนายธีรภัทรฯ ให้การว่ารับพวกตนปล่อยเงินกู้นอกระบบให้กับลูกหนี้ทั่วไป เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดตรวจค้นจึงได้ตรวจยึดไว้ประกอบการดำเนินคดี และเเจ้งข้อกล่าวหา นำตัวผู้ต้องหาทั้งสองส่งพนักงานสอบสวน กก.5 บก.ปอศ. เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
การตรวจค้นจับกุมจุดที่ 3 “บุกรวบนายทุนเงินกู้ปล่อยกู้ดอกเบี้ยนอกระบบขาโหด ทวงหนี้ไม่จบ อัดลูกหนี้ซี่โครงหัก” เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ดำเนินการจับกุมผู้ต้องหา 2 ราย คือ
3. นายฉัตรมงคล (สงวนนามสกุล) อายุ 41 ปี บุคคลตามหมายจับของศาลอาญาที่ 1135/2567 ลง วันที่ 18 มีนาคม 2567
4. นางน้ำฝน (สงวนนามสกุล) อายุ 43 ปี บุคคลตามหมายจับของศาลอาญาที่ 113๖/2567 ลงวันที่ 18 มีนาคม 2567
ในความผิดฐาน “ร่วมกันประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลโดยไม่ได้รับอนุญาต, ร่วมกันเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด, ร่วมกันกระทำการทวงถามหนี้ในลักษณะข่มขู่ การใช้ความรุนแรง หรือกระทำอื่นใดที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกาย ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของลูกหนี้หรือผู้อื่น”โดยกล่าวหากระทำผิดฐาน “ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคลโดยไม่ได้รับอนุญาต และเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด”
สถานที่ตรวจค้นจับกุม ต.ศาลาลอย อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา วันที่ตรวจค้น วันที่ 20 มีนาคม 2567 เวลาประมาณ 06.30 น. ตามหมายค้นของศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ 104/2567 ลงวันที่ 19 มีนาคม 2567
พฤติการณ์ ด้วยเมื่อเดือน ก.พ. 2567 นางเอ (นามสมมุติ) ได้แจ้งเบาะแสต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.5 บก.ปอศ. ว่ามีกลุ่มบุคคลมีพฤติการณ์ปล่อยเงินกู้ผู้นอกระบบ ร้อยละ 20 ต่อเดือน คิดเป็นอัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 240 ต่อปี ซึ่งเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด ซึ่งเมื่อทางผู้เสียหายเริ่มผ่อนชำระดอกเบี้ยไม่ตรงกำหนด และไม่ครบจำนวน เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยสูง กลุ่มผู้กระทำความผิดจะส่งข้อความทวงหนี้ทางแอปพลิเคชันไลน์ นอกจากนี้ยังมีการมาทวงหนี้ในที่สาธารณะ โดยร่วมกันตะโกนด่า ก่อนรุมทำร้ายร่างกายอย่างหนัก ทำให้ผู้เสียหายล้มกระแทกของโต๊ะ ได้รับบาดเจ็บซี่โครงหัก ผู้เสียหายจึงได้เข้าร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน กก.5 บก.ปอศ. เพื่อดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ต้องหาตามกฎหมาย
ต่อมาพนักงานสอบสวน กก.5 บก.ปอศ. ได้ขออนุมัติหมายจับต่อศาลอาญาเพื่อจับกุมผู้ต้องหาทั้ง 2 ราย ตามหมายจับดังกล่าวข้างต้น และภายหลังทางเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนได้ทำการสืบสวนจนทราบว่ากลุ่มผู้ต้องหาหนีกบดานอยู่ที่ พื้นที่ ต.ศาลาลอย อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา เจ้าหน้าที่จึงลงพื้นที่จับกุม ผู้ต้องหาทั้ง 2 ราย นำส่งพนักงานสอบสวน กก.5 บก.ปอศ. ดำเนินคดีตามกฎหมาย
ผลการตรวจค้นจับกุมทั้ง 3 จุด พบเงินหมุนเวียน และทรัพย์ที่ตรวจยึดเพื่อตรวจสอบ จำนวน 8 รายการ รวมมูลค่ากว่า 7 ล้านบาท ดังนี้
1. สมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร 7 เล่ม
2. สัญญาเงินกู้ พร้อมสำเนาบัตรประชาชนของลูกหนี้ จำนวน 900 ฉบับ
3. โทรศัพท์มือถือ จำนวน 3 เครื่อง
4. บัตรอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 20 ใบ
5. นามบัตรโฆษณาเงินกู้กว่า 10,000 ใบ
6. สมุดคู่มือจดทะเบียนรถ จำนวน 5 เล่ม
7. คอมพิวเตอร์ จำนวน 1 เครื่อง
8. หนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุด จำนวน 4 ฉบับ
ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ขอฝากเตือนภัยถึงประชาชนที่ต้องการกู้เงินจากแหล่งเงินทุนที่ถูกต้องตามกฎหมาย สามารถตรวจสอบใบอนุญาตการปล่อยสินเชื่อได้ที่ช่องทาง ดังนี้
ธนาคารแห่งประเทศไทย เว็บไซต์ https://app.bot.or.th/BotLicenseCheck
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เว็บไซต์ http://www.1359.go.th/picodoc/comp.php